จากข้อมูลของสำนักงานกิจการยุติธรรม ระบุถึงการให้โดยเสน่หาว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 521 วางหลักกฎหมายไว้ว่า สัญญาให้ คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ โอนทรัพย์สินของตนให้โดยเสน่หาแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับ และผู้รับยอมรับทรัพย์สินนั้นไว้

การให้จะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อส่งมอบการครอบครองให้แก่ผู้รับแล้ว จะส่งมอบด้วยวิธีไหนก็ได้ขอแค่ให้ผู้รับสามารถมีอำนาจจัดการทรัพย์สินนั้นได้ก็พอ

แต่หากเป็นบ้าน ที่ดิน หรือ อสังหาริมทรัพย์ ที่ต้องมีการจดทะเบียน ก็ต้องทำตามขั้นตอนของการจดทะเบียนให้เรียบร้อยถึงจะเป็นการให้ที่สมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม กรณีมีเหตุต้องการขอคืน ตามกฎหมายแล้วทำได้หรือไม่ พบแยกได้ ดังนี้

3เหตุ” ผู้ให้“ขอคืน”การให้ได้ เมื่อผู้รับประพฤติ

1.ผู้รับ ประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดฐานอาญาอย่างร้ายแรง ตามประมวลกฎหมายอาญา

2.ผู้รับ ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง

3.ผู้รับ บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ในเวลาที่ยากไร้ และผู้รับสามารถจะให้ได้

7 เหตุ” ผู้ให้ใช้สิทธิ์ขอคืน การให้“ไม่ได้”

1.ให้เป็นบำเหน็จสินจ้างโดยแท้

2.ให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน

3.ให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยา

4.ให้ในการสมรส

5.ผู้ให้ ให้อภัยแก่ผู้รับในเหตุประพฤติเนรคุณ

6.เวลาผ่านไปแล้ว 6 เดือน นับแต่ทราบเหตุประพฤติเนรคุณ

7.ผู้ให้ ฟ้องคดีหลัง 10 ปี นับแต่วันเกิดเหตุประพฤติเนรคุณ

สำหรับตัวอย่างคำพิพากษา กรณีผู้ให้ขอคืนได้ เมื่อผู้รับประทุษร้ายรุนแรง เช่น ฎีกาที่ 412/2528 จำเลยเป็นบุตรโจทก์ โจทก์ยกที่ดินส่วนหนึ่งของโฉนดให้จำเลยโดยเสน่หา ต่อมาโจทก์ไปบ้านจำเลยแล้วเกิดทะเลาะกัน จำเลยจับผมโจทก์แล้วกระแทกหน้าโจทก์กับพื้น เป็นแผลแตกที่ใต้คางและจำเลยยังบีบคอโจทก์ มีคนเข้าไปห้ามไว้และมีคนพาโจทก์ไปส่งโรงพยาบาล

โจทก์รักษาตัวในโรงพยาบาล 8 วัน แล้วศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาต่อไปว่า การกระทำของจำเลยเป็นการประพฤติเนรคุณโจทก์หรือไม่ เห็นว่าการที่จำเลยทำร้ายร่างกายโจทก์ผู้เป็นมารดา ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นว่าจำเลยขาดความกตัญญูและประทุษร้ายต่อบุพการีผู้มีพระคุณของตน แม้โจทก์จะได้รับบาดเจ็บไม่ถึงสาหัส ก็ถือได้ว่าจำเลยประพฤติเนรคุณโดยประทุษร้ายต่อผู้ให้ เป็นความผิดฐานอาญาอย่างร้ายแรง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531 (1) แล้ว โจทก์จึงเรียกถอนการคืนการให้ได้

ส่วนตัวอย่างคำพิพากษา กรณีผู้ให้ขอคืน เมื่อผู้รับทำให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทร้ายแรง เช่น ฎีกาที่ 980/2550 ผู้ให้เจ็บป่วยไปขอความช่วยเหลือจากผู้รับ แต่ผู้รับการให้ไม่พอใจพร้อมพูดว่า บักหมามึงแก่แล้ว พูดจากลับไปกลับมาเหมือนเด็กเล่นขายของ มึงไม่มีศีลธรรม มึงไปตายที่ไหนก็ไป จึงถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง มีเหตุผู้รับการให้ประพฤติเนรคุณที่ถอนคืนการให้ได้

การให้และรับโดยเสน่หา แม้ดูจับต้องยาก เพราะเป็นเรื่องของความรู้สึก แต่ในทางกฎหมายก็มีหลักการพิสูจน์ และมีแนวทางพิจารณา วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานอยู่.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]