7 พ.ย. 2564 เวลา 15.18 น. เป็นห้วงเวลาที่ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร หรือ อ.โกร่ง ได้อำลาจากโลกนี้ไปอย่างสงบด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ณ รพ.พระมงกุฎเกล้า หลังจากรักษาตัว วิ่งเข้า ๆออก ๆ มานานเกือบปี คำพูดสุดท้ายที่โทรฯ คุยกับอาจารย์ไม่กี่วันก่อนหน้า นอกจากเรื่องราวบ้านเมืองและเรื่องทั่วไปแล้ว คือ การบอก อ.โกร่งว่า “เสียงพูดอาจารย์วันนี้ดูสดใส แข็งแรงดีจัง” โดยมีเสียงจากปลายสายมาว่า “ก็ไม่รู้จะอยู่ได้อีกนานแค่ไหน เมื่อไหร่ ก็เมื่อนั้นนะ” และที่สุด อ.โกร่ง ก็จากไปจริง ๆ ตามหลักแห่งธรรม “สังสารวัฏ” การ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ของทุกชีวิต

มีเรื่องอยากเล่ามากมาย แต่พื้นที่ตรงนี้ก็ทำได้แค่เศษเสี้ยวอันน้อยนิด อ.โกร่งเป็นที่กล่าวขานถึงก็เพราะผลงานที่ฝากไว้ในแผ่นดิน นับเป็นโชคดีที่เราเป็นนักข่าวประจำทำเนียบฯ อันเป็นช่วงที่ อ.โกร่งได้มาเป็น “กุนซือ” คนสำคัญด้านเศรษฐกิจของ “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อีกนายกรัฐมนตรีผู้ยิ่งใหญ่ แม้เป็นยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ รธน.กำหนดว่า นายกฯ ไม่ต้องเป็น ส.ส. แต่ “ป๋าเปรม” ก็มีนักวิชาการ “แทคโนแครต” ผู้มากความรู้ความสามารถมาเป็นทีมที่ปรึกษาคับคั่ง ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ ตลอดช่วง 8 ปี 5 เดือนที่ป๋าเป็นนายกฯ เป็นยุคที่ไทย “โชติช่วงชัชวาล” มีโครงการ “อิสเทิร์นซีบอร์ด” ที่ได้ลงหลักปักฐานอุตสาหกรรมพลังงานจนแข็งแกร่งมาถึงทุกวันนี้

อย่างที่รู้กันภายหลัง ยุค “ป๋าเปรม” ต้องลดค่าเงินบาทถึง 2 ครั้งคือปี 2524 และ 2527 ซึ่งจากค่าเงินบาทสูงเกินจริง ยุคนั้นสื่อที่เสนอข่าวด้านเศรษฐกิจเฉพาะแทบไม่มี อย่าว่าแต่นักข่าวทำเนียบฯ ที่เป็นนักข่าวการเมืองเลย ทีมแทคโนแครตของป๋า นักข่าวจึงไม่สนใจ กระทั่งไทยต้องลดค่าเงินบาท จากที่ตรึงไว้กับค่าดอลลาร์ที่ 23 บาท มาเป็น 25 บาท นักข่าวถามป๋าว่า รู้เรื่องลดค่าเงินบาทหรือไม่ ป๋าบอก ไม่รู้ ไปถามโกร่งนะลูก เท่านั้น กลายเป็นข่าวพาดหัว ป๋าเปรม ไม่รู้เรื่องลดค่าเงินบาท ส่งผลให้ชื่อ อ.โกร่งดังชั่วข้ามคืนและกลายเป็น “ครู” นอกห้องเรียนของพวกเรานับแต่นั้น ความพิเศษของ อ.โกร่ง คือ การอธิบายเรื่องยากให้ง่าย ไม่ต้องแปลไทยเป็นไทย ไม่ต้องปีนบันไดฟังศัพท์เทคนิคมากมาย “ต้องให้นักข่าวเข้าใจก่อน จะได้ไม่เขียนมั่ว ๆ” อ.โกร่งบอก การลดค่าเงินบาทอีกครั้ง นักข่าวเห็น อ.โกร่งมาทำเนียบบ่อย ๆ รู้ต้องมีอะไรแน่ ชวนกันไปดักพบถึงบ้าน แต่ถูกปิดประตูใส่ “ไม่มีอะไร จะมาทำไม” จบข่าว

อ.โกร่งมาอธิบายภายหลังว่า สิ่งนี้เรียก “white lie” การโกหกที่ไม่บาป มี 2 เรื่อง ต้องทำแบบลับสุดยอดคือ การปรับอัตราแลกเปลี่ยน (ลดค่าเงินบาท) และ การปรับอัตราดอกเบี้ย เพราะจะมีคนได้คนเสียมากมาย จึงโกหกได้ ลดก็บอกไม่ลด บันทึกอีกนิดว่า ตอนลดค่าเงินบาทครั้งแรกนั้น ผู้ว่าการแบงก์ชาติไม่เห็นด้วย จนต้องมีการเปลี่ยนตัวในเวลาถัดมา เรื่องนี้ อ.โกร่ง พูดถึงบทบาทแบงก์ชาติว่า แบงก์ชาติต้องมีอิสระ แต่ความเป็นอิสระนี้ไม่ใช่รัฐอิสระตามใจชอบ เพราะคนที่ต้องรับผิดชอบต่อสภา ต่อประชาชนคือ รบ. หาก รบ.ตัดสินใจพลาด ทำเศรษฐกิจฉิบหาย รบ.ก็ถูกขับไล่เอง ผู้ว่าการแบงก์ชาติจึงทำได้ 2 อย่าง 1.ไม่มีหน้าที่ต่อต้านนโยบายของ รบ. 2.หากไม่เห็นด้วย ผู้ว่าการแบงก์ชาติก็ลาออก เพื่อแสดงจุดยืน ปัจจัยที่ต้องลดค่าเงินบาทนั้น มีการเปิดเผยไว้มากมาย แต่นั่นคือเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว เศรษฐกิจยุคป๋าที่โตเป็นเลข 2 หลัก บอกว่า ป๋าตัดสินใจถูกต้องที่ลดค่าเงินบาท 2 ครั้ง

อย่างที่บอก ที่เขียนนี้แค่เศษเสี้ยวอันน้อยนิด เพราะ อ.โกร่งไม่แค่เก่งเรื่องเศรษฐศาสตร์ ทั้ง มหภาคและจุลภาค จนกลายเป็นกุนซือใน 7 รบ. แต่ด้วยความเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ซื่อตรงต่อตัวเองและวิชาชีพ ปากจัด กล้าค้าน กล้าหนุน โนแคร์ หากจุดยืนถูกต้อง ยังได้เป็นทั้งรองนายกฯ และ รมว.คลัง มาแล้ว อ.โกร่งยังรอบรู้ รู้ลึก หลากหลายเรื่องมาก ทำนายดวงเมืองก็ถูกต้องแม่นยำ ชนิดต้องแปะข้างฝาไว้ เพราะเป็นลูกศิษย์ .เทพย์ สาริกบุตร ปรมาจารย์ด้านโหราศาสตร์ไทย สามารถไล่สาแหรกตระกูลใหญ่ ๆ ได้ชนิด พวกเราอ้าปากค้าง เป็นนายกสมาคมมิตรภาพไทยลาว ยาวนาน จนสุขภาพไม่เอื้อ เป็น อ.โกร่ง ที่เคารพรักของ สปป.ลาว ในฐานะที่ปรึกษาพิเศษ เป็นนักเขียน เป็นเซียนพระ เป็นเซียนหุ้น เป็นเสรีชน ที่รักประชา ธิปไตย จวบจนลาจากโลกนี้

เสียงมโหรีปี่พาทย์ที่บรรเลงอยู่หลังฉากกั้นสีน้ำเงิน โดยท่าน ดร.อาสา สารสิน อดีตราชเลขาธิการ ผู้เป็นที่เคารพรักอย่างมากของ อ.โกร่ง ในพิธีอัญเชิญน้ำหลวงอาบศพพระราชทาน มองดูขรึม สง่างาม และสมเกียรติยิ่ง ท่ามกลางความอาลัยรักของผู้มาร่วมงานทุกวงการในวันนั้น

อีกซักกี่สิบปีกว่าที่เราถึงจะมีนักเศรษฐศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้เป็น “นักเศรษฐศาสตร์ของแผ่นดิน” อย่างเช่น คนชื่อ อ.โกร่ง ดร.วีรพงษ์ รามางกูร อีกก็ไม่รู้ ด้วยความอาลัยและเคารพรักอย่างที่สุด.

——————
ดาวประกายพรึก