นายจอห์น ลี หัวหน้าคณะผู้บริหารฮ่องกง กล่าวว่า รัฐบาลของเขากำลังทำทุกวิถีทางเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์กับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) รวมถึงปรับปรุงความสัมพันธ์ทางการค้า ธุรกิจ และวัฒนธรรม กับกลุ่มประเทศในภูมิภาค

นอกจากนี้ ลียังกล่าวถึงคุณค่าของฮ่องกงที่มีต่อโลก ในฐานะ “ผู้เชื่อมโยงที่ยอดเยี่ยม” โดยยกย่องบทบาทสำคัญในการลงนามในข้อตกลงกับประเทศต่าง ๆ ในแผนริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (บีอาร์ไอ) ซึ่งรัฐบาลปักกิ่งระบุว่า จีนจะขยายขอบเขตการมีส่วนร่วมของฮ่องกง ในแผนการข้างต้น

คำกล่าวของลี มีขึ้นหลังรัฐบาลวอชิงตัน ผ่านร่างกฎหมายปิดสำนักงานการค้าของฮ่องกงในสหรัฐ ตลอดจนเตือนถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น สำหรับบุคคลและบริษัทของสหรัฐ ที่ดำเนินธุรกิจในฮ่องกง ภายใต้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ ซึ่งทำให้นักเคลื่อนไหวจำนวนมากถูกจับกุม และถูกตั้งข้อหา รวมถึงปราบปราบการกบฏ, การยุยงปลุกปั่น, การแทรกแซงจากภายนอก และการกระทำผิดอื่น ๆ

ด้านผู้สันทัดกรณีด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กล่าวว่า การวิพากษ์วิจารณ์ที่เพิ่มขึ้นจากชาติตะวันตก ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้รัฐบาลของลี ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ในการปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างฮ่องกงกับส่วนที่เหลือของโลก ยกตัวอย่างเช่นในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ลี เดินทางเยือนลาว, กัมพูชา และเวียดนาม เพื่อจัดทำบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) จำนวน 55 ฉบับในด้านต่าง ๆ เช่น การเงิน, วัฒนธรรม และการศึกษา

ขณะที่ ดร.วิลสัน ชาน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยนโยบาย และผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันพาโกดา กล่าวว่า ในอดีต ฮ่องกงเคยมุ่งเป้าไปยังประเทศที่พัฒนาแล้ว ในความพยายามด้านความสัมพันธ์ภายนอก เช่น การติดต่อกับสหรัฐและประเทศต่าง ๆ ในยุโรป แต่ในปัจจุบัน ฮ่องกงต้องการหลีกเลี่ยงความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นกับชาติตะวันตก และตระหนักถึงความจำเป็นในการกระจายธุรกิจและเครือข่ายการค้าของตนเอง

ด้วยเหตุนี้ ฮ่องกงจึงให้ความสำคัญกับอาเซียน, ตะวันออกกลาง แอฟริกา และประเทศอื่นในบีอาร์ไอ ส่งผลให้รัฐบาลฮ่องกงมีความกระตือรือร้นมากขึ้น ในการมีส่วนร่วมกับประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วเหล่านี้

แม้รัฐบาลกลางของจีน ดำเนินกิจการต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับฮ่องกง ภายใต้หลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” แต่ในฐานะเขตบริหารพิเศษ ฮ่องกงจึงมีอำนาจบริหารกิจการภายนอกบางส่วนด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็น การค้า, การเงิน, การท่องเที่ยว, วัฒนธรรม และกีฬา อีกทั้งฮ่องกงยังได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมองค์ระหว่างประเทศระหว่างรัฐบาล ได้แก่ กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค), องค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) และองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ)

ทั้งนี้ทั้งนั้น ชาน กล่าวว่า เป้าหมายเร่งด่วนของฮ่องกง ที่จะยกระดับความพยายามในการมีส่วนร่วมระดับโลก คือ การนำฮ่องกงกลับเข้าสู่เวทีระหว่างประเทศอีกครั้ง

“ความพยายามเหล่านี้ส่งผลให้เกิดเวทีอื่น ที่อำนวยความสะดวกต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงรูปแบบการทูตคู่ขนานอันเป็นเอกลักษณ์ของฮ่องกง ภายใต้หลักการหนึ่งประเทศ สองระบบ” ชาน กล่าวทิ้งท้าย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP