“ภาพเมล็ดพันธุ์พืช ดอกไม้ ที่เป็นส่วนหนึ่งในความจริงตามธรรมชาติ ที่ย่อมมีการเจริญเติบโต ผลิบาน เปลี่ยนสี และร่วงหล่น ศิลปินเลือกใช้สีขาวและดำ เพื่อสื่อถึงความแตกต่าง รวมถึงเงาที่สื่อถึงความแตกต่าง แต่ไม่แตกแยก อีกทั้งสีแดงสื่อถึงชีวิตและพลังความแข็งแกร่งที่ซ่อนอยู่ภายในตัวตน เปรียบเสมือน “ความงามที่ซ่อนอยู่” ภายในธรรมชาติ แม้จะบกพร่อง ไม่สมบูรณ์ แต่ยังสวยงาม “…. ผลงานจาก นิทรรศการความงามที่ซ่อนอยู่ โดย ธีรนาฏ แปงสนิท เป็นหนึ่งใน 6 นิทรรศการในโครงการ BACC pop·up พื้นที่ศิลปะร่วมสมัยที่สร้างการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ศิลปะ  พื้นที่ที่เปิดให้ศิลปิน ผู้สนใจในงานศิลปะได้จัดแสดงและเข้าชมผลงาน

นอกจากนิทรรศการความงามที่ซ่อนอยู่ที่จัดแสดง ณ แมด, มันมัน ศรีนครินทร์ โครงการ BACC pop·up โดยหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครช่วงเวลานี้ถึงต้นเดือนพฤศจิกายน ในพื้นที่นี้จัดแสดงอีก 5 นิทรรศการฯ ทั้งนี้พาชมแนวคิด ชมผลงานสร้างสรรค์ โดยในพื้นที่ศิลปะห้องพีเพิลส์  

“After Julieta” โดย สุดาภรณ์ เตจา ศิลปินถอดสิ่งรำลึกความทรงจำสร้างร่องรอยของกาลเวลากับสื่อหลากหลายแขนง นิทรรศการ ‘Julieta’ ประกอบไปด้วยงานจิตรกรรม วิดีทัศน์ ภาพถ่าย และศิลปะจัดวาง อุทิศให้กับเพื่อนผู้จากไป ผลงานของศิลปินเชื้อเชิญบทสนทนาระหว่างคู่ตรงข้าม เบ่งบาน / แห้งเหี่ยว, ตัวตน/ ว่างเปล่า, พบเจอ/ จากลา ฯลฯ งานวิดีทัศน์และภาพถ่ายจำลองทวิภาคของเหตุการณ์สมมติ รูปทรง  ปริมาตร  พื้นที่ว่าง การพึ่งพากันและการเปลี่ยนแปลงของวัตถุ  งานจิตรกรรมนามธรรม ทิ้งร่องรอยของสัญญะชีวิต และเฉดอารมณ์อันหลากหลายระหว่างการเดินทางค้นหาสารัตถะ ตั้งแต่อาทิตย์อัสดงถึงรุ่งสาง ฯลฯ

“ความจริงสมมติ” โดย โสฬสวิภู สุดสงวนศิลปินสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมโดยตีความผลงานจิตรกรรมฝาผนังชิ้นเอกของขรัวอินโข่งอย่างสร้างสรรค์ ใช้เทคนิคเชิงเปรียบเทียบเพื่อแสดงสัญลักษณ์ ปรากฏการณ์ทางสังคมและธรรมชาติ เช่น สุริยุปราคา ฝนดาวตก ฯลฯ สะท้อนถึงความเชื่อและค่านิยมของสังคมร่วมสมัย

ส่วนพื้นที่ห้องนิทรรศการจัดแสดง นิทรรศการ  Electronic Poem โดย CMM Collective นิทรรศการเสียง ดนตรี และสื่อผสม นำเสนอโดยศิลปินกลุ่มผ่านความหมายที่แตกต่างกันในหลายชิ้นงาน ประกอบด้วย ผลงานการจัดวางเสียง ออดิโอวิชวล ออดิโอ วิชวลปฏิสัมพันธ์ และการแสดงเสียงและดนตรี  ภายใต้แนวคิดบทกวีอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการสังเคราะห์และสร้างสรรค์งาน

ไม่ใช่แค่แรงงาน: เสียงจากภาพในอุตสาหกรรมประมงไทย” และ “ เมื่อบ้านกลายเป็นสถานที่ทำงาน”  อีกสองนิทรรศการฯจัดแสดงต่อเนื่องมานับแต่ปลายเดือนกันยายนถึงวันนี้  โดยนิทรรศการไม่ใช่แค่แรงงาน ฯ จัดแสดงภาพถ่าย ถ่ายทอดการใช้ชีวิตประจำวัน กิจวัตรต่างๆ ให้ความสำคัญต่อการสร้างสังคมที่เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน

สำหรับนิทรรศการ  Work From Home  นำเสนอเรื่องราวการทำงานจากที่บ้านของเหล่าคนทำการผลิตที่บ้าน ผู้ประกอบอาชีพ เย็บผ้า ทอผ้า ฯลฯ ภาพสะท้อนวิถีชีวิต ปัญหา สภาพแวดล้อมในการทำงาน จัดแสดงผ่านภาพถ่าย Infographics การแสดงอุปกรณ์และเครื่องมือการประกอบอาชีพ และการเสวนา ฯลฯ อีกนิทรรศการฯชวน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ศิลปะ เรียนรู้ร่วมกัน.