“เมืองโบราณอู่ทอง” ศูนย์กลางแรกเริ่มของวัฒนธรรมทวารวดี จุดเชื่อมโยงเส้นทางการค้าในดินแดนสุวรรณภูมิ เป็นหนึ่งในห้องจัดแสดงที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ เล่าเรื่องราวเมืองโบราณอู่ทองและวัฒนธรรมทวารวดีที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น
ที่ผ่านมากรมศิลปากรดำเนินโครงการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ปรับปรุง ซ่อมแซมอาคารจัดแสดงและนิทรรศการถาวรให้มีความทันสมัย ด้วยเทคนิคการจัดแสดงสมัยใหม่ รวมถึงปรับปรุงข้อมูลการจัดแสดงให้เป็นปัจจุบัน มีมาตรฐานระดับสากล และหลังจากเปิดให้เข้าชม โดยนอกจากห้องจัดแสดงดังกล่าว ยังมีอีกหลายห้องเพิ่มมุมมองการเรียนรู้
ห้องนิทรรศการพิเศษ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรีจากนี้ถึงปลายเดือนตุลาคม พิพิธภัณฑ์ฯรวบรวมนำโบราณวัตถุ 73 รายการที่พบจากแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ – ต้นประวัติศาสตร์ เมืองโบราณอู่ทอง และแหล่งโบราณคดีใกล้เคียงในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีและกาญจนบุรี แสดงพัฒนาการของชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่รับอิทธิพลจากดินแดนภายนอกและพัฒนาเข้าสู่ยุคต้นประวัติศาสตร์ คือสมัยทวารวดีที่เมืองโบราณอู่ทอง จัดแสดงในนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย เรื่อง “บรรพชนคนอู่ทอง”
จากนิทรรศการฯจัดการแสดงแบ่งออกเป็น 8 หัวข้อ 8 ตู้จัดแสดง โดยส่วนหนึ่งพาชมนิทรรศการฯ ชมโบราณวัตถุที่จัดแสดง “ร่องรอยมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ที่เมืองโบราณอู่ทอง” ตู้แสดงแรก แสดง “ขวานหินขัดแบบมีบ่าและไม่มีบ่า” เครื่องมือเครื่องใช้ของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยหินใหม่ เมื่อประมาณ 3,000 ปีมาแล้วที่พบบริเวณเมืองโบราณอู่ทอง
“แหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร” อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี ส่วนแสดงต่อมาซึ่งจัดแสดง “ภาชนะดินเผา” รูปแบบต่าง ๆ ซึ่งเป็นภาชนะอุทิศในหลุมฝังศพของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยหินใหม่ อายุประมาณ 3,000 – 4,000 ปี อาทิ ภาชนะก้นกลม ภาชนะทรงพาน ฯลฯ ขณะที่” แหล่งโบราณคดีบ้านหัวอุด” อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ในส่วนนี้จัดแสดงภาชนะดินเผารูปแบบต่าง ๆ ซึ่งเป็นภาชนะอุทิศในหลุมฝังศพของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยหินใหม่ เช่น ภาชนะทรงพาน และหม้อสามขา เป็นต้น ตู้จัดแสดงที่ 5 “แหล่งโบราณคดีบ้านทะเลบก” อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี แสดงโบราณวัตถุยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยหินใหม่ อายุประมาณ 3,000 – 4,200 ปีมาแล้ว ได้แก่ ขวานหินขัด ชิ้นส่วนหม้อสามขา และชิ้นส่วนภาชนะมีนม
ตู้จัดแสดงต่อมา “แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร” อำเภอพนมทวน จังหวัดสุพรรณบุรี แสดงโบราณวัตถุยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยเหล็ก อายุประมาณ 1,700 – 2,300 ปีมาแล้ว ได้แก่ ขันสำริด และกำไลสำริด “แหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย – ต้นประวัติศาสตร์ที่เมืองโบราณอู่ทอง” จัดแสดงโบราณวัตถุที่พบจากแหล่งโบราณคดีเนินพลับพลา ได้แก่ ขวานหินขัดที่ประทับลายประติมากรรมปูนปั้น และโบราณวัตถุ ที่พบบริเวณสนามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ได้แก่ ลูกปัดแก้วมีตา ลูกปัดแก้วสีต่าง ๆ ตะคันดินเผา ชิ้นส่วนพระพิมพ์ และเบี้ยกระดองเต่า อายุตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงทวารวดี
ส่วนสุดท้ายจัดแสดงโบราณวัตถุที่แสดงถึง “การติดต่อแลกเปลี่ยนกับดินแดนภายนอก” ได้แก่ จี้รูปสัตว์สองหัวเครื่องประดับของกลุ่มคนในวัฒนธรรมซาหุญ หรือซาหวิ่น ซึ่งอยู่ทางตอนกลางและตอนใต้ของเวียดนาม หลักฐานทางโบราณคดี บอกเล่าประวัติศาสตร์เมืองโบราณอู่ทอง.