ถูกโฟกัสให้เป็นความหวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยภายใต้ตลาดธุรกิจยุคใหม่ สำหรับ “สินค้านวัตกรรม” แต่ปัญหาคือจะทำอย่างไรสินค้ากลุ่มนี้ของผู้ประกอบการจากไทยจึงจะมีโอกาสขายได้ และสามารถไปต่อได้ในตลาดระดับโลก ซึ่งเรื่องนี้มีแนวทางและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด ที่วันนี้คอลัมน์นี้มีข้อมูลนำมาให้พิจารณากัน
เกี่ยวกับแนวทางเรื่องนี้เป็นการเก็บตกมาจากงานTRIUP FAIR 2024 โดยได้มีการให้คำแนะนำถึงกลยุทธ์การขับเคลื่อนเพื่อทำให้สินค้านวัตกรรมไทยมีความ Mass มากยิ่งขึ้น โดยมีกลยุทธ์ที่สำคัญใน 2 เรื่องคือ ควรเริ่มต้นจากการ “ต้องสร้างแบรนด์” ให้สินค้านวัตกรรมไทยโดดเด่น และเป็นที่จดจำองผู้บริโภคให้ได้ เนื่องจากยุคนี้เป็นยุคที่มีสินค้านวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นใหม่ทุกวัน ที่เป็นความท้าทายของผู้ประกอบการไทยและทำให้เกิดคำถามว่า ถ้าสินค้านวัตกรรมไทยดี แต่ทำไมไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และต่อมาคือ “ต้องโชว์เหนือ” ด้วยการแสดงจุดเด่น หรือความแตกต่างของสินค้านวัตกรรมของไทย
ขณะที่ ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ได้สะท้อนถึงการทำตลาดให้กับสินค้านวัตกรรมไทยว่า หากดูภาพรวมที่ผ่านมาสินค้านวัตกรรมของไทยนั้น มีทั้งผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถผลักดันได้สำเร็จ และผลิตภัณฑ์ที่สามารถเติบโตได้ดี เช่น อาหาร หัตถกรรม ยา โดยสิ่งที่ทำให้สินค้ากลุ่มหลังนี้ประสบความสำเร็จเป็นเพราะเลือกที่จะเล่าเรื่อง หรือนำเสนอสินค้าในมุมที่ไทยนั้นโดดเด่นเหนือคู่แข่ง ขณะที่การเลือกกลยุทธ์เพื่อนำมาใช้นั้น นักวิชาการคนเดิมระบุว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องศึกษาคือ วิธีที่จะสื่อสารให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งการจะทำให้แบรนด์สินค้านวัตกรรมของไทยเป็นที่รู้จักในระดับโลก อาจจะต้องเริ่มต้นจากระดับภูมิภาคก่อน และภาษาที่ใช้สื่อสารอาจจะต้องมีการแปลเป็นภาษาถิ่นของแต่ละภูมิภาค เพื่อให้เกิดการขยายตลาดในวงกว้างมากขึ้น ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าสินค้านวัตกรรมไทยมีจุดอ่อนมาจากการให้ความสำคัญกับการทำ pre-product ในห้องทดลองหรือการวิจัยมากไป จนละเลยที่จะให้ความสำคัญกับงบประมาณที่ต้องใช้สื่อสารการตลาด เพราะงานวิจัยที่ออกจากห้องแลบขายตัวเองไม่ได้ แต่ต้องมีการใช้สื่อ และการตลาดร่วมด้วย และอยากฝากข้อคิดเรื่องนี้ไว้ว่า ตลาดไม่ใช่สถานที่ แต่คือลูกค้า ดังนั้นการทำตลาด อย่าเริ่มที่สินค้า แต่ให้เริ่มที่ลูกค้า
“การจะทำให้สินค้านวัตกรรมของเราให้ปังได้นั้น อาจใช้หลักคิด 4 ข้อ ได้แก่ 1.คิดถึงเขา ไม่ใช่เรา เพราะเราไม่ได้ซื้อของตัวเอง 2.ทำได้หรือไม่ โดยให้ดูว่าอะไรที่เราทำได้ ทำไม่ได้ 3.ทำสินค้าที่คู่แข่งทำยาก และ4.มากไปด้วยอารมณ์ โดยอย่ามากฟังก์ชั่น แต่ให้มากด้วยอิโมชั่นแทน” นี่เป็นคำแนะนำน่าสนใจ ที่เก็บตกมาจากงานTRIUP FAIR 2024 โดยแนวทางต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่เฉพาะสินค้านวัตกรรมที่จะนำไปใช้ได้ แต่เอสเอ็มอีสาขาอื่น ๆ ก็สามารถปรับใช้ได้เช่นกัน.
ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ [email protected]