สงครามเต็มรูปแบบระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งยืดเยื้อยาวนานจวนจะครบ 3 ปี ทำให้รัสเซียสูญเสียบทบาททางประวัติศาสตร์ ในฐานะคนกลางรายสำคัญที่มีอำนาจและอิทธิพล ทั้งในเอเชียกลาง และภูมิภาคคอเคซัส

ชะตากรรมขององค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วม (ซีเอสทีโอ) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มพันธมิตรทางทหาร ระหว่างประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ได้แก่ เบลารุส, คาซัคสถาน, คีร์กีซสถาน, ทาจิกิสถาน, รัสเซีย และอาร์เมเนีย เน้นย้ำให้เห็นถึงความท้าทายที่ทำเนียบเครมลินเผชิญอยู่ ท่ามกลางความพยายามในการรักษา และส่งเสริมอิทธิพลทางภูมิรัฐศาสตร์ทั่วมหาทวีปยูเรเซีย

ซีเอสทีโอ ซึ่งมักถูกเรียกว่า “นาโตรัสเซีย” ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2535 เพื่อเติมเต็มช่องว่างด้านความมั่นคง ที่เกิดจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต กระนั้น นายฮาคอบ บาดาลยาน นักวิเคราะห์ชาวอาร์เมเนีย กล่าวว่า ในช่วงเวลา 30 ปีที่ผ่านมา พันธมิตรกลุ่มนี้ “ประสบปัญหาร้ายแรง” ด้านความสามารถในการแข่งขัน และความสามารถในการดำเนินงาน

แม้อาร์เมเนียยังคงเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ แต่รัฐบาลเยเรวาน กำลังบอยคอตซีเอสทีโอ โดยกล่าวหาว่า ซีเอสทีโอ และรัฐบาลมอสโก ทอดทิ้งอาร์เมเนีย ท่ามกลางความขัดแย้งกับศัตรูตัวฉกาจอย่างอาเซอร์ไบจาน

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่ใช่กรณีแรกที่ซีเอสทีโอ เผชิญกับความท้าทายจากประเทศสมาชิก เนื่องจากรัฐบาลบากู ประกาศถอนตัวเมื่อปี 2542 ตามด้วยจอร์เจีย และอุซเบกิสถาน ที่ออกจากกลุ่มพร้อมกันในปี 2555 ซึ่งอุซเบกิสถาน และเติร์กเมนิสถาน ต่างเพิกเฉยต่อการเรียกร้องให้กลับเข้าซีเอสทีโอ เมื่อปีที่แล้ว

ความยากลำบากของรัสเซีย ในภูมิภาคเอเชียกลางและคอเคซัส สวนทางกับความสำเร็จในการสร้างและกระชับความสัมพันธ์กับประเทศอื่น ๆ เช่น จีน, อินเดีย, อิหร่าน, เกาหลีเหนือ และอีกหลายประเทศในแอฟริกา ซึ่งบาดาลยานมองว่า การพัฒนาเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกัน เนื่องจากรัสเซียมีทรัพยากรน้อยกว่าอย่างมาก ในการทำหน้าที่ผู้นำทางเทคนิคและทหารของซีเอสทีโอ อย่างเต็มที่ ระหว่างการทำสงครามกับยูเครน

อนึ่ง รัฐบาลมอสโก และพันธมิตรใกล้ชิดที่สุดอย่างรัฐบาลมินสก์ ต่างหวังว่า การซ้อมรบในคีร์กีซสถาน เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และการซ้อมรบที่คาซัคสถาน ในสัปดาห์หน้า จะแสดงให้ว่า ซีเอสทีโอยังคงมีความเกี่ยวข้องทางภูมิรัฐศาสตร์

อย่างไรก็ตาม กลุ่มพันธมิตรดูเหมือนจะมีความแตกแยก แม้กระทั่งในเรื่องการจำกัดความว่า “ใครคือศัตรู” เพราะในขณะที่รัสเซียมองว่า ชาติตะวันตกเป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ หลายประเทศในเอเชียกลาง รวมถึงอาร์เมเนีย กลับเสริมสร้างความสัมพันธ์กับสหรัฐ และยุโรป

แม้เบลารุส เป็นประเทศเดียวในซีเอสทีโอ ที่สนับสนุนการทำสงครามของรัสเซีย แต่ถึงอย่างนั้น รัฐบาลมินสก์ ซึ่งพึ่งพารัฐบาลมอสโก ในด้านการเงิน, การเมือง, เศรษฐกิจ และการทหาร ก็ไม่ยอมรับการอ้างสิทธิเหนือดินแดนของรัสเซีย ในภาคตะวันออกของยูเครน

ทั้งนี้ทั้งนั้น มันมีโอกาสน้อยมากที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย จะยอมรับว่าประเทศของเขามีอิทธิพลลดลง ในภูมิภาคที่รัฐบาลมอสโกปกครองมานานหลายสิบปี แม้ว่าเขาจะตระหนักถึงความท้าทายที่เกิดขึ้นก็ตาม ซึ่งในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ปูตินกล่าวว่า มันถึงเวลาแล้วที่ซีเอสทีโอ จะเริ่มหารือในวงกว้าง เกี่ยวกับระบบใหม่ของความมั่นคงร่วมในยูเรเซีย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES