“โรตีโอ่ง” อาหารสไตล์อินเดียที่มีการอบแป้งด้วยโอ่งที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ จะมีกลิ่นหอมจากเตาถ่าน มีความกรอบนอกนุ่มใน ตัวแป้งต่างจากโรตีที่เราคุ้นเคยจากร้านอาบังรถเข็นที่ใช้มาการีนทอด ราดนมข้นหวาน โรยนํ้าตาล หรือถ้ามีออพชั่นเสริมไส้อื่น ๆ ขึ้นอยู่กับว่าร้านไหนจะคิดไส้แปลก ๆ ได้มากแค่ไหน เช่นเดียวกับ โรตีโอ่ง ที่ประยุกต์ไส้ให้มีความหลากหลาย จากแป้งโรตีที่เอานาบในโอ่งสุมไฟร้อน ๆ ให้สุกหอม ซึ่งกว่าจะได้แต่ละแผ่นต้องใช้เวลาจึงปรับเป็นการอบเพื่อให้ทันกับความต้องการของลูกค้าในยุคนี้ คอลัมน์ “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลมาแนะนำ
ผู้ที่จะมาให้ข้อมูล คือ โชเฟีย อาดำ ปัจจุบันอายุ 32 ปี เจ้าของผลิตภัณฑ์ “โชเฟีย โรตีโอ่ง” ซึ่งเล่าถึงที่มาของอาชีพนี้ให้ฟังว่า เดิมทำงานเป็นพนักงานอยู่ในบริษัทผลิตอาหารสดแห่งหนึ่ง ทำอยู่ 3 ปี เกิดความเบื่อหน่ายกับงานประจำมากเพราะแทบไม่มีเวลาว่างไปทำธุระอื่นได้เลย เหนื่อยมาก ๆ แถมยังถูกหัวหน้าตำหนิจากเรื่องไม่เป็นเรื่อง เลยคิดจะลาออก ระหว่างนั้นก็มองหางานใหม่ไว้ล่วงหน้า และปรึกษากับแม่ ซึ่งได้รับคำแนะนำว่าให้ออกมาค้าขายจะดีกว่า แม้จะเหนื่อย แต่มีอิสระ และเป็นนายตัวเอง ขยันก็มีเงินใช้และมีเหลือเก็บ ถ้าขี้เกียจก็แค่เสมอตัว “แม่มีลูกหลายคน แต่สามารถเลี้ยงดูและส่งเสียลูก ๆ ได้ดี แล้วทำไมเราจะทำไม่ได้ แล้วอาชีพขายโรตีโอ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมที่แม่รับช่วงสืบต่อกันมาจากครอบครัว โดยน้าชาย ทำแป้งโรตีโอ่งสูตรตุรกี สืบทอดรุ่นสู่รุ่นขายส่งตามร้านอาหารอิสลาม จะเรียกว่า “แป้งนาน” ใช้จิ้มกินกับแกงมัสมั่น, แกงกะหรี่, แกงแพะ ฯลฯ ก็คิดว่าจะขายของแล้วต้องต่างจากเจ้าอื่น แป้งโรตีก็มีแล้ว เลยดัดแปลงไส้ให้ตรงกับความต้องการของคนยุคนี้ จนทุกอย่างลงตัวลาออกจากงานเริ่มขายที่ตลาดเช้า ปรากฏว่าขายดีมาก ขายหมดภายในเวลารวดเร็ว ทำไม่ทันกับความต้องการของลูกค้า”
โชเฟีย บอกว่า โรตีโอ่งที่ตลาดเช้าจะขายดีมาก เพราะคนออฟฟิศและคนทั่วไปจะกินโรตีโอ่งกับนํ้าชาและกาแฟ เพราะไส้ดัดแปลงจะคล้าย ๆ ไส้แฮมเบอร์เกอร์ คือ ไก่ทรงเครื่อง, เนื้อ, ทูน่า, ไส้กรอกไก่ชีส, แฮมไก่, เนื้อสเต๊ก และไข่ดาว ใส่ผักกาดหอม มะเขือเทศ แตงกวา และหอมใหญ่ ราดด้วยซอสมะเขือเทศและมายองเนส ตัวแผ่นแป้งโรตีของที่ร้านเนื้อแป้งจะละเอียด มีความหอมนุ่ม หนึบ ไร้นํ้ามัน รสชาติอร่อย ไม่เหมือนกับสูตรอินเดียที่เนื้อแข็งกระด้างและรสชาติจืด
อุปกรณ์ ที่ใช้ มี…กระทะแบนที่มีก้นเหมือนกระบะ, เตาแก๊ส, กะละมัง, เขียง, คีมสำหรับคีบ, ทัพพี, มีด, ถาด, เกรียงสำหรับแซะหรือพลิกอาหารที่เป็นชิ้น, หม้อสเตนเลส, ขวดพลาสติกสำหรับใส่ซอส และมายองเนส และเครื่องไม้เครื่องมืออื่นให้หยิบยืมเอาจากในครัว วัตถุดิบ ที่ใช้ในการปรุงไส้โรตีโอ่ง มี…เนื้อสด (ส่วนตะโพก), ไก่สด (ส่วนอกและตะโพก), ผงกะหรี่, พริกไทยดำป่น, ซอสปรุงรส, กระเทียม, หอมหัวใหญ่, นํ้ามันหอย และนมสด ส่วนผักสดที่ใช้รองจะมี ผักกาดหอม, มะเขือเทศ, แตงกวา ซอสที่ใช้ราดจะมีซอสมะเขือเทศ และมายองเนส
ขั้นตอนการทำ “โรตีโอ่ง” ไส้เนื้อผัด-ไส้ไก่ทรงเครื่อง เริ่มจากทำไส้เนื้อผัดก่อน เอาเนื้อมาล้างให้สะอาดให้หมดคาว พักสะเด็ดนํ้า หั่นตามขวางเป็นชิ้นบาง ๆ พักไว้ในภาชนะ ใส่หอมหัวใหญ่สับและกระเทียมสับลงไป ตามด้วยพริกไทยดำป่น, ซอสหอยนางรม, ซอสปรุงรส และนมสด คลุกเคล้าส่วนผสมให้เข้ากัน หมักทิ้งไว้ในตู้เย็น 2 ชั่วโมง แล้วนำออกมาผัดกับนํ้ามันพืชให้สุก ตักขึ้นใส่ในภาชนะที่มีฝาปิด
ไส้ไก่ทรงเครื่อง ขั้นตอนแรกทำเหมือนไส้เนื้อผัด แต่เครื่องปรุงจะต่างกัน ไก่ทรงเครื่องจะใส่ผงกะหรี่ ซอสปรุงรส, นํ้ามันหอย และนมสด คลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วหมักในตู้เย็น 1 ชั่วโมง แล้วจึงผัดให้สุก ตักใส่ภาชนะที่มีฝาปิด ส่วนไส้อื่น ๆ เช่น ไส้กรอกไก่ชีส, แฮมไก่ จะมาอุ่นร้อนบนเตา ส่วนไข่ดาวก็ทำบนเตาสด ๆ นำผักสดที่เตรียมไว้ทั้งหมดมาล้างนํ้าให้สะอาด และผึ่งให้สะเด็ดนํ้า ผักกาดหอมหักเป็นใบ ๆ เตรียมไว้, มะเขือเทศ ผ่าเอาเม็ดออกหั่นเป็นสี่เหลี่ยมเต๋าเตรียมไว้, แตงกวา ปอกเปลือกออก ปาดเอาไส้ออกแล้วหั่นเป็นสี่เหลี่ยมเต๋า เทซอสมะเขือเทศและมายองเนสใส่ขวดพลาสติกที่มีรูบีบเตรียมไว้
เมื่อจะเสิร์ฟหรือขาย ให้นำผักสดวางบนแผ่นโรตี เช่น ผักกาดหอม มะเขือเทศ และแตงกวา ใส่ไส้ ราดด้วยซอสมะเขือเทศและมายองเนส แล้วพับตัวแป้งให้เข้า หากัน ห่อด้วยกระดาษไขหรือกระดาษฟอยล์ทับอีกให้สวยงาม เพียงเท่านี้ก็เป็นอันเสร็จ
สำหรับราคาขาย “โรตีโอ่ง” เจ้านี้ ขายชุดละ 45 บาท (ยกเว้นไส้เนื้อ จะขายชุดละ 55 บาท)
สนใจเทรนด์อาหารอินเดียสไตล์ไทย “โรตีโอ่ง” ก็ลองไปซื้อหามาลองชิมดู เจ้านี้จะออกร้านขายตามงานต่าง ๆ และตลาดนัดโรงพยาบาลต่าง ๆ เช่น อาคารเฉลิมเกียรติ, โรงงานยาสูบ, รพ.ตำรวจ, รพ.พระมงกุฎ หรือต้องการติดต่อไปออกงานนอกสถานที่ หรือสั่งไปใช้ในงานต่าง ๆ ติดต่อ โชเฟีย อาดำ เจ้าของกรณีศึกษา “ช่องทางทำกิน” ได้ที่โทร. 08-9667-2821, 09-1029-9180, Line ID : 0910299180-nuna99180.
เชาวลี ชุมขำ : เรื่อง