เมื่อพูดถึงโรคอันตราย ที่พรากขีวิตของคนที่เรารักของหลายๆคน หนึ่งในนั้นคงจะไม่พ้น “กลุ่มโรคหัวใจ” ที่เป็นภัยเงียบที่พรากชีวิตผู้คนอย่างเฉียบพลันโดยไม่มีลางบอกเหตุ โดยข้อมูลจากกรมควบคุมโรคได้รายงานถึงอัตราความชุกของโรคหัวใจและหลอดเลือดในประเทศไทยอิงตามข้อมูลของเขตสุขภาพทั่วประเทศไทยในปี 2567 ว่า ความชุกโดยเฉลี่ยของกลุ่มอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป มีมากกว่า 1.33 %

“ซึ่งหากอิงค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีที่ผ่านมา จะเห็นถึงแนวโน้มที่ดูสูงขึ้นเรื่อย ๆ” และเพื่อทำความเข้าใจกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้นรับ จะตรงกับวันหัวใจโลก (World Heart Day 2024) 29 กันยายนของทุกปี

วันนี้ Healthy Clean จึงขอชวนไปพูดคุยกับ พญ.ณหทัย ฉัตรสิงห์ อายุรศาสตร์โรคหัวใจ, พญ.วริษฐา เล่าสกุล อายุรศาสตร์โรคหัวใจ และ นพ.วิพัชร พันธวิมล อายุรศาสตร์โรคหัวใจ-สรีระวิทยาไฟฟ้าหัวใจ ประจำศูนย์โรคหัวใจ และทรวงอก โรงพยาบาลนวเวช ที่จะมาช่วยสร้างความเข้าใจกลุ่มโรคข้างต้น และชวนทุกคนมาดูแลหัวใจและหลอดเลือดเพื่อให้เราและคนที่เรารักมีชีวิตที่ยืนยาวและสุขภาพดี

Pain and heartburn old senior asian grandfather in patient uniform suffer from body problem health ideas concept

สำหรับ “ปัจจัยเสี่ยงและความอันตรายของกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด” นั้น เรื่องของ “อายุ” เป็นปัจจัยที่ทำให้มีโอกาสเกิดโรคมากขึ้น นอกจากเรื่องอายุแล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากโรคร่วมต่าง ๆ โดยโรคร่วมตามข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขประกอบด้วย ความดันโลหิตสูง, เบาหวาน และโรคไตวายเรื้อรัง ทั้ง 3 โรค เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคหัวใจได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องของพฤติกรรมที่กระตุ้นให้เกิดโรคด้วย เช่น การรับประทานอาหารไขมันสูง การสูบบุหรี่ เป็นต้น  

ในส่วนของโรคลิ้นหัวใจ แยกกลุ่มเป็นโรคลิ้นหัวใจรูมาติกกับกลุ่มที่ไม่ใช่รูมาติก  กลุ่มโรครูมาติกเกิดจากวัยเด็กติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด และยังคงสะสมอยู่ในร่างกาย จนเข้าไปกัดกินลิ้นหัวใจ หากไม่ใช่กลุ่มรูมาติกก็จะเป็นสาเหตุอื่น ซึ่งสาเหตุที่พบบ่อยจะเป็นตามอายุ เมื่ออายุมากขึ้นหินปูนและแคลเซียมจะไปเกาะตามลิ้นหัวใจ ทำให้ลิ้นหัวใจเปิดยาก จนก่อให้เกิดหัวใจตีบ

อีกกลุ่มหนึ่งคือ ไม่เกี่ยวกับหินปูน หรือรูมาติกแต่เป็นหัวใจอวบและหนาแต่กำเนิด ทำให้ปิดไม่สนิทและเกิดการรั่ว และการติดเชื้อ ซึ่งเป็นปัจจัยแวดล้อมในภายหลัง มีการติดเชื้อในกระแสเลือด แบคทีเรียไปเกาะที่ลิ้นหัวใจจนเกิดการรั่วของลิ้นหัวใจได้ ดังนั้นจะสังเกตได้ว่าโรคลิ้นหัวใจมีปัจจัยหลายอย่าง ไม่ได้อิงตามปัจจัยเสี่ยงตามที่บอกในตอนแรกเสมอไป

สำหรับโรคหลอดเลือดหัวใจจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ระหว่างหลอดเลือดตีบเฉียบพลัน หรือที่เราคุ้นหูในชื่อ Heart Attack ลักษณะอาการคือ มีการแน่นหน้าอกโดยไม่ทราบสาเหตุ เหมือนมีใครมาเหยียบแล้วร้าวไปที่กรามหรือไหล่ด้านซ้าย หรือไม่มีอาการแต่เมื่อออกกำลังกายจะรู้สึกเจ็บหน้าอกจนอาจนำไปสู่การล้มเสียชีวิต ซึ่งหากเป็นหลอดเลือดตีบเฉียบพลันถือว่ามีความอันตราย และมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่า 10% หรือถ้าไม่เสียชีวิต ก็มักจะมีผลข้างเคียงสูง เช่น โรคหัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น

กลุ่มต่อมา คือ หลอดเลือดตีบเรื้อรัง มีอาการบ่งชี้ เช่น ออกแรงแล้วรู้สึกเหนื่อยง่ายขึ้น ออกแรงวิ่งแล้วรู้สึกเจ็บหน้าอก แต่พักแล้วก็หาย ความอันตรายขึ้นอยู่กับตำแหน่งและลักษณะความรุนแรงทางกายวิภาคของรอยโรค  ความอันตรายอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่อาจไม่ได้รุนแรงเท่าโรคหัวใจตีบเฉียบพลัน ทว่าโดยรวมแล้วทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยไม่ดีนัก

ส่วนแนวทางการรักษากลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด สำหรับแนวทางการรักษา ทีมแพทย์หัวใจโรงพยาบาลนวเวชให้ข้อมูลว่า ขั้นตอนแรกต้องวินิจฉัยก่อนว่ามีเส้นเลือดหัวใจตีบหรือไม่ ตีบมากน้อยแค่ไหน ตีบตำแหน่งไหน โดยปัจจุบันแนวทางการรักษาส่วนใหญ่ คือ การขยายหลอดเลือดหัวใจผ่านสายสวน ซึ่งจะใช้วิธีการสวนหัวใจ เพื่อขยายจุดตีบด้วยบอลลูน และใส่ขดลวดคำยันเพื่อแก้จุดตีบตัน แต่ในบางกรณีที่มีข้อจำกัดที่เหมาะกับการผ่าตัดบายพาสมากกว่า ก็จะใช้แนวทางการรักษาด้วยการผ่าตัดเปิดหน้าอก เป็นการใส่เส้นเลือดเทียมเข้าไป เป็นต้น        

“แม้โรคหัวใจจะเป็นภัยเงียบสุดแสนอันตราย แต่โดยรวมแล้วเรื่องของโรคหัวใจ เราสามารถคัดกรอง และตรวจวินิจฉัย รวมทั้งรักษาได้เกือบทุกประเภท” ทว่าโรคหัวใจมีตั้งแต่ระดับที่ไม่แสดงอาการ เช่น มีอาการหลอดเลือดตีบตันแต่ไม่แสดงอาการ ซึ่งทีมแพทย์หัวใจโรงพยาบาลนวเวชให้คำแนะนำว่า “ตามหลักของโรคหัวใจ อย่าคิดว่าไม่มีอาการแล้วเราจะไม่ได้เป็นโรคหัวใจ เลยไม่จำเป็นต้องมาตรวจ เพราะโรคหัวใจส่วนใหญ่ในระยะแรกจะไม่มีอาการ ดังนั้นกว่าจะแสดงอาการก็ช้าเกินไปเสียแล้ว อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่สามารถแก้ไขกลับมาได้ทัน จึงอยากแนะนำให้ประชาชนเข้ามาตรวจสุขภาพกันมากขึ้น โดยประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ให้แพทย์ประเมินความเสี่ยงซักประวัติแล้วตรวจร่างกายได้”

“เมื่อพบอาการจะได้เข้ารับการรักษาได้ทัน เพราะโรคหัวใจฟังดูเหมือนจะเป็นโรคที่อันตราย แต่ในบางกลุ่มโรคก็สามารถป้องกันและรักษาได้ หากตรวจพบอาการตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม สามารถทำการรักษา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหารุนแรง หรือเสียชีวิตกะทันหันในอนาคตได้ ซึ่งทางโรงพยาบาลนวเวช ก็พร้อมช่วยเหลือด้วยทีมแพทย์เฉพาะทาง คอยดูแลคนไข้ตลอดเวลา” ทีมแพทย์ศูนย์หัวใจ และทรวงอก โรงพยาบาลนวเวช กล่าวทิ้งท้าย..

……………………………….
คอลัมน์ : Healthy Clean
โดย “พรรณรวี พิศาภาคย์”
อ่านบทความทั้งหมดที่นี่……คลิก