ทั้งนี้ กรณีนักฟุตบอลโดนฟ้าผ่านั้น เมื่อต้นปี ช่วงเดือน ก.พ. 2567 ก็เคยเกิดขึ้นกับนักฟุตบอลอินโดนีเซีย ซึ่งถูกฟ้าผ่าขณะทำการแข่งขันกลางสนาม โดยทั้ง 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้…

ตอกย้ำ “อันตรายภัยธรรมชาติ”

บ่งชี้ว่า “ภัยฟ้าผ่านับวันยิ่งร้าย”

อย่าได้ประมาทภัยนี้ “ต้องระวัง!!”

กับการระวังนั้น…ก็มีวิธีป้องกันตัวไม่ให้ถูกฟ้าผ่า แต่ก่อนอื่นมาพลิกแฟ้มทำความเข้าใจกันก่อนว่า “ฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้อย่างไร?” โดย “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลโดย ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ประธานชมรมคนรักมวลเมฆ ที่อธิบายถึง “ปรากฏการณ์ฟ้าผ่า” ไว้ผ่านบทความ “ฟ้าผ่า…เรื่องที่คุณต้องรู้” ซึ่งข้อมูลสรุปโดยสังเขปนั้นมีว่า… ฟ้าผ่าเป็นการปลดปล่อยประจุไฟฟ้าในอากาศ ที่อาจเกิดร่วมกับปรากฏการณ์อื่น ๆ เช่น ฝนฟ้าคะนอง หรือพายุฝุ่น ภูเขาไฟระเบิด

อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ฟ้าผ่าที่เกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่นั้นมักเกิดจากการปลดปล่อยประจุไฟฟ้าออกจาก “เมฆฝนฟ้าคะนอง (thundercloud)” หรือที่นักอุตุนิยมวิทยาเรียกว่า “เมฆคิวมูโลนิมบัส (cumulonimbus)”ทั้งนี้ ถ้ายึดหลักการว่า…ฟ้าผ่าจะเชื่อมโยงบริเวณ 2 แห่งที่มีประจุต่างกัน ก็จะพบ รูปแบบฟ้าผ่า ได้อย่างน้อย 4 แบบ ได้แก่… ฟ้าผ่าภายในก้อนเมฆ ซึ่งเป็นรูปแบบที่เกิดมากที่สุด, ฟ้าผ่าจากเมฆก้อนหนึ่งไปยังเมฆอีกก้อนหนึ่ง, ฟ้าผ่าจากฐานเมฆลงสู่พื้น และ ฟ้าผ่าจากยอดเมฆลงสู่พื้น ซึ่งก็เป็นรูปแบบของฟ้าผ่าที่มักจะพบได้บ่อย ๆ …ทาง ดร.บัญชาเคยให้ข้อมูลไว้

การเกิด“ฟ้าผ่า”นั้นมีหลายรูปแบบ…

ที่แน่ ๆ “ต้องระวังยามฝนฟ้าคะนอง!!”

และเกี่ยวกับ “ภัยฟ้าผ่า” นั้น…ภัยรูปแบบนี้ก็มีข้อมูลที่ควรต้องสนใจจากทาง สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ที่ได้เคยให้ข้อมูลแก่ประชาชนไว้ หลักใหญ่ใจความมีว่า… แม้ว่าจะป้องกันการเกิดฟ้าผ่าไม่ได้ แต่การ “หลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะถูกฟ้าผ่า” นั้นก็ “มีแนวทางที่สามารถทำได้” โดยทาง สพฉ.ได้ย้ำเตือนไว้ว่า…ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดฟ้าผ่าควรต้องฟังประกาศเตือนภัย ควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นการเตรียมตัวเบื้องต้นให้ปลอดภัย และ…

ควรศึกษา “ข้อมูลการป้องกันภัย” นี้

เพื่อใช้ป้องกันตนเอง และรวมถึงผู้อื่น

ข้อมูลแนวทาง“ป้องกันตัวจากฟ้าฝ่า”ที่ทาง สพฉ. ได้ให้ไว้นั้น มีดังนี้คือ… เมื่อเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง กรณีอยู่ในที่โล่ง ให้หาที่หลบที่ปลอดภัย หลีกเลี่ยงการหลบบริเวณใต้ต้นไม้ หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง หรือไม่ได้ยึดติดกับพื้นแน่นหนา เพื่อป้องกันอันตรายจากการถูกล้มทับ ถ้าหากหาที่หลบไม่ได้ให้หมอบนั่งยอง ๆ ให้ตัวอยู่ต่ำที่สุด และให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งนำไฟฟ้าได้ทุกชนิด รวมถึงให้พยายามหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้สายไฟ หรือสัมผัสน้ำ

ตลอดจนควร หลีกเลี่ยงจากจุดที่ไฟฟ้าสามารถวิ่งเข้าถึง เช่น ผ่านทางสายไฟ สายอากาศ สายโทรศัพท์ และท่อน้ำ เช่น อ่างล้างหน้า ฝักบัว และเมื่อจะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ควรถอดสายไฟ สายอากาศ สายโมเด็ม สายโทรศัพท์ เมื่อเกิดฝนฟ้าคะนองอย่าใช้โทรศัพท์ ซึ่งกับโทรศัพท์บ้านนั้นกระแสไฟฟ้าก็สามารถวิ่งมาตามสายจนทำอันตรายกับผู้ใช้ได้

กรณีอยู่ในรถ เมื่อเกิดฝนฟ้าคะนองรุนแรง ฟ้าผ่า ควรหาที่จอดรถ ไม่จอดรถใต้ต้นไม้ใหญ่ อย่าสัมผัสโดนส่วนที่เป็นโลหะ ให้ปิดหน้าต่างรถทุกบาน และ อย่าใช้โทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์แฮนด์ฟรีในขณะที่ฝนตกโดยเด็ดขาด

นอกจากการเลี่ยงภัยฟ้าผ่าแล้ว กรณีพบผู้ประสบภัยฟ้าผ่า ก็มี “แนวทางวิธีช่วยชีวิตในเบื้องต้น” ดังนี้คือ… หากพบผู้ถูกฟ้าผ่าควรรีบ แจ้งสายด่วน 1669 ทันที และ สังเกตบริเวณที่เกิดเหตุว่ายังมีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าอีกหรือไม่ ถ้ามีต้องเคลื่อนย้ายผู้ถูกฟ้าผ่าสู่ตำแหน่งที่ปลอดภัยเพื่อป้องกันฟ้าผ่าซ้ำ ซึ่งเมื่อพบผู้ถูกฟ้าผ่า…ผู้เข้าช่วยปฐมพยาบาลสามารถแตะต้องตัวผู้ถูกฟ้าผ่าได้ เนื่องจากผู้ที่ถูกฟ้าผ่าจะไม่มีกระแสไฟฟ้าหลงเหลืออยู่ในตัว จึงไม่ต้องกังวลจะถูกไฟฟ้าดูด

กรณีผู้ประสบภัยฟ้าผ่าหมดสติ การช่วยเหลือนั้น… เริ่มจากสังเกตอาการ ถ้าริมผีปากเขียว สีหน้าซีดเขียวคล้ำ ทรวงอกเคลื่อนไหวน้อยมากหรือไม่เคลื่อนไหว คลำชีพจรไม่พบ ต้องรีบให้มีการช่วยเหลือด้วยการทำ CPR ทันที!!

นี่เป็นวิธีป้องกันตัว-ช่วยชีวิต…ฟ้าผ่า”

ทั้งนี้ ประเทศไทยในระยะนี้แม้จะเป็นช่วงปลายฤดูฝนสู่ต้นฤดูหนาว แต่ “พายุฝนฟ้าคะนอง”ยังเกิดขึ้นทั่วไป ซึ่งการระวังภัยธรรมชาติก็ต้องรวมถึง “ระวังภัยฟ้าผ่า” นอกจากจะต้องระมัดระวังดูแลรักษาสุขภาพจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงแล้ว ก็ยังต้อง “หลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะถูกฟ้าผ่า” ด้วย ซึ่งคำแนะนำที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำข้อมูลมาสะท้อนต่อไว้ข้างต้นเป็น “คู่มือป้องกันชีวิต” ได้ โดย “ศึกษาไว้-ตระหนักไว้…ย่อมจะมีประโยชน์” ในยุคที่ภัยธรรมชาติต่าง ๆ ดุมากขึ้นเรื่อย ๆ

กับ “ภัยฟ้าผ่า” นั้นก็ “อย่าได้ประมาท”

ย้ำว่าภัยฟ้าผ่านี่ “ก่ออันตรายร้ายแรง”

ไม่เคยสาบานให้ฟ้าผ่า…ก็ “ต้องกลัว”.

ทีมสกู๊ปเดลินิวส์