การติดตั้งระบบทาด เกิดขึ้นในขณะที่อิสราเอลเตรียมตอบโต้อิหร่าน ซึ่งโจมตีด้วยขีปนาวุธพิสัยไกลครั้งใหญ่ เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา และระบบป้องกันขีปนาวุธดังกล่าว จะเสริมสร้างการป้องกันของอิสราเอล ในกรณีที่รัฐบาลเตหะรานโต้ตอบกลับอีกครั้ง

อนึ่ง อิสราเอลมุ่งเป้าไปยังบรรดาผู้นำของกลุ่มต่าง ๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ และกลุ่มฮามาส ท่ามกลางสงครามในฉนวนกาซา อีกทั้งรัฐบาลเทลอาวีฟ ยังถูกกล่าหาว่า สังหารผู้นำทางการเมืองของกลุ่มฮามาส บนแผ่นดินของอิหร่าน ซึ่งรัฐบาลเตหะรานอ้างว่า เป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลที่โจมตีอิสราเอลในเดือนนี้

แม้เรือรบและเครื่องบินรบของสหรัฐ ช่วยปกป้องอิสราเอลจากการโจมตีของอิหร่าน แต่การติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธจะทำให้ทหารสหรัฐประมาณ 100 นาย ต้องประจำการภาคพื้นดินในอิสราเอล และเผชิญกับการเสี่ยงอันตรายโดยตรงมากขึ้นเช่นกัน

“การส่งทหารสหรัฐไปประจำการในอิสราเอลอย่างเหมาะสม แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลวอชิงตันมีความมุ่งมั่นอย่างเห็นได้ชัดและจริงจัง ต่อความมั่นคงของอิสราเอล และจะต่อสู้หากมีความจำเป็น” นายราฟาเอล โคเฮน นักรัฐศาสตร์อาวุโสจากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร “แรนด์ คอร์ปอเรชัน” กล่าว

นอกจากนี้ โคเฮน ระบุเพิ่มเติมว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ น่าจะหวังว่าความเคลื่อนไหวครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มการป้องปรามในการเผชิญหน้ากับอิหร่าน และสร้างความมั่นใจให้กับชาวอิสราเอล ตลอดจนทำให้รัฐบาลวอชิงตันมีอำนาจมากขึ้น ในการกำหนดแนวทางตอบสนองของอิสราเอล ต่อการโจมตีของอิหร่าน เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ระบบทาด ซึ่งได้รับการพัฒนาเมื่อช่วงทศวรรษที่ 1990 และถูกใช้งานเป็นครั้งแรกในปี 2551 ดำเนินการโดยทหาร 95 นาย และประกอบด้วยเครื่องยิงที่ติดตั้งบนรถบรรทุก 6 เครื่อง พร้อมกับอุปกรณ์สกัดกั้นอีก 8 ตัวต่อเครื่อง รวมถึงเรดาร์ และระบบควบคุมการยิง ตามข้อมูลของสำนักงานวิจัยแห่งสภาคองเกรสของสหรัฐ (ซีอาร์เอส)

ขณะที่ นายทอม คาราโก ผู้อำนวยการโครงการป้องกันขีปนาวุธ จากศูนย์การศึกษายุทธศาสตร์และระหว่างประเทศ (ซีเอสไอเอส) กล่าวว่า ระบบทาด เป็นเป้าหมายที่มีราคาแพงมาก และจำเป็นต้องได้รับการปกป้องเป็นอย่างดี เนื่องจากสหรัฐมีระบบนี้ในจำนวนจำกัด และไม่ได้ผลิตกระสุนทาดมากนักในขณะนี้

“การติดตั้งระบบทาดในอิสราเอล เพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพอย่างเห็นได้ชัด แต่มันก็มาพร้อมกับความเสี่ยงเชิงยุทธศาสตร์บางประการ รวมถึงต้นทุนในการดำเนินการ และโอกาสบางอย่างด้วย” คาราโก กล่าวทิ้งท้าย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP