เรียนคุณหมอ ดร.โอ สุขุมวิท 51 ที่นับถือ

ผมอายุ 74 ปี ติดตามอ่านคอลัมน์เสพสมบ่มิสมอยู่เป็นประจำทุกวัน สนใจคอลัมน์นี้มาก เพราะให้ความรู้และเข้าใจดีในการตอบปัญหาของคุณหมอ ตอนนี้มีปัญหาอยากจะเรียนถามคุณหมอ คือผมป่วยเป็นโรคหัวใจ เป็นมาได้เกือบ 4 ปีแล้ว อยากทราบว่าคนที่เป็นโรคหัวใจควรจะดูแลตัวเองอย่างไร และขอมีความสุขทางเพศบ้างจะทำอย่างไร อาหารควรรับประทานอะไร อะไรที่ไม่ควรกิน อาการของโรคหัวใจเป็นอย่างไร และมีวิธีไหนที่จะทำให้โรคหัวใจนั้นหายได้หรืออาการเบาลง

ด้วยความนับถือ

แซม
ตอบ แซม

ผู้ป่วยโรคหัวใจสามารถจำแนกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1.กลุ่มโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด มักพบอาการลิ้นหัวใจรั่วและผนังกั้นหัวใจรั่ว ซึ่งสามารถตรวจพบและทำการรักษาได้ตั้งแต่แรกเกิด 2.กลุ่มโรคลิ้นหัวใจพิการ เกิดจากพังผืดหรือหินปูนยึดเกาะลิ้นหัวใจ ทำให้หัวใจไม่สามารถเปิดปิดได้ แบ่งได้เป็นโรคลิ้นหัวใจรูมาติก พบมากในช่วงอายุ 25-30 ปี และโรคลิ้นหัวใจเสื่อมสภาพ พบมากในคนสูงอายุ สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาไปจนถึงผ่าตัดเปลี่ยน หรือซ่อมลิ้นหัวใจ ซึ่งขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค 3.กลุ่มโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมีจำนวนมากถึง 75% ของโรคหัวใจทั้งหมด เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากที่สุด เป็นสาเหตุของหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน และหัวใจล้มเหลว

สัญญาณเตือนของโรคหัวใจตีบ ได้แก่ อาการเหนื่อยง่าย มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเวลาออกกำลังกายหรือหัวใจทำงานหนัก โดยจะมีลักษณะเจ็บร้าวเหมือนถูกเข็มแทงจากกลางอกไปยังด้านซ้าย อาจเจ็บร้าวไปถึงรักแร้ แขน ต้นคอ หลัง ขากรรไกร ซึ่งระยะเวลาของอาการเจ็บแน่นเพราะหัวใจขาดเลือดจะไม่เกิน 15 นาที แล้วหายไปเอง การดูแลสุขภาพของผู้ที่เป็นโรคหัวใจเพื่อป้องกันการเกิดหัวใจตีบควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สิ่งที่สำคัญคือเรื่องการรับประทานอาหาร ควรจำกัดอาหารที่มีไขมันที่เป็นอันตรายและคอเลสเตอรอลด้วยการงดกินอาหารประเภทเนย มาการีน ครีม เกรวี่ มัฟฟิน วาฟเฟิล โดนัท บิสกิต ขนมเค้ก พาย เส้นหมี่ที่ทำจากไข่ ข้าวโพดอบเนย ปาท่องโก๋ งดการใช้น้ำมันหมู น้ำมันปาล์ม แต่เลือกใช้น้ำมันพืช เช่น น้ำมันมะกอก เป็นต้น

ควรเลือกนมพร่องมันเนย นมสูตรไขมันต่ำ งดกินเนื้อสัตว์ติดมัน ส่วนที่เป็นหนัง เครื่องในสัตว์ หอยแครง หมึก ไข่แดง ควรรับประทานเฉพาะไข่ขาว รับประทานปลา โดยเฉพาะปลาทะเล เช่นปลาแซลมอน ควรบริโภคผัก ผลไม้ให้มาก ๆ ไม่ว่าจะสดหรือแช่เย็น ควรกินข้าวซ้อมมือ หรือข้าวแดง ข้าวโอ๊ต บดหยาบ เป็นต้น ออกกำลังกายอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง อย่างต่ำครั้งละ 30 นาที หลีกเลี่ยงภาวะเครียด งดสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การรักษาโรคหัวใจนอกจากการกินยาแล้ว มีอีกหลายวิธี อาทิการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ หรือการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนหรือขดลวด ซึ่งคุณสามารถปรึกษาแพทย์ที่ทำการรักษาคุณเพื่อขอคำแนะนำได้ คนไข้วัย 75 ปี ได้รับการรักษาด้านหัวใจแล้วก็ยังสามารถมีความสุขทางเพศได้ 1-4 ครั้งต่อเดือนขึ้นกับการออกกำลังกายของแต่ละคน พลังใจจากสุขเพศจะช่วยให้มีพลังที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัดคือมีทุกข์ด้านหนึ่งก็ขอมีความสุขอีกด้านเสริมชดเชยบ้าง.

ดร.โอ สุขุมวิท 51