จากประกาศดังกล่าว ทำให้สหราชอาณาจักร หรือ ยูเค กลายเป็นประเทศแรกในโลก ที่กำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์  ซึ่งก่อนหน้านี้มีการถกเถียงกันมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ว่าควรใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อการนี้หรือไม่

แม้ว่าบุหรี่ไฟฟ้ายังคงมีความเสี่ยง แต่ก็มีอันตรายน้อยกว่าการสูบบุหรี่ทั่วไป เพราะไม่ได้ผลิตน้ำมันดิน หรือก่อให้เกิดคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งถือเป็น 2 องค์ประกอบที่อันตรายที่สุดในควันบุหรี่ โดยของเหลวที่ใช้ในบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งถูกทำให้ร้อนขึ้นเพื่อสูดดม มีสารเคมีบางอย่างที่อาจเป็นอันตราย และพบได้ในควันบุหรี่ แต่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามาก เมื่อเทียบกับบุหรี่ทั่วไป    

อย่างไรก็ตาม บุหรี่ไฟฟ้าที่ได้รับอนุญาตทางการแพทย์ จะต้องผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยอย่างเข้มงวด มากกว่าการขายในเชิงพาณิชย์ ในยูเค บุหรี่ไฟฟ้าเป็นตัวช่วยที่นิยมใช้กันมากที่สุด ในกลุ่มผู้ที่พยายามเลิกสูบบุหรี่ โดยผู้สูบบุหรี่มากกว่า 1 ใน 4 หันมาใช้บุหรี่ไฟฟ้า แทนการใช้ผลิตภัณฑ์บำบัดทดแทนนิโคติน เช่น แผ่นแปะ หรือหมากฝรั่ง แต่การสั่งจ่ายบุหรี่ไฟฟ้า ยังคงใช้ในโครงการนำร่องเท่านั้น ยังไม่มีการสั่งตามใบสั่งแพทย์

ตั้งแต่ปี 2560 รัฐบาลยูเคได้เริ่มส่งเสริม ให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ Stoptober โดยคาดว่าประชากรในประเทศกว่า 3.6 ล้านคน ที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้า ส่วนใหญ่คือผู้ที่เคยสูบบุหรี่มาก่อน

นายซาจิด จาวิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร เผยว่า “การเปิดรับบุหรี่ไฟฟ้าที่ได้รับการอนุมัติจากเอ็นเอชเอส ถือเป็นทางเลือกที่มีมีศักยภาพ ในการจัดการกับอัตราการสูบบุหรี่ทั่วประเทศ ที่มีปัญหาการเหลื่อมล้ำอยู่ในขณะนี้”

ด้าน ศ.ปีเตอร์ ฮาเจ็ก ผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัย The Tobacco Dependence มหาวิทยาลัยควีนส์แมรี ลอนดอน กล่าวว่า “ความเคลื่อนไหวดังกล่าว เป็นการส่งข้อความเชิงบวก ว่าบุหรี่ไฟฟ้าสามารถช่วยให้ผู้คนเลิกบุหรี่ได้” อย่างไรก็ตาม เขาตั้งคำถามว่า จะมีผลตามที่ตั้งใจหรือไม่ เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการขออนุมัติ อาจเป็นอุปสรรคต่อผู้ผลิตหลายราย

“ผู้สูบบุหรี่มีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์จากบุหรี่ไฟฟ้ามากกว่า หากพวกเขาสามารถเลือกรสชาติ และผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาชอบ แทนที่จะจำกัดเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นสำหรับ NHS ที่จะใช้งบประมาณไปกับบุหรี่ไฟฟ้า ที่ผู้สูบยินดีที่จะซื้อเองอยู่แล้ว ในที่สุดแล้ว อาจจะเป็นเรื่องง่ายกว่า ถ้าเราแนะนำผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า ที่ได้รับการรับรองอยู่แล้ว” ศ.ฮาเจ็ก กล่าว

วันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศที่อนุญาตให้ผู้บริโภค สามารถเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้า แบบมีนิโคตินและนิโคตินเหลว ได้อย่างถูกกฎหมาย หากมีใบสั่งแพทย์ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีบุหรี่ไฟฟ้าแบบที่มีนิโคตินยี่ห้อใด ได้รับอนุมัติขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับการรักษาโรค (Australian Register of Therapeutic Goods: ARTG) ทำให้แพทย์จำเป็นส่งเอกสารเป็นรายบุคคล เพื่อขออนุญาตสั่งจ่ายบุหรี่ไฟฟ้า

และเมื่อช่วงกลางเดือน ต.ค. องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา อนุญาตให้บุหรี่ไฟฟ้ายี่ห้อหนึ่ง ขายในประเทศได้อย่างเป็นทางการตัวแรก หลังจากพิจารณาแล้วว่า ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการช่วยให้ผู้สูบบุหรี่เลิกบุหรี่ได้ มีมากกว่าความเสี่ยงที่เด็กจะมาใช้บุหรี่ไฟฟ้า

สำหรับประเทศไทย บุหรี่ไฟฟ้ายังถือเป็นเรื่องใหม่ และยังคงมีข้อถกเถียงกันอย่างมาก เกี่ยวกับข้อดีข้อเสียของการใช้บุหรี่ไฟฟ้า และความเป็นไปได้ในการเป็นเครื่องมือ สำหรับช่วยเลิกบุหรี่ เนื่องจากยังมีข้อมูลระบุว่า ผู้สูบบุหรี่ที่เปลี่ยนมาใช้บุหรี่ไฟฟ้า ยังคงใช้บุหรี่ไฟฟ้าต่อไป เพราะไม่สามารถหยุดการใช้นิโคตินได้ จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาอย่างถี่ถ้วนต่อไป

การกำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ อาจจะเป็นอีกหนึ่งแนวทางสำหรับประเทศไทย ที่จะใช้ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า หลังจากที่ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พยายามตั้งคณะทำงาน เพื่อศึกษาผลักดันให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES