แต่ยังดราม่าหนัก คือปางช้างชื่อดังที่เป็นทั้งปางช้าง มูลนิธิและทำธุรกิจเกี่ยวกับการนำนักท่องเที่ยวชมช้าง แต่อพยพสัตว์หนีน้ำไม่ทันต้องสูญเสียช้างถึง 2 เชือกและสัตว์อื่น ๆ ไปจนมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ถึงสาเหตุและความเหมาะสม

ด้าน ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) แสดงความคิดเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวว่า ก่อนอื่นต้องขอแสดงความเสียใจกับความสูญเสียช้างทั้ง 2 เชือกและสัตว์อื่น ๆ ซึ่งแน่นอนคนที่สูญเสียมากที่สุดคือเจ้าของช้างนั่นเอง ทั้งชีวิตช้าง และคุณค่าทางจิตใจที่อาจจะประเมินค่ามิได้ เพราะการเลี้ยงดูที่ยาวนานก่อเกิดความรัก ความผูกพันที่มีต่อกัน ส่วนตัวขอให้กำลังใจ แต่ทุกความสูญเสียนั้น ย่อมไม่ใช่เจ้าของช้างเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลกระทบด้านความรู้สึกของคนทั้งประเทศและทั่วโลก ที่ต้องสูญเสียทรัพยากรทางธรรมชาติอันมีจำกัด จนเกิดการตั้งคำถามถึงสาเหตุและแนวทางป้องกันในอนาคต

แต่สิ่งหนึ่งที่ปรากฏชัดเจน คือน้ำใจของคนไทย ที่มีการระดมทุกความช่วยเหลือในทุกช่องทาง ทั้งรายบุคคลและหลากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามหาหนทางและวิธีการช่วยกันอย่างเต็มที่ ตั้งแต่ทราบข่าวสัตว์ประสบภัย อาสาสมัครลุยน้ำเข้าไปช่วยกันสุดกำลัง แม้ต้องเสี่ยง ต้องขอบคุณในการเสียสละเพื่อช่วยทุกชีวิตในครั้งนี้ ด้วยความซาบซึ้งใจ

โดยจากสถิติข้อมูลการสำรวจประชากรช้างเลี้ยง ในจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเดือน มกราคม 2567 ที่ผ่านมา จากคณะสัตวแพทย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กรมปศุสัตว์ และหน่วยงานอื่น ๆ พบว่า จังหวัดเชียงใหม่มีประชากรช้างเลี้ยงจำนวน 838 เชือก กระจาย ไปในอำเภอต่าง ๆ เช่น อำเภอเมือง 7 เชือก แม่ริม 82 เชือก แม่วาง 243 เชือก หางดง 52 เชือก ฮอด 11 เชือก เชียงดาว 1 เชือก สะเมิง 9 เชือก แม่แจ่ม 14 เชือก สันกำแพง 1 เชือก และอำเภอแม่แตงจำนวน 418 เชือก

การอพยพสัตว์นั้น ส่วนใหญ่ปางช้างต่าง ๆ ทำได้สำเร็จ เพราะมีการแจ้งเตือนกันล่วงหน้า สำหรับปางช้างที่ถูกน้ำท่วมเกือบทั้งหมด อาจได้รับความเสียหายด้าน สภาพแวดล้อม ทรัพย์สินและอื่น ๆ เพราะส่วนใหญ่มีปางช้างใกล้แม่น้ำ แต่ตัวสัตว์นั้นได้รับการช่วยเหลือ หนีน้ำท่วมได้ทัน ไม่ว่าจะเป็นเพราะสัญชาตญาณของสัตว์เองเมื่อมีภัยธรรมชาติก็เอาตัวรอด หรือการฝึกของผู้เชี่ยวชาญเพราะเป็นสัตว์เลี้ยงที่ต้องมีการควบคุมอยู่ใกล้ชิด สำหรับปางที่ได้รับผลกระทบหนักในครั้งนี้ ส่วนตัวนั้นคิดว่า

1. อาจจะเป็นการประเมินสถานการณ์ที่ผิดพลาด เพราะมวลน้ำมหาศาลไหลมาเร็วพร้อมกับโคลนจำนวนมากกว่าที่คาดคิด และเป็น
ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ไม่ค่อยเกิดขึ้น


2. อาจจะเป็นเพราะลักษณะการเลี้ยงดู จำนวนประชากรมีมากน้อยแตกต่างกัน และวิธีการควบคุมช้าง ซึ่งแต่ละปางช้างเจ้าของมีวิธีการความเชื่อ วิธีปฏิบัติต่อช้างที่แตกต่างกัน เช่น บางปางช้างอาจเลี้ยงดูแบบให้อิสระตามธรรมชาติไม่มีการฝึกหรือควบคุมเลย มีแต่คนให้อาหารและกำจัดสิ่งปฏิกูล แต่บางปางก็มีการฝึกบ้างตามสมควร เพราะง่ายต่อการควบคุม เรื่องนี้ก็เป็นวิธีการความเชื่อที่แตกต่างกัน ซึ่งแน่นอนถ้ามีการควบคุมฝึกกันแบบไร้เหตุผลจนเกินเลยถึงการทารุณสัตว์ก็ย่อม
ผิดกฎหมาย

3. คนดูแลช้างหรือควาญช้างนั้น มีส่วนสำคัญที่สุด คงไม่ได้อยู่ที่ปริมาณที่เป็นแรงงานที่จำนวนเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่ที่ความเชี่ยวชาญและความผูกพันกับช้าง จะทำให้เข้าถึงช้างได้ เพราะช้างบางเชือกดุร้าย ถ้าไม่มีการควบคุมจากผู้เชี่ยวชาญที่มีความผูกพันกับช้างก็จะเกิดอันตรายได้ การฝึกควาญช้างจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ดังกรณีน้ำท่วมที่เกิดขึ้น การเข้าถึงตัวช้าง ด้วยการควบคุมหรือการอพยพบางแห่งเป็นเรื่องยากมาก เพราะสัญชาตญาณของสัตว์ดุร้ายนั่นเอง

4. วิธีการเลี้ยงช้างแบบที่ผสมผสาน ที่คำนึงถึงพฤติกรรมตามธรรมชาติสัญชาตญาณของสัตว์เป็นรายเชือก เป็นทางออก มากกว่าการเลี้ยงแบบอย่างเดียว การจัดสวัสดิภาพของช้าง ให้ช้างกินดี อยู่ดีมีความสุข ปลอดภัยทั้งช้าง คนเลี้ยงช้าง และนักท่องเที่ยวเป็นเรื่องสำคัญมาก เหมือนการเลี้ยงดูบุตรหลาน บางคนบอกว่ารักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี บางคนบอกว่าการไม่ตีบุตรนั้นเป็นการดีที่สุด ก็ลองพิจารณากันดูว่าบุตรหลาน แต่ละคนมีนิสัยเหมือนหรือแตกต่างกันเช่นไร ที่เลี้ยงเขาให้มีความรับผิดชอบและปลอดภัย เลี้ยงสัตว์ก็เช่นกัน ถ้าเลี้ยงแบบไม่รับผิดชอบปล่อยอิสระมากเกินไป สัตว์อาจทำร้ายใคร คงไม่ถูกต้องเช่นกัน เรื่องนี้คงต้องตัดสินใจกันดู

ดังนั้นเรื่องน้ำท่วมเชียงใหม่ครั้งนี้ก็เป็นการถอดบทเรียนได้เป็นอย่างดี สำคัญที่ต้องเปิดใจยอมรับกันทุกฝ่าย หันหน้ามาคุยกัน ลดอคติ ยึดและคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ดีกับตัวสัตว์มากกว่า ในยามนี้คงต้องเป็นกำลังใจให้ทุกฝ่ายที่ทำเพื่อช้าง ช่วยช้าง เพื่อให้ช้างได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ลดการเสี่ยงภัย และถูกทิศถูกทางต่อไป.

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่