ไม่น่าเชื่อว่าตั้งแต่เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน วางมือเมื่อปี 2013 ผ่านมาแล้ว 11 ปีกับผู้จัดการทีม 8 คน แต่จนบัดนี้หนึ่งในสโมสรที่ยิ่งใหญที่สุดในโลกอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยังคงหาผู้จัดการทีม “คนที่ใช่” ไม่ได้เสียที

ยิ่งหากนำไปเทียบกับอาร์เซนอลที่สิ้นยุค อาร์แซน เวนเกอร์ กุมบังเหียนตั้งแต่ปี 2018 “เดอะ กันเนอร์ส” สามารถกลับมาตั้งหลักได้เร็วกว่ากันมาก แม้ยังไม่ถึงขั้นคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก แต่เก้าอี้ของ มิเกล อาร์เตตา ก็ยังดูแข็งแกร่งและมีอนาคตมากกว่าเอริค เทน ฮาก

แล้วปัญหาของยูไนเต็ดคืออะไร?

ว่ากันว่าทีมที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น ผู้บริหาร, ผู้จัดการทีม และ นักเตะ เหล่านี้ต้องลงตัวพร้อมกันทั้ง 3 ส่วน

โครงสร้างการบริหารถูกพูดถึงนาน แต่ปัญหาดังกล่าวดูมีทิศทางคลี่คลายตั้งแต่เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ เข้ามาถือหุ้นส่วนน้อยและเป็นผู้บริหารสูงสุดด้านฟุตบอล โดยมีความพยายามปรับปรุงโครงสร้างใหม่ รวมถึงดึง โอมาร์ เบร์ราดา เป็นประธานซีอีโอ และว่าจ้าง แดน แอชเวิร์ธ เข้ามาเป็นผอ.กีฬา ซึ่งมันจะได้ผลหรือไม่ยังต้องใช้เวลา

แต่ที่ดูเป็นปัญหามานานเหมือนกัน นั่นคือนักเตะใหม่ที่ซื้อเข้ามานั้น ส่วนมากไม่สามารถยกระดับทีมขึ้นมาได้ มิหนำซ้ำราคายังแสนแพงชนิดเหมือนโดนย้อมแมวขาย

ย้อนไปตั้งแต่ตอนซื้อ โรเมลู ลูกากู, อเล็กซิส ซานเชซ, ปอล ป็อกปา, เจดอน ซานโช, ดอนนี ฟาน เดอ เบค ล้วนแพงแต่พังไม่เป็นท่า มาจนถึงยุค เทน ฮาก ซื้อแต่ละคนเทียบกับผลงานแล้ว ก็ต้องยกเท้ามาก่ายหน้าผาก ไม่ว่า เมสัน เมาท์, อองเดร โอนานา, อันโตนี, คาเซมิโร หรือแม้แต่ ราสมุส ฮอยลุนด์

มิหนำซ้ำน่าแปลกด้วยว่าบางคนที่อยู่กับทีมไม่แจ้งเกิด แต่พอย้ายกลับปังสุดๆ เช่น ซานโช ที่ผลงานเด่นจัดกับเชลซี หรือ เมสัน กรีนวูด ที่ทีมตัดสินใจปล่อยออกไปก็กำลังโชว์ฟอร์มพระเอกกับโอลิมปิก มาร์กเซย

พอนักเตะเล่นไม่ดีก็ย่อมถูกโยงกับผู้จัดการทีมว่าอาจเป็นคนที่มีความสามารถไม่ดีพอหรือไม่ ทั้งเรื่องแทคติค การวางแผน การปลุกเร้า กระตุ้นนักเตะทั้งไม่ว่าก่อนแข่ง ระหว่างแข่ง หรือหลังแข่ง เทน ฮาก ดูเป็นคนมีคุณสมบัติทั้งหมดหรือไม่ เชื่อว่าแฟนๆ แมนฯ ยูไนเต็ด รู้กันดีอยู่แล้ว

บางทีการเปลี่ยนแปลงผู้จัดการทีมน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในตอนนี้.

เฮียเอง