กรณีมูลนิธิฯ ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคล แต่ไม่ได้จัดตั้งเป็นองค์กรสาธารณกุศล ดำเนินกิจการโดยให้บริการจัดฝึกอบรมด้านวิศวกรรมให้กับบุคคลทั่วไป และจัดอบรมให้กับบริษัทเอกชนทั่วไปด้วย พร้อมทั้งได้รับรองจากสภาวิศวกร ให้เป็นองค์กรแม่ข่ายที่สามารถจัดฝึกอบรมให้ความรู้แก่วิศวกรทุกแขนงได้ โดยมูลนิธิฯ ได้จ้างวิทยากรที่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย และบุคคลภายนอก มาร่วมเป็นวิทยากร (ไม่ได้จ้างประจำ) โดยมีการจ่ายค่าตอบแทนวิทยากร (บุคคลธรรมดา) ซึ่งถือเป็นการ ’รับจ้างทำงานให้“ เงินได้ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ของอาจารย์วิทยากรแต่ละท่านประมาณ 7,500–15,000 บาท/ โครงการ ซึ่งวิทยากรบางท่าน มาหลายครั้ง (ตลอดปีภาษี) จะมีเงินได้จากค่าวิทยากร ประมาณ 130,000–150,000 บาท/ปีภาษี นั้น

มูลนิธิฯ ไม่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (1) วรรคหนึ่ง และวรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจาก เงินได้ค่าตอบแทนวิทยากรตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ของอาจารย์วิทยากรแต่ละท่านประมาณ 130,000–150,000 บาท/ปีภาษี ยังไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ซึ่งจำนวนเงินได้สะสมรวมกันของแต่ละท่านต้องเกินกว่า 310,000 บาท จึงจะเริ่มคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

อย่างไรก็ตามมูลนิธิฯ มีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา  50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ของปีภาษีถัดไป ให้แก่อาจารย์ผู้บรรยายทุกท่าน และมีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.1ก ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป เช่นเดียวกับการจ่ายเงินเดือนค่าจ้างตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากรด้วย

การจัดอบรมให้กับบริษัท/นิติบุคคล (In-House Training) ทางบริษัทฯ จ้างมูลนิธิฯ ให้ดำเนินการจัดอบรมให้ ถือเป็นเงิน “ค่าจ้างทำของ” ถูกต้องแล้ว และทางบริษัทฯ (ผู้จ่ายเงินได้) ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย เนื่องจากมูลนิธิฯ ได้รับการยกเว้น ตามข้อ 8 (2) คำสั่งสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ถูกต้องแล้วครับ 

เมื่อบริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ให้กับทางมูลนิธิฯ แต่อย่างใด เพราะเมื่อเสร็จสิ้นการจัดอบรม ทางบริษัทฯ จะโอนเงินเต็มจำนวนเข้าบัญชีของมูลนิธิฯ และทางมูลนิธิฯ จะออกเสร็จรับเงินให้กับทางบริษัทต่อไป.