หลังจาก พล.อ.ฮุน มาเนต สืบทอดอำนาจจากสมเด็จฮุน เซน มานานกว่า 1 ปี เขายังไม่จัดงานแถลงข่าวอย่างเปิดเผย เพื่ออธิบายถึงวิธีรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ รวมถึงการสร้างสมดุลระหว่างจีนกับชาติตะวันตก แต่ในทางตรงกันข้าม สมเด็จฮุน เซน กลับแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาล ต่อผู้ติดตามบนสื่อสังคมออนไลน์หลายล้านคนเป็นประจำ

นักวิเคราะห์หลายคนกล่าวว่า สมเด็จฮุน เซน บิดาของ พล.อ.ฮุน มาเนต ยังคงเป็นผู้มีอำนาจอยู่เบื้องหลังในกัมพูชา แม้เขาลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการเมื่อปีที่แล้วก็ตาม หลังปกครองประเทศมาเป็นเวลาเกือบ 40 ปี และส่งไม้ต่อให้กับบุตรชายคนโต ภายหลังการชนะการเลือกตั้งทั่วไปอย่างถล่มทลาย โดยไม่มีฝ่ายค้าน

เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา สมเด็จฮุน เซน ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา ซึ่งเป็นตำแหน่งพิธีการที่มีสถานะอยู่ในอันดับสอง รองจากพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สมเด็จฮุน เซน ก็เป็นเจ้าภาพต้อนรับบุคคลสำคัญจากต่างประเทศทุกคน ที่เดินทางเยือนกัมพูชา เช่นเดียวกับที่เขาทำเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ไม่กี่เดือนต่อมา สมเด็จฮุน เซน กล่าวอย่างเปิดเผยว่า เขาเป็นผู้มีอำนาจมาโดยตลอด อีกทั้งชีวิตทางการเมืองของเขายังไม่สิ้นสุดลง และเขาเป็นถึงบิดาของ พล.อ.ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชาคนปัจจุบันด้วย

สิ่งหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า สมเด็จฮุน เซน ยังคงมีอำนาจในกัมพูชา คือในคลิปวิดีโอหนึ่งเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งสมเด็จฮุน เซน ครุ่นคิดพิจารณาว่า พิธีวางศิลาฤกษ์โครงการขุดคลองฟูนันเตโช มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ สามารถเลื่อนกำหนดการให้เร็วขึ้นจากช่วงปลายปี ตามที่รัฐบาลพนมเปญเสนอไว้ได้หรือไม่ และท้ายที่สุด พิธีดังกล่าวก็ถูกเลื่อนมาเป็นวันที่ 5 ส.ค. ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดอายุครบ 72 ปี ของสมเด็จฮุน เซน

ทั้งนี้ สมเด็จฮุน เซน ซึ่งเป็นอดีตสมาชิกกลุ่มเขมรแดง ขึ้นสู่อำนาจเมื่อปี 2528 และช่วยทำให้กัมพูชาที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากสงครามกลางเมือง และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ มีความทันสมัยยิ่งขึ้น และเขาถือเป็นผู้นำที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในเอเชีย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นสูงที่จงรักภักดี และการที่ฝ่ายค้านเกือบทั้งหมดถูกปราบปรามโดยรัฐ และศาลที่เล่นการเมือง

ด้านนายเซบาสเตียน สเตรนจิโอ ผู้เขียนหนังสือ “กัมพูชาของสมเด็จฮุน เซน” (Hun Sen’s Cambodia” กล่าวว่า พล.อ.ฮุน มาเนต เป็นตัวแทนของ “หน้าใหม่ในระบบเก่า” เนื่องจากในช่วงปีที่ผ่านมา สมเด็จฮุน เซน ยังคงเป็นบุคคลทางการเมืองที่ทรงอำนาจและทรงอิทธิพลมากที่สุดในกัมพูชา ตลอดจนมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจอย่างเห็นได้ชัด

พล.อ.ฮุน มาเนต ได้รับการเตรียมความพร้อมให้ดำรงตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองมานานหลายปี โดยบิดาของตนเอง อีกทั้งบุคลิกลักษณะ และการตอบสนองในบางประเด็น เช่น สิทธิมนุษยชน และการทุจริตคอร์รัปชัน ก็แตกต่างจากสมเด็จฮุน เซน อย่างสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์กล่าวว่า พล.อ.ฮุน มาเนต เผชิญกับความท้าทายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ, พลวัตภายในพรรค และการสร้างสมดุลความสัมพันธ์ระหว่างจีน กับประเทศตะวันตก ซึ่งมันยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า เขาจะสามารถรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ โดยไม่พึ่งพาสมเด็จฮุน เซน มากเกินไปได้หรือไม่.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP