นักวิชาการที่ระบุถึงกรณีนี้กับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” เพื่อสะท้อนต่อคนไทยคือ ผศ.ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล ผู้อำนวยการหลักสูตร aMBA (Analyst MBA) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่ง “ค่าเงินบาท” มีผลกับสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศไทย ทั้งในภาพรวม ในส่วนของภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ และในที่สุดก็ย่อมมีผลต่อประชาชนคนไทยทั่วไปด้วย…

ค่าเงินบาท” อาจ “อ่อนค่าแข็งค่า”

กรณีดังกล่าวนี้ “ก็น่าทำความเข้าใจ”

ทั้งนี้ ผศ.ดร.ภูษิต สะท้อนเรื่อง “ค่าเงินบาท”ผ่านทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาว่า… ค่าเงินบาท หลังจาก “อ่อนค่า” ลงอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน แต่ ณ ตอนนี้มีการ “แข็งค่า” ขึ้นอย่างรวดเร็ว ค่าเงินบาทเคยอ่อนค่าสุดอยู่ที่ 37.25 บาทต่อ 1 คอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2567 แต่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 32.91 บาท ซึ่งจะเห็นว่าเป็นการ แข็งค่าขึ้นมารวดเร็วมาก โดยแข็งค่ามากถึง 11-12% ภายในเวลาไม่ถึง 5 เดือน …ซึ่งถ้าหากว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้น ค่าเงินบาทของไทยก็มีแนวโน้มที่อาจจะออกไปในทางที่เรียกว่า “ไซด์เวย์” หรืออยู่ในภาวะไม่มีทิศทางที่แน่นอน

ผศ.ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล

สาเหตุที่ทำให้ค่าเงินบาทมีการแข็งค่านั้น ผศ.ดร.ภูษิต ระบุว่า… ปัจจัยในประเทศไม่ค่อยมีส่วนทำให้เปลี่ยนแปลง แต่ที่มีการเปลี่ยนแปลง เกิดจากปัจจัยจากต่างประเทศ ซึ่งสาเหตุหลักทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเกิดจากการที่ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณในการที่จะลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจริง ๆ ก็ลดลงมาแล้ว 0.50% มีผลทำให้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมา และก็ยังมีอีกสาเหตุหนึ่งคือเกิดจากการที่ เงินดอลลาร์สหรัฐไหลเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก จากการที่หุ้นในตลาดหุ้นของไทยเกิดความน่าสนใจมากขึ้น ซึ่งเกิดจากการที่ตลาดหลักทรัพย์-ตลาดหุ้นไทยมีค่า P/E (อัตราส่วนราคาตลาดต่อกำไรสุทธิ) ค่อนข้างต่ำ หุ้นในตลาดหุ้นเกิดความน่าสนใจ นักลงทุนก็กลับมาซื้อหุ้นในไทยมากขึ้น ซึ่งก็ทำให้มีเงินตราต่างประเทศไหลเข้ามาในไทย …นี่คือ “2 สาเหตุ” ทำให้ “เงินบาทแข็งค่า”

ถามว่า…แล้ว “ทิศทางค่าเงินบาท” จากนี้ “จะเป็นไปอย่างไร?” ทาง ผศ.ดร.ภูษิต ระบุว่าคงต้องกลับมามองที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าตกลงจะลดดอกเบี้ยตามหรือไม่ ซึ่งถ้าไทยไม่ลดดอกเบี้ยตาม ค่าเงินบาทก็จะแข็งค่าขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง หากไทยมีการลดดอกเบี้ยลง ก็มีโอกาสที่อัตราแลกเปลี่ยนจะประคองตัวไปประมาณนี้”

ทางนักวิชาการท่านดังกล่าวยังได้สะท้อนย้ำกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาอีกว่า… ผลที่จะเกิดขึ้นจากการที่ “ค่าเงินบาทแข็งค่า” นั้นมีทั้งด้านบวกและด้านลบ โดย กลุ่มที่จะ “ได้รับผลในด้านบวก” คือ… กลุ่มผู้ประกอบการที่นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศที่ย่อมจะเกิดความได้เปรียบ เพราะเมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น การนำเข้าสินค้าก็จะได้ในราคาที่ถูกลง ได้แก่ เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า เชื้อเพลิง ยานยนต์ อัญมณี เหล็ก พลาสติก เป็นต้น และ กลุ่มนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตก็จะมีต้นทุนการนำเข้าที่ต่ำลง ด้วย ส่วน กลุ่มที่จะ “ได้รับผลด้านลบ” ก็คือ… กลุ่มผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้า

แม้ประเทศไทยจะนำเข้าเครื่องจักร แต่ก็ส่งออกเครื่องจักรเยอะเหมือนกัน เพราะประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตสินค้าส่งออกหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ อัญมณี โดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตรทั้งหลาย อย่างข้าว ยางพารา ผักผลไม้ต่าง ๆ ซึ่งหากเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องไปแบบนี้ก็จะมีปัญหา เพราะทำให้สินค้าจากประเทศไทยแพงขึ้นในสายตาประเทศคู่ค้า ก็อาจลดการนำเข้า” …ซึ่งหากเป็นแบบนี้ เศรษฐกิจไทยก็ย่อมจะได้รับผลกระทบ

และ ผอ.หลักสูตร aMBA ม.หอการค้าไทย ก็ชี้ “ผลลบจากการที่เงินบาทแข็งค่า” อีกด้าน คือ การท่องเที่ยว”โดยระบุว่า… ไทยคาดหวังว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาราว 35 ล้านคน จะมีรายได้ 1,818 ล้านล้านบาท แต่พอค่าเงินบาทแข็งขึ้น สิ่งที่คาดหวังไว้อาจไม่เป็นไปตามที่หวัง เพราะเมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้นก็จะมีผลต่อความรู้สึกของนักท่องเที่ยว เพราะค่าใช้จ่ายในการมาท่องเที่ยวก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย นักท่องเที่ยวที่ยังมาไทยก็จะจับจ่ายใช้สอยน้อยลง หรืออาจจะเลือกไปประเทศที่มีค่าเงินอ่อนกว่า และในทางตรงข้าม…คนไทยอาจจะไหลไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น เพราะค่าใช้จ่ายลดลง …นี่ก็ผลอีกด้าน

ผู้ประกอบการไทยก็ต้องปรับตัว หาวิธีรับมือให้ดี ต้องมีการบริหารจัดการความเสี่ยง” …ทางนักวิชาการท่านเดิมระบุ และว่า… ผู้ประกอบการรายใหญ่คงไม่ค่อยมีปัญหา ส่วนใหญ่มีสัญญาที่ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ก่อนแล้ว แต่ที่จะได้รับผลกระทบหนักคือกลุ่มที่ไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงไว้ซึ่งหลาย ๆ บริษัทที่ทำธุรกิจส่งออกมักจะชะล่าใจเรื่องนี้

ทั้งนี้ ผศ.ดร.ภูษิต ได้แนะนำทิ้งท้ายมาด้วยว่า… ผู้ประกอบการ ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มากขึ้น นำนวัตกรรม เทคโนโลยีต่าง ๆ มาช่วยในการผลิตมากขึ้น รวมทั้งเน้นการบริหารของเสียต่าง ๆ อีกทั้ง ควรเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ การออกแบบเฉพาะ เพื่อจะทำให้สินค้าสามารถขึ้นราคาได้ ส่วน สินค้าเกษตรก็ต้องมีการเพิ่มมูลค่าอย่างการแปรรูป รวมถึง เพิ่มการทำตลาดออนไลน์ให้สามารถเข้าถึงลูกค้าต่างประเทศได้มากขึ้น ซึ่งเงินบาทแข็งค่าไม่ได้แข็งขึ้นกับเงินทุกประเทศ ดังนั้น อาจลองเลือกคู่ค้าที่อาจจะมีความต้องการสินค้ามากขึ้นในอนาคต …นี่ก็อีกวิธีที่มีการแนะนำ

ก็ “หวังว่าทั้งรัฐทั้งธุรกิจจะรับมือได้”

รับมือได้กับ “กรณีเงินบาทแข็งค่า”

โดย “ผลลบไม่เทสู่ประชาชน??”.

ทีมสกู๊ปเดลินิวส์