..เรียกว่า ต่อไปพวกนักตบทรัพย์จะหากิน คงต้องไปแก้ผ้าเจรจากันในบ่อออนเซ็น แถมต้องยีหัวโชว์กันด้วยว่า ไม่ได้ซ่อนอะไร
เอาเข้าจริง สินค้าพวกนี้มันก็เป็นสินค้าตระกูลลดความอ้วนเสียเยอะ หลายคนที่ใช้ก็หวังลดความอ้วนทางลัดโดยการกินอะไรพวกนี้ ทั้งที่จริงๆ การลดความอ้วนก็มีสูตรการกำหนดอาหาร อย่ากินแป้งมากเน้นกินผัก ไม่สะดวกจะออกกำลังกายก็เดินเร็วเอา เดี๋ยวนี้มีกันถึงขนาดหนังสือ HOW TO ออกกำลังกายในออฟฟิศว่า จะต้องยืดต้องเหยียดอะไรบ้าง หรือไม่ก็งดมื้อเย็นเสีย วิธีเยอะแยะถ้าไม่ขี้เกียจ ถ้าจะเอาทางลัดไปใช้ยาไซบูทรามีนก็ต้องระวัง หรือยาลดความอ้วนบางตัวมีสารกระตุ้นประสาท .. อยากได้คอลลาเจนให้ผิวเต่งตึง ก็กินคากิเข้าไป หรือเอ็นแก้วเนื้อ ก็ได้คอลลาเจนเย้อ..เยอะ แต่ถ้าอยากขาว กินกลูต้าไธโอนเห็นทีตับจะพังซะก่อน แถมไม่ได้ช่วยอะไรเพราะลงกระเพาะมันก็ย่อยหมด
ก็อยากฝากไว้ว่า การลดความอ้วนเป็นเรื่องดี แต่ให้ดีกว่าคือให้อยู่ในมือนักโภชนาการ ซึ่งจะบอกว่า หมอ รพ.รัฐ ใช้สิทธิ์ประกันสังคมเขาก็ให้คำปรึกษาได้ ไม่จำเป็นต้องไปสั่งอาหารเสริมแพงๆ แล้วถูกล่อให้เปิดบิล
เรื่องบริษัทอาหารเสริมก็ว่ากันไป .. ฝ่ายข่าวอาชญากรรมก็ต้องตามติดเรื่องนี้ ซึ่งตามไปตามมา กลายเป็นมีเรื่องทนายชื่อดังถูกแฉเละแบบไปออกรายการนัดเดียวโจทก์แน่นเอี๊ยด และสิ่งที่เชื่อว่า ประชาชนลุ้นระทึกจากข่าวนี้ คือ พวกบรรดานักร้องหรือคนดีศรีอินเทอร์เนตจะถูกกระชากหน้ากากกี่คน ว่า วิ่งเต้นตบทรัพย์แลกไม่ร้องเรียนหรือช่วยเหลือในด้านคดี ..แบบขอให้เป็นไปตามที่บิ๊กบอสพูดว่า “พอลจะจับมือทุกคนไปด้วยกัน” ยิ่งถ้าพาดพิงไปถึงว่าต้องจ่ายเงินให้นักการเมืองด้วยนี่จะยิ่งสนุกกันใหญ่ หลายคนเล็งเป้าไว้แล้วว่า ใครจะโดน เพียงแต่จะสาวถึงหรือไม่แค่นั้นแหละ
ในส่วนของการเมือง ก็น่าเบื่อหน่ายตรงเรื่องที่มันไม่จบไม่สิ้นเรื่องการนิรโทษกรรมนักโทษความผิดทางการเมือง วางแผนจะนิรโทษประชาชนต้องคดีทางการเมืองในช่วงปี 2548- 2559 ( ต้องไม่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตด้วย มิฉะนั้นอาจได้ปลุกกระแสชนชั้นกลางต้านโกงขึ้นมาอีก ) ซึ่งหลายพรรคการเมืองก็ยืนยันว่า “ไม่เอานิรโทษกรรมคดีความผิดตาม ม.112” แม้แต่พรรคเพื่อไทยก็พูดว่า ไม่เอา ส่วนวันที่ประชุมรับทราบรายงานของ กมธ.นิรโทษกรรม เพื่อไทยบอกว่า “รับรองเฉพาะตัวรายงาน แต่ไม่ได้รับรองข้อสังเกตของ กมธ.จึงไม่ได้ถือว่า พลิ้ว แต่อย่างใด”
อันว่า คดี ม.112 นั้น เชื่อว่า “มันก็มีทั้งผู้ที่จงใจทำผิด ผู้ที่ถูกยุยงปลุกปั่น ( แบบอารมณ์ม็อบพาไป ) ผู้ที่กระทำการไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์” ซึ่งเชื่อว่า ทางฝ่ายการเมืองต้องการให้เป็นหน้าที่ของศาลแยกแยะเอา เพราะคดี ม.112 ที่ไม่สั่งฟ้องก็เยอะแยะ แต่ทางฝั่งที่สนับสนุนให้นิรโทษกรรม ไปถึงแก้ไขกฎหมาย เขาก็บอกว่า “ต้องการให้ไม่ใช้มาตรานี้มากลั่นแกล้งทางการเมือง เพราะปัญหาคือ ใครฟ้องก็ได้ และควรแยกโทษระหว่าง อาฆาตมาดร้าย กับทำให้ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง”
ฝ่ายอนุรักษ์นิยมขวาจัดๆ เขาก็มองว่า “จะแก้เพื่อหาเรื่องละเมิดสถาบัน หรือคิดว่า ทำเกรียนไปแล้วก็รอนิรโทษกรรม ไม่ใช่การสำนึกผิดจริง” ตามหลักทัณฑวิทยาที่ควรให้โอกาสต่อเมื่อคนทำผิดสำนึกต่อสิ่งที่ได้ทำว่า เป็นเรื่องเลวร้ายและไม่ทำอีก ..ปัญหาคือ ความผิดตาม ม.112 ใช้หลักการเดียวกันได้หรือ ? เพราะเมื่อมันเป็นคดีการเมือง เป็นกฎหมายหมวดความมั่นคง ก็ถูกมองว่า“เป็นคดีเชิงอุดมการณ์”มาจากความแตกต่างทางความคิด ที่ถ้าไม่พูดคุยกัน ให้โอกาสกัน ความขัดแย้งจะยิ่งขยายเพราะต่างฝ่ายต่างหาแนวร่วม ..คดีความขัดแย้งทางความคิดในไทยก็เคยเกิดมาแล้วตอน 6 ตุลา 2519 ที่มีผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ มีกลุ่มซ้ายจัดเข้าป่า จนกระทั่งต้องนิรโทษกรรม เปลี่ยนชื่อเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย
กระบวนการอะไรที่ควรนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาและสร้างความปรองดอง..วันก่อนเห็นเขาประชุมเรื่องตากใบ มีประเด็นที่น่าสนใจ คิดว่า ฝ่ายการเมืองน่าจะเอามาพิจารณาดู คือข้อเสนอของเครือข่าย The Patani และ 45 องค์กร ขอให้ ครม.แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระค้นหาความจริงเพื่อความสมานฉันท์ มีอำนาจหน้าที่คล้ายกับ Truth and Reconciliation Commission ของแอฟริกาใต้ แต่อาจมีขอบเขตที่แคบกว่า
( TRC คณะกรรมการค้นหาความจริงและการคลี่คลายความขัดแย้ง ออกรัฐบัญญัติส่งเสริมเอกภาพและการคลี่คลายความขัดแย้งแห่งชาติ ยกเลิกกฎหมายและนโยบายต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรมและก่อให้เกิดการกีดกันทางเชื้อชาติ จากที่แอฟริกาใต้มีปัญหาเหยียดผิว ข้อเสนอหนึ่งคือมุ่งทำให้เกิดความสมานฉันท์โดยการโน้มน้าวเกลี้ยกล่อมให้ผู้กระทำความผิดยอมสารภาพและแสดงความสำนึกผิด เสียใจในความผิดที่ได้กระทำไปแล้ว โดยไม่เน้นการลงโทษ )
แอฟริกาใต้เมื่อก่อน มีปัญหาเรื่องการเหยียดผิวรุนแรง ผู้ที่ต่อสู้เพื่อแก้ปัญหาคือ อดีตประธานาธิบดีเนลสัน แมนเดลา ที่เคลื่อนไหวต่อต้านการเหยียดสีผิวในนามสมัชชาแห่งชาติแอฟริกัน ( ANC ) แมนเดลาต่อสู้เรื่องนี้จนต้องถูกจองจำในกว่า 27 ปี ต่อมาเมื่อขั้วการเมืองพลิก แมนเดลาได้ตั้งรัฐบาล จึงได้ขอให้รัฐสภาผ่านคณะกรรมการ TRC ให้เกิดความสมานฉันท์และการสร้างประเทศร่วมกันของประชาชนแอฟริกาใต้ คนดำและคนขาวอยู่ได้กันอย่างสันติ ก้าวข้ามการที่คนขาวปกครองแล้วเหยียดผิว ( Apartheid ) อยู่กันได้ทุกเผ่าพันธุ์ ทุกเชื้อชาติ และทุกศาสนา
หัวหน้าบาทหลวง เดสมอน ตูตู เป็นประธานของคณะกรรมการ TRC พิจารณาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงของทุกฝ่ายโดยไม่แบ่งสีผิว และสรุปว่า ทั้งฝ่ายคนขาวและคนดำก็มีส่วนในการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในช่วง พ.ศ.2503-2537 ต่อมา TRC สรุปรายงานเสนอต่อแมนเดลาในปี 2541 TRC มุ่งทำให้เกิดความสมานฉันท์โดยให้โอกาส โน้มน้าวเกลี้ยกล่อมให้ผู้กระทำความผิดยอมสารภาพและแสดงความสำนึกผิด เสียใจในความผิดที่ได้กระทำไปแล้ว โดยไม่เน้นการลงโทษ.. ซึ่งกรณีตากใบ Thr Patani เสนอว่า หากใช้กลไก TRC จะสามารถเชิญจำเลยทั้ง 7 และผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่เป็นอดีตข้าราชการ มาให้ความจริงแก่คณะกรรมการฯ ว่า มีบทบาทอย่างไรในกรณีตากใบ เป็นสักขีพยานในเหตุการณ์อะไรที่เกิดขึ้นบ้าง หากยอมรับว่าได้กระทำความผิด ก็สามารถขอโทษและชดเชยต่อผู้ถูกกระทำหรือต่อญาติได้
สำหรับจำเลยที่ไม่ให้ความร่วมมือแก่ TRC คณะกรรมการฯ สามารถเสนอให้ ครม.พิจารณางดเงินบำนาญหรือดำเนินการถอดยศจำเลยผู้นั้นได้ และขอให้ ครม.มีมติให้หน่วยราชการในพื้นที่ให้ความร่วมมือกับญาติมิตรของผู้เสียชีวิตในกรณีตากใบจัดพิธีรำลึกเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นประจำทุกปี โดยอาจรวมถึงพิธีละหมาดฮายัดเพื่อขอพรและขอสันติสุข และจัดให้มีสัญลักษณ์ที่เหมาะสมด้วย
หันกลับมามองคดี ม.112 เราคงสังเกตว่า เหตุการณ์ในปี 2563 ม็อบ “ให้มันจบในรุ่นเรา” คือในการเคลื่อนไหวที่มีความขัดแย้งทางความคิด สถาบันถูกดึงมาพาดพิง กล่าวถึง เมื่อสภาปัดตกข้อสังเกตของ กมธ.เรื่องแนวทางนิรโทษ ม.112 นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวว่า “พรรคเพื่อไทยเคยสัญญาว่าจะคลี่คลายปัญหาของคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมทางการเมือง จึงไม่ควรมองว่านิรโทษกรรมคดีใดบ้าง แต่ควรมองหลักการว่าหากเราต้องการคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ว่าจะโดนด้วยข้อหาอะไร
ถ้าเป็นคดีการเมือง ก็ควรได้รับการนิรโทษกรรม การดำเนินคดีการเมืองโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องยอมรับว่า บางครั้งก็ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง หรือเพราะสถานการณ์ที่บีบคั้นทำให้ผู้ชุมนุมพูดเกินเลยไป จึงต้องดูเจตนา ที่ต้องคิดคือประเทศเราได้อะไรจากการดำเนินคดี ม.112 นายภูมิธรรมเป็นคนเดือนตุลา ซึ่งการชุมนุมปี 2563 การต่อสู้ของภาคประชาชน ไม่เห็นตัวเองในนั้นบ้างหรือ?”
ประโยคว่า “การดำเนินคดีของตำรวจไม่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง หรือสถานการณ์ที่บีบคั้นทำให้ผู้ชุมนุมพูด ( ทำ ) เลยเถิดไป” มันก็น่าคิดว่า เอากระบวนการ TRC มาใช้ได้หรือไม่ คือยังไม่ต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรม แต่ใช้กลไกคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ในเหตุการณ์ม็อบปี 63 โน้มน้าวเกลี้ยกล่อมให้ผู้กล่าวหา-ผู้ถูกกล่าวหาเห็นว่า การต่อสู้ที่เกิดจากความแตกต่างทางความคิดไม่ได้มีประโยชน์ต่อประเทศชาติ ให้แต่ละฝ่ายได้แสดงความรู้สึกต่อสิ่งที่ทำไป และให้ค้นหาความจริงว่า “ใครอยู่เบื้องหลังความคิดปลุกปั่น” กระบวนการปลุกปั่นทำงานอย่างไร หรือผู้ก่อเหตุมีเหตุอันใดให้ก่อความผิด และเอาผลการพิจารณาของคณะกรรมการมาพิจารณาต่อ ว่า การนิรโทษ ม.112 ควรกระทำการอย่างไร
อย่างที่เขาอภิปรายกันโครมๆ ในสภา “ไม่ใช่ว่า ม.112 นิรโทษไม่ได้ มันเคยทำมาแล้วสมัยคนมีแนวคิดซ้ายจัดเข้าป่าไปเป็นสหายอะไรต่างๆ สุดท้ายก็นิรโทษและเรียกเป็น “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” แทนคอมมิวนิสต์ ..แต่ก็พอจะเข้าใจรัฐบาลที่ไม่อยากแตะ ม.112 เอาเสียเลย เพราะ “การให้คุณให้โทษทางการเมืองมีสูงมาก” เกิดทำอะไรผิดหูผิดตาพวกบ้าๆ บอๆ เข้าหน่อยก็มีนักร้องยื่นคณะกรรมการจริยธรรม สภาผู้แทนราษฎร, กกต., ป.ป.ช., ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง, ผู้ตรวจการแผ่นดิน, ศาลรัฐธรรมนูญ ไปจนถึงปลุกม็อบ แบบว่าให้รัฐบาลบริหารงานดีๆ ไม่ได้ ..ซึ่งก็พยายามเข้าใจว่า “คนอกหัก”มันเยอะ ( ทั้งคนเยอะและเรื่องเยอะ ) นิดๆ หน่อยๆ ก็จะจับผิดให้เป็นเรื่อง
ที่สุดแล้ว คำถามคือ “ถ้าไม่ตั้งกรรมการ TRC เพื่อให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยในการที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ฝ่ายถูกดำเนินคดีได้พูดคุยกัน แล้วเจาะหาต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริง จะนำไปสู่การสร้างความปรองดองสมานฉันท์หรือไม่ ?” การสร้างความปรองดองได้ กระบวนการแสวงหาความจริงเป็นสิ่งสำคัญ การจะได้รับความร่วมมือแสวงหาความจริง ต้องเปิดใจเข้าหากัน ยอมรับความแตกต่างทางอุดมการณ์และรับฟังกัน ซึ่งกระบวนการในแอฟริกาใต้ก็ใช้เวลา ของไทยก็ต้องใช้เวลา
แต่จะเริ่มอย่างไร ใครเริ่ม กระบวนการเดินหน้าอย่างไรที่จะไม่มีใครทำให้สะดุด ยังเป็นโจทย์ที่ไม่มีคำตอบ.
………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”