นอกจาก “หมูเด้ง” สวนสัตว์เปิดเขาเขียว จ.ชลบุรี ยังมี “หมูด้วง” สวนสัตว์จังหวัดขอนแก่น เกิดเมื่อวันที่ 15 เม.ย. ที่ผ่านมา เกิดจากพ่อพันธุ์ชื่อ ณเดช อายุ 14 ปี และแม่พันธุ์ชื่อ ญาญ่า อายุ 19 ปี ที่สำคัญ “หมูด้วง” มีศักดิ์เป็นหลานของ “หมูเด้ง” ซึ่งพ่อพันธุ์ ณเดช เกิดจากแม่พันธุ์ชื่อ “โจวน่า” เป็นแม่พันธุ์เดียวกันกับ “หมูเด้ง” ต่อด้วย “คากิ” สวนสัตว์จังหวัดอุบลราชธานี วัย 7 เดือน หลานของ “หมูเด้ง” ที่มีความตัวตึงไม่แพ้คุณน้า ส่วนแม่ของคากิ (แม่พะโล้) เป็นพี่ของหมูเด้ง

วันนี้ทีมข่าววาไรตี้สัตว์เลี้ยงจะพาไปรู้จัก “ฮิปโปแคระ (Pygmy Hippopo-tamus)” ว่ามีความเป็นมาอย่างไร ฮิปโปแคระ (Pygmy Hippopotamus) เป็นญาติห่าง ๆ ของฮิปโปโปเตมัส (Hippopotamus) มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาตะวันตก โดยจำนวนฮิปโปแคระในปัจจุบันคาดว่าเหลืออยู่ในป่าทั่วโลกประมาณ 2,000-3,000 ตัว ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในไลบีเรีย ขณะที่ในเซียร์ราลีโอน กินี และไอวอรีโคสต์มีจำนวนน้อยกว่า

ฮิปโปแคระ (Pygmy Hippopotamus) ความยาวจากปลายจมูกถึงโคนหาง 1.5-1.75 เมตร ความสูงช่วงไหล่ 75-100 เซนติเมตร เมื่อโตเต็มวัยจะมีน้ำหนักสูงสุดประมาณ 600 ปอนด์ (ประมาณ 270 กิโลกรัม) ขณะที่ฮิปโปโปเตมัส (Hippopotamus) จะมีน้ำหนัก 4.5 ตัน (4,500 กิโลกรัม) มีลักษณะนิสัยชอบอยู่สันโดษ (อยู่เดี่ยวหรืออยู่คู่) ต่างจากฮิปโปโปเตมัสที่อาศัยอยู่เป็นฝูงประมาณ 40-200 ตัว

ลูกฮิปโปแคระ (Pygmy Hippopotamus) แรกเกิดจะมีน้ำหนักเพียง 10-14 ปอนด์ (4.5 – 6.4 กิโลกรัม) ลูกฮิปโปแคระจะอยู่กับแม่จนกระทั่งหย่านม โดยจะซ่อนตัวอยู่ใกล้ ๆ น้ำ ในขณะที่แม่ออกไปหาอาหาร และลูกฮิปโปแคระจะหย่านมเมื่ออายุได้ 6-8 เดือน ทั้งนี้ฮิปโปแคระ (Pygmy Hippopotamus) จะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ในช่วงอายุ 3-5 ปี โดยผสมพันธุ์ทั้งบนบกและในน้ำ

เหงื่อของ “ฮิปโปโปเตมัส” (Hippopotamus) เป็นของเหลวสีแดงคล้ายสีของเลือด แต่ไม่ได้มาจากเลือด โดยผลิตจากต่อมใต้ผิวหนัง มีลักษณะเหนียวหนืด ไม่ระเหยเหมือนเหงื่อของสัตว์อื่น ๆ แต่จะเคลือบอยู่บนผิวของฮิปโปฯ ทำหน้าที่คล้ายครีมกันแดด ปกป้องอันตรายจากแสงแดด และดูดซับรังสีอัลตราไวโอเลต แต่ฮิปโปแคระ (Pygmy Hippopotamus) เหงื่อสีใสไม่แดงเหมือนฮิปโปฯ อายุขัยที่แน่นอนยังไม่ทราบแน่ชัด แต่คาดว่าฮิปโปแคระ (Pygmy Hippopotamus) จะมีอายุระหว่าง 30-50 ปี

ฮิปโปแคระ (Pygmy Hippopotamus) จัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ระดับ Regionally Extinct: RE ตามการจัดอันดับของ IUCN Red List เนื่องจากสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยเนื่องจากการทำลายป่าและการล่าเพื่อเนื้อและชิ้นส่วนต่าง ๆ.

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่