ทว่าเอ็มมานูเอลไม่ใช่คนเดียวที่ประสบปัญหา เพราะชาวไนจีเรียจำนวนมาก ต่างเลิกใช้รถยนต์ของพวกเขา เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อรายได้ส่วนบุคคล

“ตอนนี้ผมจอดรถไว้ที่บ้านของลูกชาย และหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะแทน” เอ็มมานูเอล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เกษียณอายุแล้ว วัย 72 ปี กล่าว

นับตั้งแต่ประธานาธิบดีโบลา อาเหม็ด ทินูบู ผู้นำไนจีเรีย ขึ้นสู่อำนาจเมื่อเดือน พ.ค. 2566 เขาได้ยุติการอุดหนุนเชื้อเพลิง ส่งผลให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นมากกว่า 5 เท่า รวมถึงปล่อยค่าเงินไนรา ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐของไนจีเรีย และนักวิเคราะห์หลายคน กล่าวว่า การปฏิรูปข้างต้นจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ และดึงดูดนักลงทุน

แต่ในระยะสั้น ไนจีเรียต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายสิบปี ซึ่งประเทศมีอัตราเงินเฟ้อแตะระดับสูงสุดในรอบ 30 ปี ที่ 34.19% เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา และลดลงเหลือ 32.7% ในเดือนที่แล้ว

ตามข้อมูลของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) กำลังซื้อที่ตกต่ำทำให้ชาวไนจีเรียประสบความลำบากมากขึ้น โดยประชากรมากกว่า 40% อาศัยอยู่ในภาวะยากจน และตัวเลขดังกล่าวคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในปีนี้และปีหน้า ก่อนอยู่ในระดับคงที่ในปี 2569

ปัจจุบัน ชนชั้นกลางของไนจีเรีย ซึ่งคิดเป็นประมาณ 20% ของประชากรทั้งประเทศในปี 2563 ยอมเสียสละความสะดวกสบายของการมีรถยนต์ส่วนตัว เพื่อความอยู่รอด ซึ่งตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ในเมืองลากอส และกรุงอาบูจา กล่าวว่า พวกเขาเห็นผู้คนจำนวนมากเปลี่ยนรถยนต์ที่กินน้ำมัน และรถยนต์อเนกประสงค์ (เอสยูวี) เป็นรถยนต์ที่ประหยัดน้ำมันมากขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่าย

“ทุกวันนี้ ผู้คนต่างขายรถยนต์คันใหญ่ของตัวเอง แต่ปัญหาคือ แม้จะนำรถยนต์ออกสู่ตลาด แต่มันกลับไม่มีความต้องการมากนัก” นายมาจี อาบูบาการ์ ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ในกรุงอาบูจา กล่าว

ด้านนางบุนมี เบลีย์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยของบริษัทที่ปรึกษาความเสี่ยง “เอสบีเอ็ม อินเทลลิเจนซ์” ระบุว่า แนวโน้มข้างต้น ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปีที่แล้ว จะรุนแรงขึ้น และจำนวนรถยนต์ที่วิ่งบนท้องถนนจะลดลง

ขณะที่ นายคุนเล ไจเยซินมี รองผู้อำนวยการบริษัท “ซีเอฟเอโอ กรุ๊ป” ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองลากอส และมีความเชี่ยวชาญด้านการจัดจำหน่ายรถยนต์ กล่าวว่า ตลาดสำหรับรถยนต์ใหม่ลดลง 10-14% ในปีที่แล้ว ส่งผลให้ช่วงราคารถเอสยูวี เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า เมื่อเทียบกับช่วง 2 ปีก่อนหน้า

ยิ่งไปกว่านั้น ภาวะเงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยนที่สูง ยังทำให้ผู้คนในกลุ่มชนชั้นกลาง ไม่สนใจรถยนต์มือสองแบรนด์ญี่ปุ่นและอเมริกันมากขึ้น และหันไปซื้อรถยนต์ที่ผลิตในจีน ซึ่งได้รับความนิยมมากกว่าแทน

อนึ่ง ชาวไนจีเรียนบางคนหันไปขี่จักรยาน แม้ประเทศยังขาดโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมในหลายเมืองก็ตาม ซึ่งองค์กรส่งเสริมการใช้จักรยานในเมืองลากอส ระบุว่า พวกเขาสังเกตเห็นการปั่นจักรยานเพิ่มขึ้นเป็นเวลาหลายเดือน นับตั้งแต่ราคาเชื้อเพลิงพุ่งสูงขึ้น.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP