ทั้งนี้ เอพีจีก่อตั้งเมื่อปี 2540 เป็นส่วนหนึ่งของกรอบการทำงาน โดยคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน ในระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอฟเอทีเอฟ ( Financial Action Task Force – FATF ) เพื่อขับเคลื่อนมาตรการตามมาตรฐานสากล ในการต่อต้านการฟอกเงิน การต่อสู้กับการมอบความสนับสนุนทางการเงินให้กับกลุ่มก่อการร้าย และเอฟเอทีเอฟร่วมสนับสนุนการดำเนินงาน ป้องกันการแพร่กระจายของอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง

มีรายงานด้วยว่า เอพีจีเคยเตือนเกาหลีเหนือในเรื่องนี้แล้วหลายครั้ง ว่าสุ่มเสี่ยงสูญเสียสถานะผู้สังเกตการณ์ หากยังคงปฏิเสธให้ความร่วมมือ ซึ่งรวมถึงการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน และการนำเสนอรายงานตามระยะเวลาที่กำหนด เกี่ยวกับการขับเคลื่อนมาตรการต่อต้านการฟอกเงินภายในประเทศของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศเกาหลีเหนือออกแถลงการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ ประณามเอพีจีเป็น “เครื่องมือทางการเมือง” ของตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐ

ยอนกลับไปเมื่อเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา เกาหลีเหนือแสดงความไม่พอใจอย่างหนัก จากการที่ต้องกลับเข้าไปอยู่ในบัญชีรายชื่อ “ประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือกับความพยายามต่อต้านการก่อการร้าย” ของสหรัฐ โดยรัฐบาลเปียงยางประณามท่าทีดังกล่าวของรัฐบาลวอชิงตันว่า “เลือกปฏิบัติ”

กระนั้น เกาหลีเหนือกล่าวเองด้วยว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลเปียงยางกับสหรัฐ “ไม่เป็นมิตร” ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีความเป็นไปได้ ที่ทั้งสองประเทศจะมีความร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับด้านใดก็ตาม

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นกรณีล่าสุด ของการที่เกาหลีเหนือปฏิเสธให้ความร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศ และยังคงใช้ประเด็น “การคุกคาม” ของเกาหลีใต้และฝ่ายตะวันตกมาเป็นข้ออ้าง แม้เกาหลีเหนือยังคงเป็นสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศและกรอบความร่วมมือนานาชาติมากมาย หนึ่งในนั้น คือการเป็นสมาชิกสหประชาชาติ ( ยูเอ็น )

จวบจนถึงปัจจุบัน การที่รัฐบาลเปียงยางแทบไม่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ของยูเอ็น และหน่วยงานพันธมิตรอีกหลายแห่ง เดินทางเข้าไปในเกาหลีเหนือได้อย่างเสรี เพื่อสำรวจสถานการณ์ปัจจุบัน อันจะเป็นประโยชน์แก่การเตรียม มอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้แก่พลเมืองเกาหลีเหนือในอนาคต มีแต่จะเป็นผลร้ายให้แก่ภาพลักษณ์และคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศ

ขณะเดียวกัน การที่เกาหลีเหนือยังคงละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ( ยูเอ็นเอสซี ) ยิ่งเป็นการโดดดี่ยวตัวเองออกจากประชาคมระหว่างประเทศ มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

นอกจากนี้ หากรัฐบาลเปียงยางหวังพึ่งพิงเฉพาะประเทศบางแห่ง ซึ่งตนเองถือเป็น “พันธมิตรที่จริงใจ” ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาคบนโลก ความเป็นพันธมิตร “ที่ยั่งยืนและพร้อมทุ่มเท” ยากที่จะหาได้ในช่วงเวลาแบบนี้ โดยต่างฝ่ายต่างต้องมี “ผลประโยชน์ต่างตอบแทน” เพื่อแลกเปลี่ยนกันเท่านั้น.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP