เหมือนมีสัญญาณว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ ในส่วนของฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทยก็กำลังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ทั้งเรื่องของตัวบุคคลที่จะมาเป็น “แคนดิเดต” นายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนโลโก้-สี รวมทั้งสโลแกนของพรรคที่ว่า “พรุ่งนี้เพื่อไทย : เพื่อชีวิตใหม่ของประชาชน” ก่อนจะมีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรคในวันที่ 28 ต.ค.64 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น จ.ขอนแก่น
พรรคเพื่อไทยจะเปลี่ยนแปลงไปทางไหน? พรุ่งนี้เพื่อไทยคืออะไรของคุณ? วันนี้มีโอกาสคุยกับ ’หมอมิ้ง“ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตรองนายกรัฐมนตรี และสมาชิกพรรคเพื่อไทย ซึ่งว่ากันว่า “หมอมิ้ง” เป็นคลังสมองสำคัญอีกคนหนึ่งที่คอยผลักดันแผนยุทธศาสตร์ให้กับพรรค
มีอำนาจเมื่อไหร่ จะทำอะไรที่ Modernize
นพ.พรหมินทร์ กล่าวว่า “พรุ่งนี้เพื่อไทย เพื่อชีวิตใหม่ของประชาชน” คือความหวังของประชาชนที่เป็นจริงได้ เห็นได้จากผลงานของเราที่ผ่านมา หลังจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนม.ค.44 ถ้ามีอำนาจเมื่อไหร่ เราจะทำอะไรที่ Modernize (ทันสมัย)ตลอด เพราะสถานการณ์ต่าง ๆ เปลี่ยนไป ดังนั้นถึงเวลาที่พรรคต้องปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง ให้ทันกับความต้องการของประชาชนอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราจะเป็นตัวแทนของประชาชนยิ่งต้องปรับความคิดให้ทันสมัยอยู่ตลอด
ที่ผ่านมาได้พูดไปหลายครั้งแล้ว ว่าใครก็ “ลอก”ความคิดเราไม่ได้ เพราะจุดยืนเรื่องประชาชนไม่เหมือนกัน ซึ่งเราจะมองไปที่ 2 เรื่องใหญ่ คือ 1. กรอบวิธีคิดการมองภาพบ้านเมืองแบบองค์รวม 2. การมองให้เป็นยุทธศาสตร์
ยกตัวอย่างเรื่องแรก คือ รถไฟความเร็วสูง เมื่อ 10 ปีที่แล้วเรามองแบบยุทธศาสตร์ มองปัจจัยภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่สุดท้ายไม่ได้ทำ ทั้งที่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องเงิน เพราะเงิน 2 ล้านล้านบาท หาได้อยู่แล้ว แต่ด้วยเหตุผลอะไรนั้นตนไม่อยากลงลึกไปในรายละเอียด แต่สุดท้ายเมื่อคุณยึดเอาไปทำ ก็ทำไม่สำเร็จ เพราะทำไม่เป็น เพิ่งทำไปแค่ 3.5 กม. ปัจจุบันยังไม่ไปถึงไหน ขณะที่ สปป.ลาวกำลังจะเปิดเดินรถไฟฟ้าลาว-จีน ในวันที่ 2 ธ.ค.นี้ ซึ่งไม่ได้มีแต่ขบวนรถโดยสาร แต่มีขบวนรถสินค้าวิ่งวันละ 14 ขบวน วันนี้ในฝั่งลาวเขาเตรียมความพร้อมกันเต็มที่ แต่ไทยทำอะไรกันบ้าง?
โดยเฉพาะ จ.หนองคาย ควรมีบทบาทในการขนส่งสินค้าไปลาว-จีน ให้มากกว่านี้หรือไม่? วันที่ 1 พ.ย. รัฐบาลจะเปิดประเทศ ยังหวังกับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศปีละ 40 ล้านคน ในจำนวนดังกล่าวเป็นนักท่องเที่ยวจีน 10 ล้านคน ถ้าคนจีนไม่มาคุณจะทำอย่างไร ทางออกที่ดีที่สุดคือการค้าขายเกาะไปกับเส้นทางรถไฟฟ้าลาว-จีน อย่าลืมว่าจีนมีประชากร 1,400 ล้านคน เฉพาะมณฑลยูนนาน 50 ล้านคน อย่ากลัวว่าสินค้าจีนจะทะลักเข้ามา เพราะเรามีประชากรแค่ 65 ล้านคน จะกลัวอะไร แล้วสินค้าไทยมีคุณภาพเป็นที่ต้องการของคนจีน ตนขอเกริ่นเรื่องรถไฟฟ้าไว้และบทบาทของ จ.หนองคายไว้แค่นี้ เนื่องจากส.ส.ในพื้นที่ทั้งนายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ และ น.ส.ชนก จันทาทอง มีข้อมูลและทางออกอย่างละเอียด
ภาคเกษตรต้องมีทางออก–ทางเลือก
นพ.พรหมินทร์ กล่าวต่อไปว่า หันมาดูภาคการเกษตร จะมีทางออก มีทางเลือกใหม่ ๆ จากผู้ที่ประสบความสำเร็จให้กับพี่น้องเกษตรกรด้วย ยกตัวอย่างวันนี้ราคาข้าวตกต่ำ เดือนหน้าจะมีข้าวออกสู่ตลาดอีกมาก ขณะที่โรงสียังมีข้าวเก่าล้นสต๊อกอยู่ แล้วโรงสีจะซื้อข้าวใหม่ไปทำไม? ในอดีตไทยเคยส่งออกข้าวปีละ 10 ล้านตัน แต่ช่วง 2-3 ปีนี้ ลดลงมาเหลือ 5-6 ล้านตัน ข้าวส่วนเกินจะเอาไปไว้ที่ไหน สุดท้ายจึงต้องมีการวางแผน ถ้าจะลดพื้นที่ปลูกแล้วจะไปทำอะไร การเปลี่ยนวิถีชีวิตคนไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากจนเกินไปถ้าเรามีแผนที่ดี และมีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จให้เขาดูเพื่อเป็นทางออก
“ปัจจุบันจีน-เวียดนาม มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวไปไกลมาก มีมากมายนับ 100 สายพันธุ์ เวียดนามปลูกข้าวได้ 1,000 กก./ไร่ แต่ไทยปลูกได้ 400-500 กก./ไร่ ดังนั้นต้นทุนของเวียดนามจึ่งต่ำกว่าไทย 50% แล้วข้าวไทยจะสู้เขาไหวหรือ ผมได้ยินข้าวหอมมะลิมาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ตอนนี้อายุเกือบ 70 ปี ถ้ามัวแต่ภาคภูมิใจกับข้าวหอมมะลิกันอยู่ เราจะสู้เขาไม่ได้”
เหมือนกันการแก้ปัญหาเรื่องน้ำ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เราคิดเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ ท่านปลอดประสพ (ปลอดประสพ สุรัสวดี) เป็นคนรอบรู้และมีประสบการณ์ แต่ก็มีการดึงนักวิชาการต่าง ๆ เข้ามาช่วยกันระดมความคิด รวมทั้งเอาผู้เชี่ยวชาญจากอิสราเอล-เนเธอร์แลนด์ เข้ามาวางแผนทำโครงการบริหารจัดการน้ำ ถ้าทำตอนนั้นมาอย่างต่อเนื่อง ป่านนี้เสร็จไปแล้ว เพราะใช้เวลาแค่ 5 ปี แต่ปัจจุบันปัญหาเรื่องน้ำยังมีความสำคัญอยู่ จึงต้องมีแผนงานใหม่ ๆ และทันสมัยออกมาให้ดูกันด้วย
หรือแม้แต่เรื่องของการศึกษา ต้องมองย้อนหลังไปเมื่อ 8 ปีที่แล้ว รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำโครงการแจกแท็บเล็ตให้นักเรียนชั้น ป.1 มันเป็นเรื่องที่ทันสมัยในยุคนั้นหรือเปล่า? เมื่อเทียบกับสภาพความเหลื่อมล้ำของนักเรียนยุคโควิด-19 ที่ต้องเรียนหนังสือทางออนไลน์ ตนไม่อยากไปไกลมากกว่านี้ เอาไว้ฟัง ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม พูดถึงรายละเอียดเรื่องการศึกษาและการต่อยอดโครงการเก่าๆที่เคยทำเอาไว้จะดีกว่า
จับโครงการเก่า ๆ “ต่อยอด” ทั้งหมด
เมื่อถามถึงโครงการที่เคยประสบความสำเร็จในอดีตอย่าง 30 บาทรักษาทุกโรค-กองทุนหมู่บ้าน และโอทอป จะมีการต่อยอดให้ทันสมัยด้วยหรือไม่? นพ.พรหมินทร์กล่าวว่าเรานี่แหละกระจายอำนาจให้ประชาชนด้วยกองทุนหมู่บ้าน กระจายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ผ่านโครงการ 30 บาทฯ กระจายอาชีพ-รายได้ไปสู่ชุมชนผ่านโครงการเอสเอ็มแอล ซึ่งเอสเอ็มแอลคือการต่อยอดมาจากกองทุนหมู่บ้าน
เอาล่ะ! เรื่อง 30 บาทฯ “หมอเลี้ยบ” นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี มีข้อมูลไว้อธิบายอย่างละเอียด ยิ่งมีโควิด-19 ยิ่งเห็นสภาพปัญหาได้เด่นชัดที่สุด โดยต่างจังหวัดไม่มีปัญหา เนื่องจากมีระบบการบริหารจัดการค่อนข้างดี แต่ที่มีปัญหากลับกลายเป็นพื้นที่กรุงเทพฯ หมอเลี้ยบมีข้อมูล มีทางออก และมีแผนการต่อยอด 30 บาทฯ ไว้อย่างชัดเจน
ส่วนตนจะใกล้ชิดโครงการกองทุนหมู่บ้านมาตั้งแต่ต้น โดยเริ่มแรกที่จะมาเป็นกองทุนหมู่บ้าน ตอนนั้นปี 40 มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)ในธนาคารพาณิชย์สูงถึง 40-50% ต่อมาได้ข้อมูลจากนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีต รมช.เกษตรฯ ซึ่งทำงานคลุกคลีกับเกษตรกรมานาน บอกว่าหนี้เสียของเกษตรกรไม่ถึง 10% ถ้าไม่เชื่อให้ไปดูข้อมูลของ ธ.ก.ส.
นอกจากนี้ยังได้ข้อมูลจาก นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ท่านเป็นนักเรียนทุน เป็นนายแบงก์ และทำงานช่วยเหลือชาวสลัมมาก่อน ท่านบอกว่าเคยเอาเงิน 300 ล้านบาท ไปปล่อยในสลัม ปรากฏว่าหนี้เสียเป็นศูนย์ ตนได้ข้อมูลเหล่านี้มาทำเป็นกองทุนหมู่บ้าน 74,000 หมู่บ้าน ใช้เงิน 74,000 ล้านบาท หรือแค่ 7% ของงบประมาณแผ่นดินในตอนนั้น แต่เงินก้อนนี้กระจายไปสู่ประชากร 40-50 ล้านคน ถ้าหนี้เสีย 10% ก็แค่ 7,400 ล้านบาท แต่สุดท้ายมีหนี้เสีย 2-3% เท่านั้น จากเงินทุน 74,000 ล้านบาท ชาวบ้านไปบริหารจัดการกันเอง โดยคิดดอกเบี้ย 6% เงินก้อนนี้จึงโตขึ้นปีละ 6% ตอนถูกรัฐประหารปี 49 กองทุนหมู่บ้านโตไปถึง 120,000 ล้านบาท แต่หลังจากนั้นบริหารกันอีลุ่ยฉุยแฉกอย่างไรไม่ทราบ เพราะไม่ได้ติดตาม แต่ถ้าเข้ามามีอำนาจอีก จะต่อยอดกองทุนหมู่บ้านที่เป็นเกรดเอ ให้เป็นสถาบันการเงินชุมชนอย่างชัดเจนและถูกกฎหมาย
สำหรับ “โอทอป” จำได้ว่าปีแรกที่มีโอทอปทำยอดขายได้ 120 ล้านบาท แล้วพุ่งเกิน 100,000 แสนล้านบาทในปีต่อ ๆ มา วันนี้ต้องมุ่งโอทอปไปที่เรื่องส่งออก ต้องพัฒนาสินค้าให้สวย มีคุณภาพ เช่น ผ้าไหมต้องดีไซน์ให้ดี สวยงาม ทันสมัย และต้องมีคุณภาพ นั่นคือความทนทาน จึงต้องเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย ซึ่งเรื่องดังกล่าว ส.ส.สกุณา สาระนันท์ มีข้อมูลที่สามารถอธิบายได้มากกว่านี้ เพราะทุกเรื่องเราจะทำงานกันเป็นทีมที่ขับเคลื่อนด้วยคนรุ่นใหม่
เร็วไป! เปิดตัว “แคนดิเดต” นายกฯ
เมื่อถามถึง “แคนดิเดต” นายกรัฐมนตรีที่มีกระแสข่าวทั้งคนในตระกูล “ชินวัตร” รวมถึงบุคคลนอกอย่างนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง หรือแม้แต่ “หมอมิ้ง”เป็นอีกคนหนึ่งที่ถูกมองว่าได้รับการวางตัวให้รับภารกิจตรงนี้ ซึ่ง นพ.พรหมินทร์ตอบว่ายังไม่รู้จริง ๆ ว่าจะเป็นใคร ส่วนตัวเองนั้นคงไม่ใช่แน่! แต่ยืนยันได้ว่าเนื่องจากเรามีเพื่อน มีพวกมากพอสมควร และมีช่องทางหาเงินโดยไม่เป็นภาระของประเทศ ดังนั้นจึงมีหลายคนสนใจ โดยเฉพาะจากภาคเอกชนที่ประสบความสำเร็จ พร้อมเข้ามาช่วย เพราะเขาเห็นว่าปล่อยให้ประเทศเดินไปแบบนี้ไม่ไหว! เพียงแต่ยังไม่อยากเปิดตัวกันตอนนี้
นพ.พรหมินทร์ กล่าวปิดท้ายว่า ตนขอยกคำพระที่ว่า “อรหันต์ย่อมรู้อรหันต์” เอาเป็นว่าผู้ใหญ่ในพรรคเขารู้ว่าใครเก่งหรือไม่เก่ง และสถานการณ์แบบนี้ต้องใช้คนแบบไหน ถ้าไม่เก่งที่สุดก็ต้องทำงานในรูปแบบของทีมงาน แต่ตนยืนยันได้ว่างานที่ขอนแก่น แม้จะมีการพูดกันถึงเรื่องราวหรือโครงการต่าง ๆกันตั้งเช้ายันเย็น แต่นั่นเป็นเพียงแค่ “หนังตัวอย่าง” เพราะยังมีอะไรมากมายกว่านั้น แต่ขออุบเอาไว้ก่อน เอาไว้ตอนมีอำนาจเมื่อไหร่ เราจะทำอะไรที่ Modernize จับต้องได้แน่นอน.