ประสบความสำเร็จอย่างงดงามกับการจัดกิจกรรมประกวดสุดยอดผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (New Gen 2024) ระดับประเทศ ตามโครงการพัฒนาศักยภาพเยาวชนด้านผ้าไทยและงานหัตถกรรม หัตถศิลป์ สู่การเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน จัดขึ้นเพื่อเพิ่มทักษะและเสริมสร้างประสบการณ์ให้กับเยาวชน ทั้งยังพัฒนาศักยภาพเยาวชนให้สามารถเป็นผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP รุ่นใหม่ที่จะสืบสานและต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรม ให้เป็นไปตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยมีเยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกผลงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เข้าสู่การประกวดฯ ระดับประเทศ จำนวน 24 ราย/ชิ้นงาน จากผู้เข้าประกวด 101 ราย/ชิ้นงาน

ในการจัดกิจกรรมการประกวดรอบชิงชนะเลิศ ระดับประเทศ และพิธีมอบรางวัล ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องแอมเบอร์ 2-3 อาคารศูนย์แสดงสินค้า อิมแพ็ค เมืองทองธานี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้ นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยนางอรจิรา ศิริมงคล ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน โดยมี นายไพโรจน์ โสภาพร ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของโครงการฯรวมทั้งที่ปรึกษาโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ผู้เชี่ยวชาญและทรงคุณวุฒิ จากหลากหลายสาขาวิชาชีพเข้าร่วมงาน ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย นักออกแบบ ดีไซเนอร์ผ้าไทยที่มีชื่อเสียง ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์และการตลาดมาร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน และร่วมให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการประกวดซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกนี้ไว้อย่างน่าสนใจ นายศิริชัย ทหรานนท์ นักออกแบบและเจ้าของกิจการ แบรนด์เธียเตอร์ (Theatre) เล่าถึงความน่าสนใจของกิจกรรมในครั้งนี้ ซึ่งมาพร้อมโจทย์ New Gen ว่า คณะกรรมการต้องการผลงานที่ครบเครื่องทั้งไอเดียที่มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถต่อยอดผลงานคราฟที่อยู่ในเทรนด์ และให้ความสำคัญกับเรื่องของความยั่งยืน (Sustain) เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของคนเจนนี้

“เด็กๆ จะได้ฝึกตั้งแต่การทำมู้ด บอร์ด การพรีเซนต์ การลงมือทำชิ้นงานจริง ไปจนถึงการออกแบบแพคเกจจิ้ง การทำการตลาด การตั้งราคา คณะกรรมการต้องลงลึกไปตั้งแต่การทำมู้ด บอร์ด เพราะถ้าคอนเซปต์มาดี แต่สุดท้ายดีไซน์จริงออกมาให้กลมกล่อมไม่ได้เหมือนไอเดียที่ตั้งต้นไว้ก็ไม่มีประโยชน์ ส่วนเรื่องของดีไซน์ ก็ต้องลงรายละเอียดทุกขั้นตอน จบงานให้เรียบร้อย มีการเลือกใช้ผ้าที่ถูกต้องเหมาะสมกับการนำไปใช้งาน และสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ การเติมเรื่องการทำแบรนดิ้ง การสร้างสตอรี่ให้สินค้ามีมูลค่า และการทำตลาด เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้า”

นายศิริชัย ยังเสริมด้วยว่า ด้วยความที่โครงการนี้ มีผู้เข้าร่วมจากทุกภูมิภาค ทำให้เห็นความแตกต่างที่น่าสนใจว่า ในขณะที่เยาวชนในกรุงเทพฯ อาจจะมีความได้เปรียบเรื่องการเข้าถึงเทรนด์แฟชั่นและการเลือกใช้สี แต่เยาวชนที่กระจายอยู่ภูมิภาค จะโดดเด่นเรื่องความหลากหลายในการนำภูมิปัญญาหรือวัสดุในท้องถิ่นมาต่อยอดในการสร้างสรรค์ชิ้นงานให้น่าสนใจ ทำให้ผลงานที่มาร่วมแข่งขัน มีความหลากหลาย ตั้งแต่ เสื้อผ้า ผ้าผืน กระเป๋า ไปจนถึงเครื่องประดับ

ด้านนายธนาวุฒิ ธนสารวิมล ครีเอทีฟไดเรกเตอร์และผู้ก่อตั้งแบรนด์ TANDT ผู้มีส่วนร่วมในกิจกรรมตั้งแต่การให้ความรู้เยาวชน ก่อนจะคัดเลือกจนเหลือเพียง 24 ทีมสุดท้าย เสริมว่า สิ่งที่ประทับใจคือ การได้เห็นเยาวชนไทยเป็นน้ำที่ไม่เต็มแก้ว พร้อมนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปต่อยอดและพัฒนาจนออกมาเป็นชิ้นงานเก๋ๆ ได้มากมาย จากตอนแรกที่บางคนมีไอเดีย แต่เอามาต่อยอดในเชิงการค้าไม่ได้ หรือ ทำออกมาได้ไม่สมบูรณ์ มาถึงวันนี้ หลายคนนำกลับไปพัฒนาจนนำเสนอผลงานออกมาได้น่าสนใจ​​

นายธนาวุฒิ ยังกล่าวด้วยว่า จุดเด่นของโครงการนี้ คือ การเทรนนิ่งแบบครบเครื่อง นอกจากจะให้คนรุ่นใหม่มาสืบสานภูมิปัญญา ยังเปิดโอกาสให้ออกแบบชิ้นงานให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ด้วยกันเอง ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่ยากและท้าทายมากๆ อย่างไรก็ตาม นอกจากความยากในการหาไอเดีย อีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการจะต่อยอดภูมิปัญญาไทยให้ไปในระดับสากลได้ต้องสามารถสร้างเอกลักษณ์ให้ผลงานตัวเอง

“จะเห็นว่า สินค้าในแต่ละประเทศ แต่ละช็อป ล้วนมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน ดังนั้น ต่อให้จะเป็นของที่ผลิตจากหมู่บ้านเดียวกัน ภูมิปัญญาเดียวกัน ในฐานะเจ้าของผลงานก็ต้องพยายามสร้างซิกเนเจอร์ในชิ้นงานของตัวเอง​ รวมไปถึงการใช้ Story Telling เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้า ดังนั้นกิจกรรมนี้จึงตอบโจทย์ในการผลักดันให้เกิดทักษะและไอเดีย รวมทั้งยังมีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละแขนงมาให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด”

ขณะที่นางสาวสุชาตา ช่วงศรี หรือโอปอล Miss Universe Thailand 2024 กล่าวว่า เพิ่งได้มีโอกาสมาสวมใส่ผ้าไทย หลังจากได้รับตำแหน่ง รู้สึกประทับใจในความสวยงามของผ้าไทย ที่ไม่ว่าจะเป็นเนื้อผ้าหรือลวดลายล้วนมีรายละเอียดและความพิเศษมากมาย ดังนั้น จึงอยากนำเสน่ห์ของผ้าไทยไปสู่สายตาชาวโลก และเปลี่ยนค่านิยมที่หลายคนยังมองว่าผ้าไทยใส่ยาก คนใส่ต้องเป็นกลุ่มคนสูงวัย เพราะจริงๆ แล้ว ผ้าไทยสามารถสวมใส่ได้ทุกวัย ในหลากหลายโอกาส

“วันนี้ พอได้เห็นผลงานของคนรุ่นใหม่ รู้สึกประทับใจมาก ได้เห็นศักยภาพของคนรุ่นใหม่ โอปอลเชื่อว่า ทุกคนแค่ต้องการพื้นที่ในการแสดงให้เห็นว่าทุกคนมีศักยภาพของตัวเอง โอปอลดีใจที่เห็นคนรุ่นใหม่หันมาสนใจผ้าไทย และอยากจะสืบสาน โอปอลอยากเชิญชวนให้คนรุ่นใหม่ หันมาใช้ผ้าไทยเยอะๆ เพราะเดี๋ยวนี้ผ้าไทยมีตัวเลือกเยอะมาก อยากใส่เป็นเดรสหวานๆ หรือ ลุคเท่ๆ ก็มิกซ์แอนด์แมตช์ได้สนุก มีคัตติ้งหลายแบบ เพราะฉะนั้นใครที่ไม่เคยลอง อยากให้ลองเปิดใจ​ เทคนิคง่ายๆ คือ ให้ลองหาแบบที่ชอบหรือสีที่ชอบ ไม่ต้องเริ่มจากใส่แบบโททัลลุคก็ได้ อาจจะเริ่มจากการมิกซ์แอนด์แมตซ์บางชิ้น”

ในส่วนของเยาวชนที่ได้ร่วมกิจกรรม นายวรายุทธ สมปาน เจ้าของผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าจากเส้นใยขวดน้ำพลาสติก ที่คว้ารางวัลชนะเลิศจากกิจกรรมประกวดสุดยอดผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (New Gen 2024) กล่าวว่า ด้วยความมุ่งมั่นที่อยากจะผลักดันเรื่องการออกแบบสิ่งทอเหลือใช้จากพลาสติกชุมชน จึงตั้งใจนำนวัตกรรม Upcycling ในการแปรรูปขวดพลาสติกมาเป็นเส้นใย เพื่อสร้างสรรค์เป็นผลงาน จนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าจากเส้นใยขวดน้ำพลาสติกที่รักษ์โลก ตั้งแต่วัสดุไปจนถึงกระบวนการผลิต เพราะใช้วิธีย้อมสีเส้นทอแบบไม่ใช้น้ำ และตัดเย็บเสื้อผ้าโดยให้เหลือเศษผ้าที่เป็นขยะน้อยที่สุด โดยนำเศษไม้ที่เหลือมาทำเป็นลวดลายกุ๊นบนเสื้อ ที่คล้ายกับหนอนชาเขียว ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือบ้านเกิด

“การได้มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ เป็นโอกาสที่ดีมากๆ ตอนแรกผมไม่ได้หวังว่าจะได้รางวัล ตั้งใจมาเก็บเกี่ยวความรู้กลับไป ซึ่งบทเรียนสำคัญที่ผมได้ และคิดว่าจะนำไปต่อยอดคือ การทำแบรนด์ ต้องคิดถึงผู้บริโภค ที่ซื้อไปแล้วใช้งานได้จริง คุ้มค่ากับราคาที่จ่าย ดังนั้น เวลาจะผลิตสินค้าอะไรก็ตาม ต้องตอบให้ได้ก่อนว่า คนซื้อจะชอบของเราไหม สินค้าของเราจะเจาะกลุ่มไหน ซึ่งวันนี้ ผมได้คำตอบแล้วว่า ผมอยากกลับไปปั้นแบรนด์ที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้ารักษ์โลก ที่มองหาไอเท็มที่ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน และถ้าเป็นไปได้ ผมอยากต่อยอดภูมิปัญญาชาวบ้าน พร้อมกับชูนวัตกรรมที่แก้ปัญหาชุมชน เพื่อพัฒนาแบรนด์ไทยให้ไปในตลาดโลก”