ซูดานเกิดการรัฐประหารครั้งใหม่ เมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยกองทัพยึดอำนาจจากรัฐบาลเฉพาะกาลของนายกรัฐมนตรีอับดัลลา ฮัมด็อก ซึ่งขึ้นสู่อำนาจหลังการรัฐประหารที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2562 โค่นอำนาจประธานาธิบดีโอมาร์ อัล-บาเชียร์ ผู้ปกครองซูดานต่อเนื่องยาวนานถึง 30 ปี

พล.อ.อับเดล ฟัตตาห์ อัล-บูร์ฮาน

พล.อ.อับเดล ฟัตตาห์ อัล-บูร์ฮาน ผู้บัญชาการกองทัพซูดาน ซึ่งเป็นผู้นำการรัฐประหารครั้งนี้ กล่าวว่า “มีความจำเป็นต้องยึดอำนาจ” เพื่อป้องปรามไม่ให้สถานการณ์ภายในที่ยังคงไร้เสถียรภาพ ลุกลามบานปลายกลายเป็นสงครามกลางเมือง แต่ที่ต้องให้ความสำคัญมากกว่านั้น คือความจริงที่ว่า พล.อ.บูร์ฮาน ก็เป็นผู้นำกองทัพทำรัฐประหารโค่นอำนาจบาเชียร์ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว และมีชื่อร่วมอยู่ในคณะรัฐบาลเปลี่ยนผ่าน

Reuters

ทั้งนี้ หนึ่งในประเด็นที่พล.อ.บูร์ฮานใช้เป็นเหตุผลปกป้องการก่อรัฐประหารครั้งนี้ เกี่ยวกับ “ความไม่ลงรอย” ระหว่างทหารกับพลเรือนในรัฐบาลเฉพาะกาล แม้ไม่ได้ขยายความมากนัก แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายมีจุดยืนแตกต่างกันค่อนข้างเด่นชัด ในการส่งตัวอดีตผู้นำซูดาน คือ บาเชียร์ ให้แก่ศาลอาญาระหว่างประเทศ ( ไอซีซี ) ในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ตามหมายจับเมื่อปี 2552 ในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ จากสงครามดาร์ฟูร์ เมื่อปี 2546 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 300,000 ราย ตามการประเมินของสหประชาชาติ ( ยูเอ็น )

อย่างไรก็ตาม ประชาชนจำนวนมากยังคงเชื่อว่า ทหารระดับสูงหลายนาย รวมถึงพล.อ.บูร์ฮาน มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับสงครามดาร์ฟูร์ และควรรับผิดชอบกับการเสียชีวิตของผู้ประท้วงต่อต้านการรัฐประหาร เมื่อปี 2562 ด้วย แต่กองทัพยังคงยืนกรานปฏิเสธข้อครหาทั้งหมด

นอกจากนี้ แม้เศรษฐกิจของซูดานยังแทบไม่ฟื้นตัวในสมัยรัฐบาลเปลี่ยนผ่าน แต่การที่กองทัพตัดสินใจทำรัฐประหารครั้งนี้ และประสบความสำเร็จ หลังพยายามมาแล้วเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา เป็นคำถามให้กับชาวซูดานจำนวนไม่น้อย เกี่ยวกับ “เจตนาที่แท้จริง” ของกองทัพ โดยเฉพาะ พล.อ.บูร์ฮาน ซึ่งเป็นผู้ทรงอำนาจที่สุดในประเทศ ณ เวลานี้

Reuters

นับตั้งแต่เป็นเอกราชอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2499 จนถึงปัจจุบัน ซูดานยังคงแสวงหารูปแบบการปกครองและการบริหารอำนาจรัฐ “ที่เหมาะสมกับตัวเอง” ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้นำซูดานทุกคนล้วนมีความเชื่อมโยงกับทหารไม่ทางใดทางหนึ่ง บ่งชี้อิทธิพลและอำนาจของกองทัพที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมของซูดาน และอาจอนุมานได้ว่า การให้พลเรือนมีอำนาจสูงสุดเพียงฝ่ายเดียว หรือมากกว่าทหาร ทำให้กองทัพมองว่า ตัวเองจะถูกลดบทบาททางการเมือง และยิ่งไปกว่านั้น ยังอาจเป็นการสั่นคลอนอิทธิพลของกองทัพ ที่มีต่อแหล่งทรัพยากรในซูดาน และเพิ่มความเสี่ยงให้อาจถูกดำเนินคดี จากเหตุการณ์มากมายในอดีต โดยเฉพาะสงครามดาร์ฟูร์

ปัจจุบัน พล.อ.บูร์ฮาน มีอายุ 61 ปี มีสายสัมพันธ์อันดีอย่างเปิดเผยกับอียิปต์ และราชวงศ์ในตะวันออกกลาง รวมถึงซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ( ยูเออี ) จึงไม่น่าแปลกใจมากนัก ที่กลุ่มประเทศในโลกตะวันออกกลาง และประเทศขนาดใหญ่ในแอฟริกาเหนือ ที่นำโดยอียิปต์ “ค่อนข้างเงียบ” ต่อสถานการณ์วุ่นวายทางการเมืองครั้งใหม่ในซูดาน ไม่มีใครออกมาประณามการรัฐประหารครั้งนี้ เพียงแต่เรียกร้องให้คู่กรณีทุกฝ่ายเจรจากันโดยสันติวิธี ท่าทีที่สะท้อนว่า สำหรับกลุ่มประเทศเหล่านี้ ขอแค่เพียง “มีคนที่ติดต่อและประสานงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ” โดยไม่จำเป็นว่า รัฐบาลซูดานจะต้องมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยหรือไม่

กรุงคาร์ทูม เมืองหลวงของซูดาน กลายเป็นเมืองร้างหลังการรัฐประหาร

ขณะที่เส้นทางของซูดานภายในอนาคตอันใกล้นี้ นั่นคือ วังวนของรัฐบาลเฉพาะกาลกลับมาอีกครั้ง แต่บุคคลที่จะมาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีคงเป็นบุคคลภายนอกตามระเบียบ ทว่าคราวนี้จะต้องอยู่ภายใต้การชักใยของกองทัพ “อย่างเข้มงวดมากขึ้น” หากกองทัพต้องการควบคุมสถานการณ์ให้ “เป็นไปตามแผนการ” จนถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไป ที่ให้คำมั่นว่าจะเกิดขึ้นภายในเดือน ก.ค. 2566.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : AP, GETTY IMAGES