สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนดอม เฮาส์ แห่งนครนิวยอร์ก ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันเมื่อปี 2556 ระหว่างเพนกวิน กรุ๊ป กับแรนดอม เฮาส์ จนกลายเป็นสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่สุดของอเมริกาจนถึงปัจจุบัน แต่เจ้าของผู้ถือหุ้นใหญ่คือ บริษัทเบอร์เทลส์มานน์ แห่งเยอรมนี ต้องการซื้อสำนักพิมพ์ ไซมอนด์ แอนด์ ชูสเตอร์ แห่งนครนิวเยอร์ก เช่นกัน ซึ่งมีนักเขียนชื่อดังในสังกัดหลายคน เช่น สตีเฟน คิง จอห์น เออร์วิง และฮิลลารี คลินตัน อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง และอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ

จากรายงานของสำนักข่าวเอพี กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ยื่นฟ้องคดี “ป้องกันการผูกขาด” ต่อศาลแขวง ดี.ซี. (ดิสทริคท์ ออฟ โคลัมเบีย) เมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา กลายเป็นคดีการแข่งขันทางการค้าคดีใหญ่คดีแรก ในรัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน โดยระบุในเอกสารสำนวนฟ้องตอนหนึ่งว่า ข้อตกลงควบรวมกิจการนี้ จะทำให้สำนักพิมพ์เพนกวิน แรนดอม เฮาส์ “ใช้อำนาจอิทธิพลจากภายนอก กำหนดว่าหนังสือเล่มใด จะได้รับการตีพิมพ์ในอเมริกา และนักเขียนจะได้รับเงินค่าตอบแทน มากน้อยเท่าใด”

CBS New York

นายเมอร์ริค การ์แลนด์ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ กล่าวว่า หากปล่อยให้สำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ฮุบกิจการหนึ่งในคู่แข่งขนาดใหญ่สุด จะทำให้เกิดการควบคุมอุตสาหกรรมสำคัญ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน นักเขียนและผู้บริโภคในอเมริกา จะได้รับผลกระทบทางลบ จากการควบรวมที่ขัดต่อกฎแห่งการแข่งขันทางการค้านี้

นักเขียนจะได้รับเงินมัดจำค่าเขียนล่วงหน้าน้อยลง และท้ายที่สุดจะมีหนังสือผลิตออกมาน้อยลง เช่นเดียวกับความหลากหลายของผู้บริโภค

การซื้อกิจการ ไซมอน แอนด์ ชูสเตอร์ จะลดจำนวน 5 เสือ (Big Five) ที่ครองวงการสื่อสิ่งพิมพ์อเมริกา ลงเหลือ 4 สำนัก โดยอีก 3 เสือคือ ฮาร์เปอร์ คอลลินส์, แฮเชตต์ บุ๊ค กรุ๊ป และแม็คมิลแลน

ข้อตกลงทำให้เกิดกระแสวิตกในกลุ่มนักเขียน และสำนักพิมพ์คู่แข่ง สมาคมนักเขียนอเมริกา (The Authors Guild) ออกโรงคัดค้านการควบรวม เนื่องจากจะทำให้นักเขียนได้รับเงินค่าต้นฉบับน้อยลง ขณะที่บริษัทนิวส์ คอร์ป ของมหาเศรษฐีธุรกิจสื่อ รูเพิร์ต เมอร์ด็อค ซึ่งเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ฮาร์เปอร์ คอลลินส์ และมีข่าวว่าสนใจจะซื้อกิจการ ไซมอน แอนด์ ชูสเตอร์ เช่นกัน โจมตีข้อตกลงซื้อขายอย่างรุนแรง โดยโรเบิร์ต ทอมป์สัน ซีอีโอ ของนิวส์ คอร์ป บอกว่า เบอร์เทลส์มานน์กำลังใช้เงินซื้อ เพื่อครอบงำวงการหนังสือเพียงเจ้าเดียว โดยสำนักพิมพ์ใหม่จะครองตลาดหนังสืออเมริกา เกือบครึ่งของประเทศ

ด้านนายแดเนียล เปโตรเซลลี ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากสำนักพิมพ์เพนกวิน แรนดอม เฮาส์ กล่าวว่า จะสู้คดีที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐยื่นฟ้องศาล อย่างเต็มที่ โดยเผยเพียงสั้น ๆ ว่า ข้อกล่าวหาในฟ้องของกระทรวงฯ ผิดทั้งในแง่ของกฎหมาย ข้อเท็จจริง และนโยบายสาธารณะ “ที่สำคัญคือ กระทรวงยุติธรรมไม่พิสูจน์ให้เห็น และก็ไม่กล่าวหา ว่าการควบรวมกิจการสื่อสองสำนักนี้ จะทำให้การแข่งขันลดลง ในการจำหน่ายหนังสือ”

ข้อเสนอซื้อกิจการไซมอน แอนด์ ชูสเตอร์ ของเพนกวิน แรนดอส เฮาส์ เกิดขึ้น หลังการควบรวมกิจการสื่อสิ่งพิมพ์จำนวนมาก ในระยะหลายทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงการรวมเพนกวิน และแรนดอม เฮาส์ ในปี 2556 การซื้อกิจการเพื่อควบรวมเกิดขึ้นถี่ ในช่วงไม่กี่ปีล่าสุด ขณะที่สำนักพิมพ์ต่าง ๆ พยายามจุดยืนต่อรองที่แข็งแกร่งกว่า กับบริษัทขายหนังสือรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐคือ แอมะซอน ดอท คอม (Amazon.com)

นางแมรี ราเซนแบร์เกอร์ ซีอีโอสมาคมนักเขียนอเมริกา กล่าวว่า การตัดสินใจยื่นฟ้องคดีต่อศาล ของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ถือว่าเหนือความคาดหมาย เนื่องจากมีการควบรวม และซื้อกิจการขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์สหรัฐมากมาย และสำเร็จในระยะ 2–3 ทศวรรษที่ผ่านมา ดังนั้นจึงน่าจับตา เป้าประสงค์และนโยบายของรัฐบาลไบเดนจากคดีนี้

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ไบเดนเรียกร้องให้มีการตรวจสอบ การควบรวมกิจการในประเทศ ให้เข้มงวดถี่ถ้วนมากขึ้น อันเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเพิ่มการแข่งขัน โดยได้รวมรวมทีมงานเจ้าหน้าที่ทำงานต่อต้านอำนาจผูกขาด รวมถึงการแต่งตั้งนางลินา ข่าน ผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เป็นประธานคณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลกลาง หรือ เอฟทีซี (Federal Trade Commission) และนายโจนาธาน แคนเตอร์ เป็นผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันการผูกขาดทางการค้า ของกระทรวงยุติธรรม.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES