อนึ่ง ความตึงเครียดระหว่างสองประเทศ คงอยู่มานานหลายสิบปี แต่ดูเหมือนว่ามันจะทวีความรุนแรงขึ้นอีกครั้ง นับตั้งแต่ประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล ผู้นำเกาหลีใต้ ขึ้นสู่อำนาจเมื่อปี 2565 แทนที่รัฐบาลฝ่ายซ้ายของอดีตประธานาธิบดีมุน แจ-อิน และนโยบายเข้าหารัฐบาลเปียงยาง

ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่อย่างต่อเนื่อง ยุนได้กระตุ้นความโกรธเคืองในเกาหลีเหนือ เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา ระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์เนื่องในวันกองทัพเกาหลีใต้ ซึ่งเขากล่าวเตือนว่า นายคิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ อาจเผชิญกับ “จุดจบของระบอบการปกครอง” หากรัฐบาลเปียงยางพยายามใช้อาวุธนิวเคลียร์

ทั้งนี้ คำเตือนของยุน มีขึ้นเพียงสัปดาห์เศษ หลังน.ส.คิม โย-จอง น้องสาวของนายคิม จอง-อึน ยืนกรานว่า ระบอบการปกครองของเกาหลีเหนือ จะขยายวงกว้าง “อย่างต่อเนื่องและไร้ขีดจำกัด” และรัฐบาลเปียงยางจะเพิ่มการป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ต่อสิ่งที่เธออ้างว่าเป็นภัยคุกคามจากสหรัฐ

ส่วนนายคิม จอง-อึน เรียกยุนว่าเป็น “หุ่นเชิดของสหรัฐ” และเน้นย้ำอย่างหนักแน่นว่า เกาหลีเหนือจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ “โดยไม่ลังเล” หากเกาหลีใต้หรือสหรัฐ พยายามใช้กำลังกับรัฐบาลเปียงยาง

ด้านนางคิม ซอง-คยอง ศาสตราจารย์ด้านสังคมและวัฒนธรรมเกาหลีเหนือ จากมหาวิทยาลัยเกาหลีเหนือศึกษา ในกรุงโซล กล่าวว่า สถานการณ์ในปัจจุบัน “น่ากังวลมาก”

“ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายต่างแสดงออกอย่างชัดเจน และยั่วยุอีกฝ่ายด้วยการข่มขู่ แต่เกาหลีเหนือมีขีดความสามารถด้านนิวเคลียร์อย่างเห็นได้ชัด และในตอนนี้ พวกเขากำลังขู่ว่าจะใช้มัน” นางคิม ซอง-คยอง กล่าวเพิ่มเติม “นอกจากนี้ เกาหลีเหนือยังมีหลายสิ่งเปลี่ยนไป นับตั้งแต่นายคิม จอง-อึน แก้ไขรัฐธรรนูญของประเทศ เพื่อกำหนดให้เกาหลีใต้เป็นประเทศศัตรู รวมถึงระบุว่าไม่มีความสัมพันธ์ทวิภาคีแบบพิเศษ และตัดเป้าหมายก่อนหน้านี้ในการรวมชาติ”

ยิ่งไปกว่านั้น นางคิม ซอง-คยอง ยังมองว่า คำขู่ของเกาหลีเหนือ ถือเป็นข้อความส่วนหนึ่งที่ส่งถึงสหรัฐ ก่อนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 5 พ.ย. นี้ แม้เกาหลีเหนือไม่ใช่ประเด็นสำคัญมากนักในการเลือกตั้งก็ตาม ซึ่งนายคิม จอง-อึน พยายามบอกว่า หากทรัมป์คว้าชัยชนะในการเลือกตั้ง มันก็มีความเป็นไปได้ที่เขาอาจตกลงเจรจาอีกครั้ง

ขณะที่ นายแดน พิงค์สตัน ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยทรอย วิทยาเขตโซล กล่าวว่า แม้วาทกรรมเรื่องนิวเคลียร์จะเพิ่มขึ้น แต่การปะทะกันอย่างนองเลือดบริเวณชายแดนระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ กลับเกิดขึ้นแค่ไม่กี่ครั้ง ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่นายคิม จอง-อึน ขึ้นสู่อำนาจ เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ ในความสัมพันธ์ของประเทศเพื่อนบ้านที่มีปัญหา

“จริงอยู่ที่การปะทะกันระหว่างสองเกาหลี ไม่เกิดขึ้นมากนัก แต่มันก็เป็นที่ชัดเจนว่า เกาหลีเหนือเร่งการพัฒนาอาวุธทำลายล้างสูงและขีปนาวุธที่จำเป็นอย่างมาก ซึ่งศักยภาพของอาวุธที่พวกเขามีอยู่ในตอนนี้ เป็นสิ่งที่น่ากลัวและร้ายแรง” พิงค์สตัน กล่าวเสริมว่า คุณค่าของอาวุธเหล่านี้ อยู่ที่ความสามารถในการป้องปราม และสำหรับเกาหลีเหนือ มันคือการโน้มน้าวให้เกาหลีใต้และสหรัฐเชื่อว่า รัฐบาลเปียงยางเต็มใจที่จะใช้มัน.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP