สัปดาห์ก่อนมีข่าวฮือฮาในวงการเมือง เนื่องจาก อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวคนเล็กของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก้าวเข้ามาเป็นประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมของพรรคเพื่อไทย

ตำแหน่งของ อุ๊งอิ๊งแพทองธาร คงมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมาสู่สายตาคนไทยอย่างแน่นอน ประเภทที่ว่า “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” รุ่นพ่อบุกเบิกธุรกิจโทรศัพท์มือถือ และยิงดาว เทียม “ไทยคม” ดวงแรกของไทยขึ้นสู่วงโคจรเมื่อ 18 .. 36

ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เรามักได้ยินการพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับ Innovation หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ พูดถึงดิสรัปชั่น (Disruption) ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในโลกอนาคตมากมาย

โดยเฉพาะสิ่งที่เกี่ยวข้องรอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าความเร็วสูง รถยนต์ไฟฟ้า ไฮเปอร์ลูป (การคมนาคมขนส่งผ่านท่อสุญญากาศ) บิตคอยน์ (สกุลเงินดิจิทัล) สินทรัพย์ดิจิทัล หรือแม้แต่นวัตกรรมใหม่ ๆ เกี่ยวกับอาหารการกิน การสาธารณสุข และท่องเที่ยว ซึ่งในอเมริกาถึงขั้นมีการซื้อทัวร์ไปท่องเที่ยวในอวกาศกันอย่างสนุกสนาน

เมื่อพูดถึงการไปท่องเที่ยวในอวกาศ จึงนึกถึง ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ออกมาให้ข่าวว่าอีกไม่เกิน 7 ปี ไทยจะเป็นชาติที่ 5 ของเอเชีย ที่สามารถผลิตยานอวกาศและส่งขึ้นไปโคจรรอบดวงจันทร์ได้

ดร.เอนกย้ำว่าที่ออกมาให้ข่าวไม่ใช่เพื่อต้องการเอาหน้า คุยฟุ้ง หรือเพื่อของบประมาณ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ทำกันมานานแล้ว โดยคณะทำงานคาดว่าอีก 7 ปี จะส่งยานอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์ได้

ถามว่าถ้าต้องรออีก 7 ปี เพื่อดูผลงานสร้างยานอวกาศด้วยฝีมือคนไทยนานไปหรือไม่? ก็ต้องบอกว่านาน! แล้วจะไปดวงจันทร์เพื่อวัตถุประสงค์อะไร? แต่พอคุยไปคุยมา ดร.เอนกบอกว่าจะใช้งบประมาณเพียง 3,000 ล้านบาท เท่านั้น

นอกจากเรื่องยานอวกาศของ ดร.เอนก ยังมีเรื่องทวงถามไปยังรัฐบาล กรณีมีการอุดหนุนงบประมาณกว่า 2,805 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 29 ธ.ค.63 เป็นทุนในการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 เพื่อเพิ่มศักยภาพและต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนในประเทศ

ปัจจุบันวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 คืบหน้ากันไปถึงไหนแล้ว? เพราะยังเห็นรัฐบาลควักเงินซื้อวัคซีน บ้างก็ได้รับการบริจาคจากต่างประเทศ ประชาชนต้องจ่ายเงินเองเพื่อซื้อวัคซีนดี ๆ บ้างก็ต้องพึ่งยาฟ้าทะลายโจรกันอยู่เลย!

ไหนจะเรื่องรถไฟฟ้าความเร็วสูง 4 สาย เชื่อมกรุงเทพฯ กับภาคเหนือ-อีสาน-ตะวันออก-ใต้ ที่มีการเปิดตัวไปตั้งแต่ปี 56 จนป่านนี้ยังไม่ไปถึงไหน เนื่องจากมีปัญหาในการบริหารจัดการมากมาย และถนนลูกรังยังไม่หมดไปจากประเทศ

ขณะที่ สปป.ลาว ไม่สนใจว่าถนนลูกรังยังมีอยู่เพียบ! แต่ สปป.ลาว กำลังจะเปิดเดินรถไฟความเร็วปานกลาง 160 กม./ชม. เชื่อมลาว-จีน ในวันชาติลาว 2 ธ.ค.นี้ ซึ่งเป็นรางรถไฟขนาดมาตรฐาน กว้าง 1.435 ม. สามารถพัฒนาเป็นรถไฟความ เร็วสูง (250 กม./ชม.) ในอนาคตได้

แต่ของไทยเพิ่งไปรับบริจาคตู้รถไฟดีเซลราง อายุ 40 ปี จำนวน 17 คันมาจากญี่ปุ่น นอกจากต้องเสียเงินค่าขนย้ายแล้ว ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงช่วงล่าง (ความกว้างล้อ 1.06 ม.) เพื่อให้สามารถวิ่งบนรางรถไฟไทยที่มีขนาดกว้าง 1 ม.ได้

ดังนั้นจึงอย่าไปคาดหวังเกี่ยวกับเรื่อง Innovation–Disruption ในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา!!.

———————-
พยัคฆ์น้อย