โดยความรับผิดชอบนี้เป็นส่วนหนึ่งในปฏิบัติการระหว่างประเทศ รวมถึงสหรัฐ เพื่อเป็นหลักประกันว่า มาตรการคว่ำบาตรต่อรัฐบาลเปียงยางที่บัญญัติโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ยังคงได้รับการยึดมั่นปฏิบัติตามจากทุกฝ่าย

เจ้าหน้าที่นายหนึ่งซึ่งเปิดเผยชื่อได้เพียง “กีโยม” เล่าว่า ก่อนออกปฏิบัติการ ยูเอ็นจะส่งรายชื่อของเรือบรรทุกสินค้า “ซึ่งมีพฤติกรรมน่าสงสัย” พร้อมกำหนดการและเส้นทางเดินเรือของเรือเหล่านั้น แล้วจึงเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป คือการจัดทำแผนการบิน

แม้บนเครื่องบินลาดตระเวนจะประกอบด้วยอุปกรณ์ทันสมัย ที่รวมถึงระบบติดตามสัญญาณการเดินเรือ แต่เจ้าหน้าที่กีโยมและทีมงานบนเที่ยวบินให้ความเห็นไปในทางเดียวกัน ว่า “การสังเกตอย่างละเอียดจากสายตาของตัวเอง” ยังคงเป็นเครื่องมือดีที่สุดสำหรับงานนี้ โดยบนเครื่องบินแต่ละเที่ยวจะมีเจ้าหน้าที่ 4 นาย แบ่งกันนั่งคนละฝั่งของหน้าต่างเครื่องบิน ฝั่งละ 2 นาย มีเครื่องมือหลักคือกล้องส่องทางไกล และกล้องถ่ายรูป

South China Morning Post

ทั้งนี้ หากพบว่าเรือลำใดที่อยู่เบื้องล่าง “มีความผิดปกติ” ระบบเตือนภัยเฉพาะทางที่ติดตั้งอยู่ภายในห้องปฏิบัติการจะดังขึ้น เครื่องบินเปลี่ยนเส้นทางและเริ่มลดระดับเหลือไม่ถึง 150 เมตร เพื่อเข้าใกล้เรือให้ได้มากที่สุด แต่ยังไม่ถือว่าอยู่ในระยะอันตรายตามหลักการเดินเรือและการบินสากล เจ้าหน้าที่พยายามเก็บข้อมูลเกี่ยวกับชื่อของเรือ และรูปลักษณ์ของเรือ ในเวลาเดียวกับที่ทีมงานอีกส่วนพยายามติดต่อกับลูกเรือ ผ่านการส่งสัญญาณทางคลื่นวิทยุ

ต่อจากนั้นไม่นาน เจ้าหน้าที่กีโยมและทีมงานสังเกต พบเรือบรรทุกสินค้าขนาดเล็กลำหนึ่งกำลังถ่ายน้ำมันให้กับเรือบรรทุกสินค้าอีกลำซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า จริงอยู่ที่อาจเป็นกรณีเรือประมงทั่วไปสองลำกำลังช่วยเหลือเรื่องเชื้อเพลิงให้แก่กัน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่กีโยมกล่าวว่า ต้องมีการเตือนและเก็บข้อมูลอย่างละเอียดไว้ก่อน แล้วส่งเนื้อหาทั้งหมดให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของยูเอ็น เพื่อตรวจสอบอีกครั้งอย่างละเอียด ว่ามีพฤติการณ์ของเรือลำใดละเมิดมติคว่ำบาตรหมายเลข 2375 และ 2397 ที่ว่าด้วยการห้ามจำหน่าย ถ่ายโอน โยกย้าย และสนับสนุนเชื้อเพลิงให้แก่เกาหลีเหนือหรือไม่

อนึ่ง ฝรั่งเศสเข้าร่วมภารกิจลาดตระเวนลักษณะนี้ให้แก่ยูเอ็น อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 2561 โดยมองในอีกมุมหนึ่ง รัฐบาลปารีสถือว่า ปฏิบัติการครั้งนี้น่าจะช่วยปูทางให้แก่ฝรั่งเศส ในการขยายอิทธิพลเข้าสู่ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกให้ได้มากขึ้น หลังประกาศแผนยุทธศาสตร์ในเรื่องดังกล่าว เมื่อปี 2562

แต่ไม่ว่าอย่างไร เจ้าหน้าที่กีโยมและทีมงานทุกนายมีความภูมิใจกับภารกิจครั้งนี้ ในฐานะ “เป็นหูเป็นตา” ให้กับยูเอ็น.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES