“ผีไทย” ในความทรงจำหลายคนอาจนึกถึงผีกระสือ ผีปอบ ผีเปรต ผีที่ครั้งหนึ่งเคยหลอนเราจนขวัญผวาและเป็นขวัญใจยอดฮิตในอุตสาหกรรมบันเทิงทั้งหลาย แต่อย่างไรก็ดียังมีโลกของ “ผีท้องถิ่น” ที่ยังไม่ได้ปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์กระแสหลัก …” เป็นหนึ่งในส่วนแสดงส่วนแรกต้อนรับผู้ชมด้วยเรื่องเล่าตำนานผีท้องถิ่นไทย ก่อนพาสัมผัสกับหลากเรื่องน่ารู้ในนิทรรศการ “The Untold Story เรื่องผีท้องถิ่นที่ไม่เคยถูกเล่า” ที่จัดแสดงจากนี้ถึง 22 พฤศจิกายน ณ TCDC กรุงเทพฯ ห้อง Gallery ชั้น 1
The Untold Story เรื่องผีท้องถิ่นที่ไม่เคยถูกเล่า’ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์(องค์การมหาชน) หรือ CEA จัดขึ้นโดยหยิบตำนานเรื่องผีท้องถิ่นที่ไม่เคยถูกเล่ามาตีความใหม่ด้วยไอเดียสร้างสรรค์ จากมุมมองศิลปินไทยที่ร่วมส่งต่อจินตนาการ และแรงบันดาลใจสู่ต้นแบบคาแรกเตอร์ผีไทย พลิกทุนทางวัฒนธรรมสู่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ
นอกจากส่วนแสดงแรก “ปลุกตำนานผีท้องถิ่น” บอกเล่าแนวคิดเริ่มต้นที่นำเอาเรื่องผีที่แม้จะถูกหยิบนำไปต่อยอด และสร้างรายได้ในอุตสาหกรรมบันเทิงในฐานะทุนทางวัฒนธรรม แต่ก็ยังมีผีท้องถิ่นตามคำบอกเล่าที่มีคาแรกเตอร์น่าสนใจ และยังเป็นต้นทุนที่สามารถนำไปต่อยอดในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ต่อไป
จากนิทรรศการฯยังมีส่วนแสดง “สวัสดีผีใหม่” จัดแสดงคาแรกเตอร์ผีท้องถิ่นที่ถูกตีความ ผสมผสานความคิดสร้างสรรค์ โดย 6 ศิลปินไทย ได้แก่ Linghokkalom, Ployjaploen, Autumnberry, MarkSuttipong, Tiicha และ Twofeetcat สู่คาแรกเตอร์ร่วมสมัยกว่า 90 แบบ การตีความของศิลปินที่ไม่ได้ถูกตีกรอบจินตนการเรื่องผีให้อยู่ในมุมที่น่ากลัว แต่นำเสนอเรื่องราวผีพื้นถิ่นในมุมมองใหม่ ให้น่าสนใจยิ่งขึ้นโดยชวนให้เข้ามาทำความรู้จัก อาทิผีไก่น้อย ไก่ผี ลักษณะเป็นลูกไก่หรือลูกเจี๊ยบตัวเล็ก ๆ สีขาว หรือเห็นเป็นแสง มักปรากฏตัวในช่วงโพล้เพล้หรือกลางคืน ผีไก่น้อยไม่ทำอันตรายใดๆ กับผู้พบเห็น เพียงแค่หยอกเล่นหรือส่งเสียงให้ผู้คนตื่นเต้นแปลกใจในฝูงไก่น้อยสีขาวเท่านั้น ขณะที่ “ผีแม่เตาไฟ” มักไม่ปรากฎรูปกายให้เห็น แต่เชื่อกันว่าเป็นเพศหญิง คอยปกปักรักษาความร่มเย็นของคนในครัวเรือน นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าหากเด็กปัสสาวะรดที่นอนบ่อย ต้องทำพิธีไหว้ผีแม่เตาไฟเพื่อให้หายจากการปัสสาวะรดที่นอน
“เตรียมเดบิวต์” อีกส่วนแสดงที่จะพาไปสำรวจข้อมูลถิ่นที่อยู่ของผีพื้นถิ่นในแต่ละภูมิภาค ชี้ตำนาน เรื่องเล่าขุมทรัพย์ทางวัฒนธรรมที่สำคัญ ต่อยอดสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์แขนงต่างๆ เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจได้มากขึ้น โดย เลอชาติ ธรรมธีรเสถียร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาความรู้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ CEA กล่าวว่า เรื่องเล่าและตำนานท้องถิ่น ถือเป็นหนึ่งในต้นทุนที่สำคัญ สามารถนำมายกระดับการรับรู้ สร้างโอกาสให้กับนักสร้างสรรค์และผู้ประกอบการไทย เห็นถึงความสำคัญของการนำ Local Asset มาใช้ต่อยอด รวมถึงสร้างสรรค์ให้มีมูลค่าในหลากรูปแบบ นับแต่ในเชิงผลิตภัณฑ์ บริการ การท่องเที่ยว รวมทั้งคุณค่าที่สามารถผสานไปกับกิจกรรมต่าง ๆ
นิทรรศการฯนำทุนทางวัฒนธรรม อย่างตำนาน เรื่องเล่าเกี่ยวกับ ‘ผีท้องถิ่น’ ที่น่าสนใจและลึกลับ น่าค้นหา นำมาต่อยอดผ่านจินตนาการ และมุมมองครีเอเตอร์ไทยถือเป็นนิทรรศการต้นแบบที่สามารถนำไปปรับใช้ให้เข้ากับภูมิภาคอื่น ๆ นับเป็นก้าวสำคัญสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมและการพัฒนาวัฒนธรรมไทยสู่ระดับสากล ต่อยอดได้ด้วยความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดการสร้างชิ้นงานใหม่ ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มากขึ้น