ทีมข่าว 1/4 Special Report ยังคงตามความเคลื่อนไหวเรื่องนี้ ภายหลังจากรับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้แล้ว ได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 25 คน ขึ้นมาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … โดยมี นายชวลิต วิชยสุทธิ์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ และประชุมมาแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งที่ประชุม กมธ.ได้ปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นว่าการพิจารณาในวาระที่ 2 ควรเสร็จสิ้นภายในเดือน ต.ค. เพื่อให้ทันเสนอเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสมัยหน้าที่จะมีขึ้นเดือน พ.ย. 64
นายชวลิต ยืนยันว่า ที่ประชุมคณะ กมธ.มีความเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นความคาดหวังของสื่อมวลชนและเป็นกฎหมายที่สังคมจับตามอง และต้องการให้ประเทศไทยมีกฎหมายสำคัญที่ได้รับการยอมรับจากนานาอารยประเทศ ตลอดจนเป็นที่ยอมรับของพี่น้องประชาชนที่เคยประสบปัญหาถูกอุ้มหาย และถูกซ้อมทรมานดังที่เคยมีมาในอดีต นอกจากนี้องค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กรทั่วโลกกำลังจับตามองการพิจารณากฎหมายสำคัญฉบับนี้ ที่สำคัญคือต้องเป็นไปตามอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยได้ลงนามไว้
คณะ กมธ. มีแนวทางในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ดังนี้ 1. การกำหนดข้อยกเว้นการรับผิด หรือข้อแย้งกับ พ.ร.บ. 2. บทนิยามเกี่ยวกับการทรมาน การกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การควบคุมตัว การกระทำให้บุคคลสูญหาย ผู้เสียหาย เจ้าหน้าที่ของรัฐและคณะกรรมการ 3.มาตรการป้องกันและการแจ้งจับ 4.การสืบสวน สอบสวนเป็นคดีต่อเนื่อง การกำหนดอายุความ 5.อำนาจสอบ สวนคดีความผิด 6.ความรับผิดของผู้บังคับบัญชา และการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ 7.การห้ามไม่ให้รับฟังพยานหลักฐานจากการทรมาน และ 8.องค์ประกอบ การสรรหาและคุณสมบัติของคณะกรรมการ
ต้องคำนึงสอดคล้องหลักสากล
นายสมชาย หอมลออ รองประธาน คนที่ 3 คณะกมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นก้าวแรกที่สำคัญเนื่องจากเป็นกฎหมายที่ประเทศไทยไปให้คำมั่นสัญญากับสหประชาชาติและประชาคมระหว่างประเทศ ที่เราไปเป็นรัฐสมาชิกอยู่ ทำให้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ของ กมธ. ต้องคำนึงถึงพันธกรณีระหว่างประเทศด้วย แม้สภาผู้แทนราษฎรจะมอบหมายให้ กมธ.ชุดนี้นำร่างของกระทรวงยุติธรรมมาเป็นร่างหลักก็ตาม แต่ทางสภาเองก็มีร่าง กมธ.การกฎหมาย ยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนด้วย ซึ่งเป็นการทำงานของสภามาเป็นร่างหลักในการพิจารณาประกอบได้ด้วยเช่นกัน เพราะร่างของกระทรวงยุติธรรมมีคำวิพากษ์วิจารณ์ว่ายังไม่สอดคล้องกับหลักสากลและหากผ่านไปแบบนี้จะทำให้ไม่เป็นผลในการป้องกันและปราบปราม นำคนผิดมาลงโทษได้จริง
กมธ.วิสามัญ ชุดนี้บางส่วนเห็นว่ามีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกหลายภาคส่วน ที่อาจต้องเชิญหน่วยงานต่าง ๆ เหล่านี้เข้ามาร่วมในการพิจารณา จึงมีการเสนอให้เชิญหน่วยงานบางหน่วยงานมารับฟังบางมาตราที่เกี่ยวข้อง และยังต้องการรับฟังความเห็นของผู้เสียหายฯ กลไกในการปกป้องคุ้มครองด้วย อาจเชิญผู้เสียหายมาร่วมให้ความเห็น อีกทั้งได้มีการตั้งที่ปรึกษาเพิ่มเติมจาก กมธ. 25 คน เพิ่มขึ้นอีก 6 คน ที่เข้าใจเรื่องการออกกฎหมายตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญองค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งความเห็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาร่วมประชุมด้วยในครั้งต่อ ๆ ไป
อีกทั้งสมาชิก กมธ.ทั้งหมดยังมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า อยากเร่งรัดให้ทำงานตามที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จโดยเร็ว ทันเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาในวาระที่ 2 และ วาระที่ 3 ในสมัยประชุมหน้า ซึ่งจะมีขึ้นในเดือน พ.ย. 64 และหากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ผ่านการประชุมจากสภาผู้แทนราษฎร ในวาระที่ 3 แล้วนั้น ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะถูกนำเสนอต่อที่ประชุมของวุฒิสภาต่อไป หากรัฐบาลมีการยุบสภา หรือ หมดสมัยประชุมของสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วนั้น ทางวุฒิสภาก็ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ รวมไปถึงต้องมีมาตรฐานที่เป็นสากล สามารถครอบคลุมทั้งอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และอนุสัญญาอุ้มหายทั้งสองฉบับ
ประชาชนได้เข้าถึงความยุติธรรม
นายสมชาย กล่าวทิ้งท้ายว่า กระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ น่าจะทำสรุปว่ามีพันธกรณีใดบ้างที่สอดคล้องกับอนุสัญญาฯ ต่อต้านการทรมานและการบังคับให้สูญหาย พร้อมทั้งกรมคุ้มครองสิทธิฯ และภาคประชาสังคมในคณะกมธ. ควรเตรียมการเรื่องข้อมูลเบื้องต้นไว้ล่วงหน้า เช่น คดีความหรือผู้เสียหายที่อาจต้องมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีหน่วยงาน 13-14 หน่วยงานที่ต้องทำงานเกี่ยวข้อง เช่น รับเรื่องร้องเรียน ตรวจสอบ สืบสวน เยียวยา ปฏิรูป ตรวจตราสถานที่ควบคุมตัว เป็นต้น
ต่อจากนี้ไปสังคม ประชาชนทั่วไปควรที่จะตระหนักให้ความสนใจ ต่อ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เนื่องจากยังมีสถานการณ์การทรมานและอุ้มหายที่เกิดขึ้น เพราะในบางบริบทรัฐอาจเลือกใช้ความรุนแรงในการจัดการกับผู้ที่รัฐมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ความมั่นคงของรัฐไทย ยึดโยงกับรัฐบาล สถาบัน ทหาร ผู้ที่ท้าทายจึงมักตกเป็นเป้าหมาย ไม่สามารถร้องเรียนและเรียกร้องสิทธิในการเยียวยาได้ หากยังไม่มีกฎหมายกำหนดให้การกระทำดังกล่าวเป็นอาชญากรรม มีวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดก็ยังคงดำรงอยู่ และหากกฎหมายไม่ได้ปรับแก้ไขให้เหมาะสม ก็จะยังไม่สามารถปราบปรามการทรมานอุ้มหายได้
ฉะนั้นการรณรงค์สร้างความเข้าใจกับภาคประชาชนและหน่วยงานรัฐ โดยเน้นย้ำสิทธิอันพึงมีของทุกคน และขอบเขต อำนาจ หน้าที่ของรัฐ สร้างกลไกชุมชน รวมกลุ่มผู้เสียหาย และองค์กรให้ความช่วยเหลือเพื่อป้องกัน ปราบปรามการทรมานอุ้มหาย สร้างกองทุนเยียวยาในระดับพื้นที่ได้จริงหากกฎหมายผ่านและมีผลบังคับ พร้อมทั้งให้มีช่องทางเรียกร้องความเป็นธรรม พัฒนากลไกดังกล่าวให้กลายเป็นคณะกรรมการตาม พ.ร.บ.นี้ในระดับจังหวัด เพื่อประสานงานกับคณะกรรมการระดับชาติ รับเรื่องร้องเรียนและส่งต่อช่วยเหลือผู้เสียหายและญาติให้สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้
5 ประเด็นสำคัญต้องผลักดัน
นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะ รองประธาน คนที่ 4 คณะ กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … เปิดเผยว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มี 5 ประเด็นสำคัญที่ต้องผลักดัน ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหาย ในชั้นกรรมาธิการ ซึ่งในการพิจารณากฎหมายนี้ มีร่าง พ.ร.บ.ผ่านการรับหลักการถึง 4 ฉบับ โดยฉบับที่ถูกให้เป็นร่างหลัก คือ ฉบับของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อพิจารณาร่างดังกล่าวแล้ว พบว่ายังขาดหายประเด็นสำคัญหลายประการซึ่งควรมีเพื่อที่จะให้เกิดความเป็นธรรมและความมีประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งมีอยู่ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับของคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ (กมธ.) และร่างฉบับอื่น ๆ 5 ประเด็นหลัก อาทิ 1. ต้องเพิ่มความผิดฐานย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในร่างฉบับ ครม. แม้มีการกำหนดฐานความผิดของการซ้อมทรมานและการอุ้มหาย เอาไว้ แต่กลับไม่ได้กำหนดฐานความผิดของการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
2. ต้องไม่มีอายุความ ในร่างฉบับ ครม. ไม่ได้กำหนดเรื่องอายุความไว้เป็นการเฉพาะ ดังนั้นจึงต้องใช้หลักเกณฑ์ทั่วไปเรื่องอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งกำหนดไว้สูงสุดเพียง 20 ปีนับแต่วันที่กระทำความผิด 3. คณะกรรมการป้องกันปราบปรามการทรมาน-อุ้มหาย ควรนำโดยภาคประชาชน ในร่างทั้ง 4 ฉบับ ส่วนใหญ่ของกรรมการนี้มาจากภาครัฐ ซึ่งโดยปกติแล้วในคดีการซ้อมทรมานและอุ้มหาย ภาครัฐมักเป็นผู้ต้องสงสัยในการกระทำผิดดังกล่าว 4. ต้องให้มีการสืบสวนคดีในอดีตประเทศไทยเกิดกรณีการอุ้มหายมาแล้วหลายครั้ง ควรได้รับการค้นหาความจริงด้วยกระบวนการตามร่าง พ.ร.บ.ที่กำลังพิจารณาอยู่ด้วยเช่นกัน และ 5. ต้องตัดอำนาจศาลทหาร ในคดีที่มีจำเลยเป็นทหารไปพิจารณาในศาลทหารได้หรือไม่ จึงควรกำหนดให้ชัดว่าศาลทหารจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีตามร่าง พ.ร.บ.นี้ไม่ได้.