ล่าสุดจากรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ โดยอ้างการเปิดเผยของแหล่งข่าว 8 ราย ที่ทราบเรื่องดี รัฐบาลทหารเมียนมาที่สั่งห้ามการติดตี่อสื่อสารผ่านเฟซบุ๊ก ที่เพิ่งเปลี่ยนชื่อเป็น เมตา ตั้งแต่หลังยึดอำนาจ ได้ตั้งทีมงาน “สงครามข้อมูลข่าวสาร” ขึ้นมา เพื่อสู้กับฝ่ายต่อต้าน ผ่านช่องทางสื่อสังคม โดยระดมทหารคนรุ่นใหม่ที่มีความถนัดทางด้านอินเทอร์เน็ต “หลายพันนาย” เข้าร่วมปฏิบัติการ

ปฏิบัติการสารสนเทศ หรือที่เรียกกันทั่วไป ตามคำย่อภาษาอังกฤษว่า ไอโอ (Information Operation) เป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการโฆษณาชวนเชื่อของกองทัพเมียนมา เพื่อสื่อสารข้อมูลของรัฐบาลไปยังประชาชน รวมทั้งตรวจสอบ ตอบโต้ และทำลาย การเผยแพร่ข้อมูลของฝ่ายต่อต้าน

เดือน ก.ย.ที่ผ่านมา โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมาแถลงผ่านสถานีโทรทัศน์ เมียวดีทีวี ของกองทัพ กล่าวหาสื่อหลายสำนัก ร่วมกับกลุ่มนักเคลื่อนไหวฝ่ายต่อต้านรัฐ เผยแพร่ข่าวปลอมทางสื่อสังคมเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศ

ร.อ.นยี ทูต๊ะ นายทหารกองทัพเมียนมา ซึ่งปัจจุบันแปรพักตร์เข้าร่วมกับกบฏชนกลุ่มน้อย แต่รายงานไม่ระบุว่ากลุ่มไหน เผยว่า ทหารทีมงานไอโอได้รับคำสั่งให้สร้างบัญชีปลอม เพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่กองทัพป้อนให้ ทีมงานหลายส่วนมีหน้าที่ติดตามตรวจสอบ การเผยแพร่ข้อมูลของฝ่ายต่อต้านทางออนไลน์

ร.อ.นยี วัย 31 ปี เคยเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานไอโอกองทัพ จนกระทั่งแปรพักตร์เมื่อปลายเดือน ก.พ. และเขาเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่เพียงไม่กี่คนที่มีหน้าที่เขียนคำแถลง หรือสุนทรพจน์ สำหรับ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้นำสูงสุดของประเทศ ใช้อ่านในงานต่าง ๆ

ร.อ.นยี และ ร.อ.ลิน ฮเต อ่อง ที่แปรพักตร์เข้าร่วมกับกบฏ ในเดือน เม.ย. เป็นอดีตทหารกองทัพเมียนมา 2 ใน 8 นายที่อยู่ในทีมไอโอของกองทัพ และกล้าเปิดเผยตัวตน

กองทัพเมียนมาเปิดปฏิบัติการไอโอทางออนไลน์ ควบคู่กับการปราบปรามการประท้วงบนท้องถนน 9 เดือนหลังจากขับไล่รัฐบาลพลเรือน ที่นำโดยนางออง ซาน ซูจี โดยข้อกล่าวหาพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของเธอ โกงการเลือกตั้งเดือน พ.ย. 2563 แม้ว่าหลายองค์กรสังเกตการณ์เลือกตั้งนานาชาติ จะสรุปรายงานเผยแพร่ในเดือน พ.ค.ปีนี้ว่า การเลือกตั้งผ่านมาตรฐานความโปร่งใสยุติธรรม

จากการตรวจสอบของสำนักข่าวรอยเตอร์ ข้อความที่โพสต์ทางสื่อสังคมหลายพันรายการในปี 2564 พบว่า มีทหารประมาณ 200 นาย ใช้บัญชีส่วนตัวโพสต์ลงในหลายแพลตฟอร์ม รวมถึง เฟซบุ๊ก ยูทูบ ติ๊กต๊อก ทวิตเตอร์ และเทเลแกรม เกือบทั้งหมดเป็นการโพสต์ข้อความ หรือคลิปวิดีโอ กล่าวหาอดีตรัฐบาลของซูจีโกงเลือกตั้ง และประณามกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านกองทัพ เป็นพวกขายชาติ ศัตรูของรัฐ และผู้ก่อการร้าย

ร.อ.ลิน ฮเต อ่อง เผยว่า ปฏิบัติการไอโอของรัฐบาลทหารเมียนมา มีศูนย์สั่งการอยู่ในกรุงเนปิดอว์ โดยหน่วยผลิตข้อมูลข่าวสารและประชาสัมพันธ์ หรือที่เรียกกันในชื่อ คา คา คอม (Ka Ka Com) ของกองทัพ มีทหารเชี่ยวชาญคอมพิวเตอร์ ประจำการอยู่หลายร้อย คา คา คอม จะส่งข้อมูลบุคคลให้หน่วยข่าวกรองของกองทัพ หากเชื่อว่าบุคคลนั้นสมควรถูกจับกุม หรือเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหว

หน่วยกลาง คา คา คอม ในเนปิดอว์ ทำงานประสานกับทีมไอโอขนาดเล็กกว่า หลายสิบทีม ที่ส่งไปประจำการอยู่ตามกองบัญชาการกองทัพภาค หรือค่ายทหารทั่วประเทศ

กองทัพเมียนมาสั่งห้ามใช้เฟซบุ๊ก ตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ.หลังยึดอำนาจ แต่ประชาชนในประเทศราว 20 ล้านคน ยังสามารถใช้แพลตฟอร์มนี้ได้ในเดือน ก.ค. จากข้อมูลของบริษัทเฟซบุ๊ก ลดลงจากประมาณ 28 ล้านคนในเดือน ม.ค. โดยผู้ใช้บริการจำนวนมาก หลีกเลี่ยงคำสั่งห้าม ด้วยการใช้เครือข่ายส่วนตัวเสมือน หรือ วีพีเอ็น (virtual private networks (VPN).

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS