แต่ไปๆ มาๆ รัฐบาลอิ๊งค์นี่ ทำอะไรไม่เด่น ..จัดตั้งรัฐบาลก็ช้าเพราะมัวชักเข้าชักออกพรรคร่วมรัฐบาล มัวตรวจสอบคุณสมบัติให้แคนดิเดตรัฐมนตรีผ่องแผ้วไร้ราคิน นโยบายที่ถูกนำเสนอมากๆ ก็แค่เรื่องแจกเงินหมื่นให้กลุ่มเปราะบางก่อน ( ส่วนกลุ่มแข็งแรงขึ้นมาหน่อยก็ตุ้มๆ ต่อมๆ ไปแล้วกันว่าจะเปลี่ยนการแจกอีกไหม เพราะเห็นยึกยักมาตั้งแต่สมัยนายกฯ เสี่ยนิด นายเศรษฐา ทวีสินแล้ว เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา นโยบายที่ว่าทำทันที กลายเป็นต้องกลับมารับฟังคนโน้นคนนี้ก่อน ) นโยบายอื่นอย่างเรื่องการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ที่โฆษณาซะเยอะก็เงียบ ข่าวว่าเงินตรงนี้เอาไปทำงบเปิดงานหรืองบประชาสัมพันธ์ซะเยอะ ซึ่งคิดว่า ประชาชนคงต้องการงบฝึกอบรมมากว่า

ตัวนายกฯอิ๊งค์เองก็ดูระแวงไปหมด ไม่ค่อยให้สัมภาษณ์อะไรมากนัก อาจเพราะอ่อนพรรษาทางการเมืองก็เลยกลัวจะพูดผิดจากที่เคยพูดผิดเรื่องเงินบาทแข็งดีต่อการส่งออกมาแล้ว หรือไม่พูดอะไรไม่เข้าหูใครเข้าก็โดน“นักร้อง”ตามราวีไม่จบ พูดผิดคำเดียวเอาไป 1 คำร้อง แบบว่า น่าสงสัยว่าคดีรก ป.ป.ช., กกต., ศาลแค่ไหนแล้ว และคือองค์กรอิสระเหล่านี้ก็ไม่ค่อย“ให้คุณ”รัฐบาลเท่าไร คือไม่ทำข้อมูลเผยแพร่บ้างว่า เรื่องของนักร้องเรื่องไหนที่ถูกจำหน่ายออกเพราะไม่มีมูลจนถึงขั้นเลอะเทอะ เสียดายที่จะให้มีความเห็นต่อผู้ร้องบ้างก็คงยาก เพราะไม่งั้นองค์กรเหล่านี้จะถูกมองว่า ไม่เป็นอิสระ

รัฐบาลขณะนี้มีสถานะแบบรัฐบาลระแวง  คือจะขับเคลื่อนอะไรสักหน่อยก็มีปัญหา ฝ่ายจับผิดประเทศนี้ทำงานแข็งขันกว่าฝ่ายบริหารอีก ก็น่าสงสัยว่า “ไปตบทรัพย์คนมีชนักติดหลัง พอเขาไม่จ่ายก็ตรวจสอบหรือไม่” จากกรณีคลิปเสียงปริศนาคุยกับ “บอสพอล ดิไอค่อน” ออกมาทำให้เชื่อได้ว่า “มีกระบวนการ ( หรือขบวนการก็ได้ถ้าทำเป็นหมู่คณะ ) ตบทรัพย์ เพื่อแลกกับการไม่ร้องเรียน” จากนี้ก็ควรต้องสังคายนากรรมาธิการ ( กมธ.) ในสภากันหน่อย ว่ามีไอ้อีหน้าไหนแอบอ้างตัวเป็นคณะทำงานไปตบทรัพย์ผู้อื่นบ้าง เห็นข่าวว่า มีคนประเภทนี้อยู่ใน กมธ.บางชุด

ย้อนกลับมาดู ทำไมรัฐบาลนี้ดูติดบ่วง ทำงานอะไรไม่สะดวกเลย .. ก็ต้องไล่ตั้งแต่สาเหตุของปัญหา ฟังๆ ดูหลายเสียง เขาบอกว่า “มาจากพ่อนายกฯนั่นแหละ”  ค่าที่อยากกลับบ้าน ทำให้อาจต้องไปสมยอมกับขั้วอำนาจเก่า หรือพรรคร่วมรัฐบาลเก่า ตระบัดสัตย์จัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล ทั้งที่แถลงจับมือกันไปแล้ว ..แต่ตอนเลือกนายกฯ ก็ยึกยักกันเหลือเกิน ตอนนั้น สว.ยังมีอำนาจเลือกนายกฯ ภูมิใจไทยกับ สว.เฉพาะกาลจะไม่โหวตให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกฯ โดยอ้างว่า “ไม่เอาพรรคที่มีพฤติกรรมในด้านไม่พึงประสงค์เกี่ยวกับสถาบัน” พฤติกรรมก็แนวๆ ไปช่วยเหลือประกันตัวม็อบทะลุอะไรต่างๆ และเรียกร้องให้แก้ ม.112

เพื่อไทยได้จังหวะบอกว่า “รอตั้งรัฐบาลตอน สว.เฉพาะกาลหมดอายุปี 67 ไม่ได้” เลยชิงจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ ( พปชร.) รวมไทยสร้างชาติ ( รทสช.) ซึ่งเป็นพรรคที่เสนอแกนนำ คสช.เก่าเป็นแคนดิเดตนายกฯ ทั้งสิ้น ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านั้นก็มีข่าวกระพือว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ยอมเดินทางกลับไทยเพื่อมารับโทษ เพราะเจ้าตัวเบื่ออยู่เมืองนอกอยากกลับมาเลี้ยงหลาน ..วันที่ 22 ส.ค.66 ก็เดินทางกลับมาจริง ๆ และต้องรับโทษภายหลังจากได้รับพระมหากรุณาธิคุณลดโทษแล้ว 1 ปี และในคืนที่นอนเรือนจำ อดีตนายกฯ แม้วก็ป่วยประดังเข้ามาทันที จนไปอยู่โรงพยาบาลตำรวจชั้น 14 ยาวนานเป็นประวัติการณ์แบบนักโทษคนอื่นมองตาปริบๆ คนจนมีสิทธิ์ไหมครับ..

พออดีตนายกฯทักษิณกลับมาบ้าน คราวนี้คำร้องทยอยมาเรื่อยๆ ให้ตรวจสอบ“อะไรเกิดขึ้นบนชั้น 14” ซึ่งสรุปสุดท้ายไม่รู้จะเหมือนคดีบอสวรยุทธหรือไม่ ที่เอาผิดตัวต้นเรื่องไม่ได้ แต่คนอื่นที่เกี่ยวข้องผิดเป็นหางว่าว .. มีการขู่จะร้องโน่นร้องนี่หากมีการทำโครงการของรัฐบาล โดยเฉพาะเงินดิจิทัลวอลเลต จะร้องศาลว่า ขัด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังรัฐที่จะกู้มาแจก ส่วนเรื่องทักษิณครอบงำพรรคเพื่อไทยนี่ร้องกันมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว หลายกรรมหลายวาระ

ต่อมา เกิดเหตุฟ้าผ่า นายกฯเสี่ยนิด เศรษฐา ทวีสิน ถูกศาลวินิจฉัยว่า ขาดคุณธรรมจริยธรรม ลักษณะขัดต่อรัฐธรรมนูญ จากการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน อดีต“ทนายถุงขนม”ที่เคยถูกศาลสั่งจำคุกเป็นรัฐมนตรี ..เรื่องนี้ก็มีผีปล่อยข่าวว่า “มีคนไปขอกับนายกฯแม้วเพราะอยากล้างมลทิน” ซึ่งถ้าจริง ก็เป็นผลจากอดีตนายกฯ แม้วอีกเรื่อง ..ต่อมา เมื่อเลือกนายกฯ คนใหม่  ก็มีผีปล่อยข่าวลอยมาอีกว่า “อดีตนายกฯแม้วไม่ถูกกับบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ( พปชร.)” ซึ่งความไม่ถูกกันนี่แสดงให้เห็นบ้างอย่างตอนอดีตนายกฯแม้วจัดรายการกับกลุ่มแคร์ ( กลุ่มนายภูมิธรรม เวชยชัยเดิม ) ในคลับเฮาส์ จิกกัดบิ๊กป้อมบ้าง

พอไม่ถูกกันก็เลยถีบพรรค พปชร.ออก ด้วยเหตุผลว่า “หัวหน้าพรรคทำไม่เหมาะสม ไม่ยอมมาโหวตนายกฯ ให้พรรคเพื่อไทย” ซึ่งในวันโหวตนายกฯ ภาพคนแพ้ยิ่งชัด พล.อ.ประวิตรฉุน ตีหัวนักข่าวที่ไปถามเรื่องโหวตนายกฯ สีหน้ากราดเกรี้ยว มันฟ้องว่ากำลังมีอารมณ์ และเอาจริง คือ เลื่อนงานพบนักกีฬาออกไปบ่ายก็ได้ เพราะมันโหวตนายกฯแค่ครึ่งวันเช้า การไม่ไปโหวตมันแสดงให้เห็นถึงการไม่ให้เกียรติพรรคใหญ่ ไม่ให้ความสำคัญกับงานสภา

หลังจากนั้น กระบวนการร้องเรียนนายกฯ- พรรคเพื่อไทย ตามมาเป็นหางว่าว ชนิดที่ว่า นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ นักร้องตัวพ่อ ( คนนี้แหละสารตั้งต้นร้องทักษิณขายหุ้นชินคอร์ปไม่ถูกต้อง ) แทบจะส่งคำร้องทุกสัปดาห์ ..อาการอกหักของคน พปชร.บางคนเหมือนเด็กๆ เช่น มี สส.อภิปรายโจมตีรัฐบาลว่า “ตั้ง ครม.เหมือนช่วยกันหุงข้าวแล้วไม่ให้เพื่อนร่วมกินด้วย” เล่นเอา เบนซ์ อรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทราขั้ว ร.อ.ธรรมนัสลุกขึ้นตอบโต้คน“พรรคเดียวกัน”

จนในที่สุด รัฐบาลติดบ่วงนักร้องไปอีกเมื่อมีข่าวว่า กกต.รับสอบ 6 พรรคร่วมรัฐบาลขณะนั้น ( ก็ต้องรวม พปชร.ด้วย ) กระทำการขัดต่อ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ที่ปล่อยคนนอกแทรกแซงในการจัดตั้งรัฐบาลที่บ้านจันทร์ส่องหล้าหรือไม่ ..ซึ่ง พปชร.คงไม่แคร์แล้วหากต้องถูกยุบพรรค เพราะดูสภาพตอนนี้ที่ สส.บ้านใหญ่ออกเกือบหมด ( มีข่าวว่า สส.กลุ่มมะขามหวาน ของนายสันติ พร้อมพัฒน์ และกลุ่มชากังราว ของนายวราเทพ รัตนากร ก็จะชิ่งไปเพื่อไทยในสมัยเลือกตั้งหน้า ) ดังนั้น เล่นการเมืองแบบคามิกาเซ่ไปเลย คือจะฆ่าศัตรูก็ตายไปด้วยกัน

ถ้ามองคนเป็นปัจจัย ก็สรุปว่า การเมืองไทยนี่อดีตนายกฯแม้วอยู่เบื้องหลังหลายเรื่องมาก แต่บางคนก็เชื่อว่า มีผู้มีอำนาจมากกว่าอยู่เบื้องหลัง โดยชี้ให้เห็นว่า “ใครล่ะที่ปล่อยให้อดีตนายกฯ กลับไทย แล้วปล่อยให้มีบทบาททางการเมือง” พอบีบคอถามคนพูดว่าหมายถึงใคร เขาก็ว่า “น่าจะต้องเป็นคนที่ยังมีอิทธิพลกับกองทัพ หรือคุมหน่วยมีอำนาจใช้ hard power ( อำนาจบังคับ ) อยู่ เพราะหากทักษิณทำอะไรไม่ชอบใจเขา ก็มีกระบวนการจัดการได้ ที่ให้กลับไทยมานี่ ก็เพราะให้อยู่ใกล้ๆ ตัว ใกล้ๆ มือ แถมลูกสาวเป็นนายกฯ พ่อก็ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง จะหนีก็ไม่ได้” ก็น่าสงสัยว่า เขาจะทำแบบนั้นเพื่ออะไร เจ้าของสมมุติฐานบอกแค่ว่า “ความจริงบางเรื่องมันเปิดเผยได้ต่อเมื่อถึงเวลาเท่านั้นแหละ”

อ่ะ ถ้างั้นเราไม่มองกันในแง่ตัวบุคคลว่าทำให้การเมืองติดหล่ม ก็มีคนมองว่า “มันติดหล่มเพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560” ตั้งแต่การออกบทเฉพาะกาล ให้ สว.เลือกนายกฯ ได้ 5 ปี เท่ากับว่า มี “พรรค สว.”ที่ถือเสียง 250 เสียง เหนือกว่าทุกพรรค แล้วพรรค สว.นี้ไม่เอาพรรคก้าวไกล ทำให้กระบวนการรวมเสียงข้างมากตั้งรัฐบาล“อย่างที่ควรเป็น” หรือ“แบบในฝันของหลายๆคน”  บิดเบี้ยว เพื่อไทยต้องการจัดตั้งรัฐบาลก็ต้องยอมกับพรรคที่มีหัวเป็นผู้มีอำนาจของ คสช.

กับดักชิ้นสำคัญคือ รัฐธรรมนูญมาตรา 219 ที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระจัดทำประมวลจริยธรรม “โดยรับฟังความเห็นของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย” และประมวลฯ ดังกล่าว ให้ใช้แก่ สส., สว., ครม. ปัญหาคือ “ในขณะที่จัดทำประมวลจริยธรรม ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา” ก็อารมณ์ประมาณประมวลนั้นออกโดยองค์กรอิสระ ซึ่งจริงๆ ม.219 นี่ไม่ห้าม สส., สว., ครม. กำหนดจริยธรรมเพิ่ม แต่ต้องไม่ขัดแย้งกับประมวลฯ ที่องค์กรอิสระทำ ..ซึ่งก็ไม่รู้ว่า ทำไมไม่มีใครไปร้องว่า ประมวลฯ ทำมาไม่ถูก เพราะไม่มี สส.,สว.ไปร่วม

ผลจากมาตรา 219 แสดงผลแบบจั๋งหนับตอนวินิจฉัยให้ “นายกฯเสี่ยนิด” เศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากไม่มีคุณธรรมจริยธรรม ทีนี้ จริยธรรมมันเป็นเรื่องของความเห็นของผู้ตีความ ไม่ใช่อะไรที่กำหนดเป็นลักษณะความผิดชัดเจนได้แบบการทุจริตคอร์รัปชั่น คราวนี้เกิดความวายป่วงกันไปหมด เพราะทำอะไรก็เข้าข่ายยื่นว่าขัดจริยธรรมได้ แล้วแต่จะเขียนสำนวนแพะชนแกะอย่างไรก็เขียนไปเหอะ ถ้านักการเมืองถูกตัดสินขาดจริยธรรมเมื่อไร เก้าอี้กระเด็นทันที .. จนเกิดข้อร้องเรียนจากฝ่ายการเมืองว่า “คนที่ได้รับการเลือกตั้งมา กลับถูกคนที่ได้รับการแต่งตั้งถอดถอน”  จริยธรรมนี่ไม่ได้มีมาตรฐานตายตัวในการตีความด้วย ขึ้นกับเสียงข้างมาก บางเรื่องอย่าง สส.บางคนแทบไม่เคยมาประชุม กับ สว.บางคนที่แต่งประวัติซะสวยหรู ก็ไม่รู้ใครยื่นสอบจริยธรรมหรือไม่ ถ้ายื่นแล้วทำไมช้า หลักฐานออกจะคาตา

เรื่องจริยธรรมกลายเป็นขนมหวานให้นักร้อง อะไรนิดอะไรหน่อย พูดผิดนิดหน่อยก็ยื่นหนังสือตรวจสอบ ๆๆๆ จนเห็นว่า ถ้าบางคดีรัฐบาลไม่ผิดน่าจะฟ้องกลับนักร้องให้หางจุกตูดบ้าง แต่ก็มีข่าวว่านักร้องพวกนี้“ค่าตัวแพง” เพราะมี“คนอกหัก”คอยสนับสนุนอยู่ ..ซึ่งทางแก้มันก็มีจริงๆ คือก็ไปแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราและกฎหมายลูกเสีย แต่กลายเป็นว่า พรรคร่วมรัฐบาลงอแงไม่อยากแก้ กลัวชาวบ้านด่าว่า “นักการเมืองก็มีแต่ทำเพื่อตัวเอง” ซึ่งจริงๆแล้วทั้งพรรครัฐบาลทั้งฝ่ายค้านต่างก็ได้รับผลกระทบจากประมวลฯ คิดว่า ก็สามัคคีเดินสายกันชี้แจงประชาชนถึงความจำเป็นสิ

หรือกลัว “ผู้อ่อนไหวทางจริยธรรม” จะเคลื่อนไหวอีกแบบม็อบ กปปส. แต่นาทีนี้ถ้าฝ่ายการเมืองประสานมือกัน จะช่วยจัดการปัญหาที่เป็นมรดก คสช.นี้ได้ 

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่