ไม่ใช่เรื่องแปลก คดีนี้นอกจากจะมีตำรวจ-ฝ่ายปกครอง เข้าไปสืบสวนคลี่คลายคดีมาตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ย. ล่าสุด ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษ เขตพื้นที่ 9 (ศปพ.9) ดีเอสไอ และ ป.ป.ช. โดดเข้าไปร่วมตรวจสอบด้วย!!
ตามรอยเส้นทางบุกโจรกรรมรังนก
หากไล่เรียงข้อมูลย้อนหลังชนวนเหตุหนึ่งที่ทำให้กลายเป็นเรื่องแดงขึ้นมานั้น น่าจะเริ่มช่วงเดือน ส.ค. 64 หลังจากตำรวจสืบสวนภาค 9 จับกุม 2 สาวที่ไปโพสต์ “ขายรังนก” ในโลกโซเชียลแบบโจ่งครึ่ม จนทำให้ บริษัทสัมปทานฯรังนก ไปเห็นเข้าจึงแจ้งตำรวจ ติดตามจับกุม เอาผิดเบื้องต้นในข้อหา ร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งรังนก อันตนรู้ว่าได้มาโดยการฝ่าฝืนการเก็บรังนกที่มีอยู่ตามธรรมชาติบนเกาะหรือในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน โดยไม่ได้รับสัมปทานจากคณะกรรมการ (ตาม พ.ร.บ.รังนกอีแอ่นฯ)
คดีไม่ได้จบแค่เพียง 2 สาวที่นำรังนกมาโพสต์ขายเท่านั้น ตร.สืบสวนขยายผลทำให้รู้ว่า “รังนก” ทั้งหมดนำมาจากหมู่เกาะรังนกในจ.พัทลุง ทำให้บริษัทที่เพิ่งจะชนะการประมูล สัมปทานรังนกอีแอ่น หมู่เกาะสี่ เกาะห้า ต.เกาะหมากอ.ปากพะยูน จ.พัทลุง เป็นเวลา 5 ปี มูลค่า 400 ล้านบาท ต้องรีบเข้าไปสำรวจหลายถ้ำบนเกาะ นอกจากจะพบว่ารังนกถูกขโมยไปเกือบหมด อีกทั้งคนร้ายยังใช้วิธี จุดกองไฟ ใช้ควันไล่ แม่นก ซึ่งเป็นช่วงฟักไข่ จนทำให้พบหลักฐาน ซากแม่นก-ลูกนก ตายเกลื่อนถ้ำ ส่งผลให้บริษัทที่ชนะการประมูล เสียหายมหาศาล
ที่กลายเป็นประเด็นใหญ่ ยิ่งต้องให้สืบสวนขยายผลเพิ่มเติมต่อไปอีก เมื่อพบว่าทั้งบริเวณ ปากถ้ำ และ อาณาบริเวณเกาะสี่ เกาะห้า ในช่วงว่างเว้นสัมปทาน 3 เดือนจะมี เจ้าหน้าที่รัฐ หลายหน่วยงานสลับผลัดเปลี่ยนเข้าไปเฝ้าดูแลรักษาความปลอดภัยอยู่ แต่ทำไม คนร้าย จึงเข้าไปขโมยรังนกไปได้แบบมโหฬาร ?
คดีนี้ พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ รอง ผบ.ตร.(สส.) ต้องลงไปตรวจสอบด้วยตัวเองแบบเกาะติดใกล้ชิด นอกจากนี้ยังมีทีมงานไม่ว่าจะเป็น พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผบ.ตร., พล.ต.ต.ไพโรจน์ กุจิรพันธ์ ผบก.กองอุทธรณ์ (อธ.), พล.ต.ต.ตานิตย์ รามดิษฐ์ ผบก.ภ.จว.พัทลุง เข้าไปร่วมคลี่คลายคดีประสานงานกับ นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผวจ.พัทลุง นอกจากชาวบ้านที่ถูกออกหมายจับไปแล้ว 17 คน (มอบตัว 16) ส่วนใหญ่มีอาชีพเกี่ยวกับรับจ้างเก็บรังนกแทบทั้งสิ้น ยังพบว่า เจ้าหน้าที่รัฐ 4 หน่วยงาน เข้าไปเกี่ยวข้อง อยู่ในระหว่างรวบรวมหลักฐานสำคัญ วัตถุพยานต่าง ๆ รวมทั้งเส้นทางการเงิน เพื่อเร่งออกหมายจับอีกชุดใหญ่
เปิดปฐมบทตำนานรังนกเมืองไทย
ทีมข่าว 1/4 Special Report ในพื้นที่มีโอกาสพูดคุยกับแหล่งข่าวที่อยู่ในแวดวงธุรกิจการค้ารังนก ใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งที่เป็นอีกแหล่งที่มีการซื้อขายรังนกรายใหญ่ของประเทศไทย เล่าปูมหลังธุรกิจรังนก นับเป็นอีกธุรกิจที่สร้างรายได้อย่างมหาศาล ย้อนเวลากลับไปอดีตไม่ต่ำกว่า 70 ปี สมัยก่อนคนไทยน้อยนักที่จะนำ “รังนก” มาบริโภค ได้มาจากการที่นกนางแอ่นใช้ “น้ำลาย” ทำรังในถ้ำต่าง ๆ ตามเกาะแก่งน้อยใหญ่ กลางทะเลอ่าวไทย และอันดามัน กระทั่งมีกลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีนที่มีฐานะ นำรังนกมาบริโภค เห็นว่า รังนกนางแอ่นธรรมชาติ ของไทยที่เก็บมาจากในถ้ำ บนเกาะกลางทะเลภาคใต้ มีคุณภาพชั้นดี จึงเริ่มเข้ามาขออนุญาตจากภาครัฐ เพื่อเก็บรังนกส่งออกไปยังต่างประเทศ ตลาดใหญ่คือประเทศจีน
ในช่วงแรก ๆ บริษัทที่เข้ามาขออนุญาตในการเก็บรังนกแหล่งใหญ่ของภาคใต้ จ.พัทลุง ตรัง สตูล ชุมพร สุราษฎร์ธานี โดยเฉพาะใน เกาะสี่ เกาะห้า จ.พัทลุง ได้รับความเชื่อถือว่าเป็นแหล่ง รังนกคุณภาพชั้นดี อยู่ท่ามกลางธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ของทะเลสาบสงขลา แรก ๆ จะผูกขาดเพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้น กระทั่งปี 2540 เริ่มเปิดให้บริษัทต่าง ๆ ได้ยื่น ซองสัมปทาน แข่งขันกัน เพื่อเก็บเกี่ยวรังนกครั้งละ 7 ปี ตามวงเงินการสัมปทานที่กำหนด เป็นราคากลาง ตั้งแต่ 900 ล้านบาท ตามแต่ปริมาณและคุณภาพของรังนกในพื้นที่ซึ่งจะมี คณะกรรมการของจังหวัด เป็นผู้กำหนดราคากลาง ต่อมาได้มีการแก้ระเบียบใหม่ลดเวลาสัมปทานเหลือ 5 ปี ราคากลาง 500-600 ล้านบาท จึงนับเป็น รายได้ก้อนใหญ่ ของจังหวัด
เมื่อราคาสัมปทานต้องจ่ายแพง เฉลี่ยถึงปีละร้อยล้านบาท บริษัทที่ได้รับชัยชนะจากการสัมปทานเกือบทั้งหมดต้องจ้าง ทีมรักษาความปลอดภัย ดูแลคุ้มกันพื้นที่บนเกาะอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการขโมยรังนกจากบรรดา โจรสลัด ดังนั้นทีมรักษาความปลอดภัยจึงต้องเป็นมืออาชีพ เพื่อปกป้องรังนกภายในถ้ำยิ่งกว่าไข่ในหิน เนื่องจาก รังนกนางแอ่นธรรมชาติ เคยถูกเปรียบเหมือนกับ “ทองคำขาว” ในอดีตเมื่อ 10 กว่าปีก่อนนั้น ราคารังนก เกรดเอ จากภาคใต้ส่งไปประเทศจีน เคยขายได้ราคาสูงถึง กิโลกรัมละ 3 ล้านบาท ก่อนจะมาถูกบอยคอต เพราะถูกตรวจพบว่า มีสารปนเปื้อน ที่เกิดจากโรงงานผู้รับซื้อ นำรังนกมาตกแต่ง ฟอกสี ให้ได้ตามที่ตลาดต้องการเพื่อจะหวังอัพราคา สุดท้ายกลายเป็นต้องพังกระทบทั้งตลาดส่งออก
ขุมทรัพย์ล้ำค่าในถ้ำกลางท้องทะเล
แหล่งข่าว ซึ่งอยู่ในฐานะของ “พ่อค้าคนกลาง” ที่เคยรับซื้อทั้ง รังนกนางแอ่นธรรมชาติ และ รังนกนางแอ่นบ้าน เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ที่จีนห้ามนำเข้ารังนกจากไทยในครั้งนั้น ได้สร้างความเสียหายกับผู้ส่งออกเป็นอย่างมาก มีหลายบริษัทจำเป็นต้องส่งรังนกจากไทยไปที่ประเทศอินโดนีเซียแทน ก่อนจะส่งเข้าไปยังประเทศจีนในนามผู้ส่งออกชาวอินโดนีเซีย สำหรับราคารังนกถ้าเป็น รังนกขาว จากธรรมชาติยังไม่ได้ฟอกซื้อขายกันที่กิโลกรัมละ 80,000 บาทขึ้นไป ส่วน รังนกดำ ที่ยังไม่ได้ฟอก (รังนกชั้นบนสุด) ที่แม่นกออกไข่ก่อนฟักเป็นลูกนก ซึ่งจะมีเลือด มีขน มีเปลือกไข่ติดอยู่จะถูกลงมาประมาณกิโลกรัมละ 30,000 บาท ใกล้เคียงกับราคาของ รังนกบ้าน ที่มีการสร้างคอนโดฯให้นกเข้ามาอาศัยทำรัง ดัดแปลงบรรยากาศ อุณหภูมิ ให้มีลักษณะคล้าย ๆ กับถ้ำตามธรรมชาติ ราคาจะประมาณกิโลกรัมละ 30,000 บาทเช่นกัน ปัจจุบันรังนกบ้านจะมีอยู่หลายแห่ง โดยเฉพาะจังหวัดที่ติดกับทะเล ส่วนใหญ่จะป้อนขายโรงงานบริษัทผู้ผลิตรังนกขวด
แต่ระยะหลังมีกลุ่มหัวใสแต่ทำตลาดพัง เพราะนำรังนกดำ ไปเข้าโรงงานผ่านกรรมวิธีฟอกขาวตกแต่งอัพเกรดให้ได้มูลค่าเพิ่มราคาสูง บ้างก็โฆษณาสรรพคุณ รังนกดำว่าเป็นยาโป๊ชั้นดี เพราะมีเลือดนกนางแอ่นปนเปื้อนอยู่ด้วย ปัจจุบันราคารังนกส่งไปขายยังต่างประเทศ ไม่ค่อยมีใครกล้าเปิดเผยราคาจริงเท่าไรนัก ยกเว้นราคารังนกตลาดภายในประเทศ ซึ่งชมรมและสมาคมเป็นตัวกลางคอยรับซื้อ หากไม่มีปัญหาของโควิด-19 จะเปิดประมูลกันเดือนละ 1 ครั้ง แต่พอมีโควิดการประมูลทำได้น้อยลงต้องใช้วิธีพิเศษ
เมื่อรังนกนางแอ่นมีราคาเหมือนทองคำขาวก็ย่อมมีตลาดมืด รับซื้อส่วนใหญ่เป็น รังนกของร้อน แม้จะได้มาโดยไม่ถูกต้อง ผู้ขายเสี่ยงรับซื้อแต่กดราคาแล้วหาทางออกนำไปขายได้กำไรมหาศาล นั่นคือที่มาของขบวนการปล้นรังนก ขายตลาดมืด ในอดีตในทะเลสาบสงขลา เคยมีทั้ง ตำนานโจรสลัดปล้นรังนก หรือ การสังหารหมู่ 10 ศพ โจรปล้นรังนกเมื่อปี 2535 ก็เคยมี ส่วน ขบวนการโจรกรรมรังนกครั้งประวัติศาสตร์ ในถ้ำบนเกาะสี่ เกาะห้า จะลงเอยอย่างไร เจ้าหน้าที่ 4 หน่วยงานใครบ้างจะถูกจับกุมเร็ว ๆ นี้ ต้องติดตามห้ามกะพริบตา.