ฝุ่นตลบ ทำเอา “รัฐบาลเพื่อไทย”หายใจแทบไม่ออก ยิ่งกว่า PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน เมื่อไปดันแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา “หมวดจริยธรรมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ถูกถล่มหนักจนต้องแก้เขิน บอกเอาเรื่องปากท้องประชาชนก่อน  “คอลัมน์ตรวจการบ้าน” จึงต้องมาสนทนากับ “ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก” และอดีตกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ถึงการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ใครได้ใครเสีย

โดย “ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก” ออกมาเปิดประเด็นว่า เรื่องนี้นักการเมืองมีแต่ได้กับได้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหน เป็นการแก้เพื่อ “รักษาอำนาจ” แล้วทำไมต้องมาแก้ตอนนี้ ซึ่งทีแรกเหมือนจะไม่สนว่าประชาชนกำลังเดือดร้อนจากอุทกภัย หรือใครจะว่าอะไร แต่พอโดนกระทุ้งมากเข้าก็รู้สึกว่า เอาเรื่องนี้ไปซ่อนไว้ก่อน เอาเรื่องน้ำท่วมก่อน

แต่ประชาชนเห็นแล้วว่า เขาให้ความสำคัญกับอะไรมาเป็นอันดับแรก นั่นคือ การรักษาอำนาจไว้ เพราะสิ่งเหล่านี้จะนำมาซึ่งผลประโยชน์ต่อไป เนื่องจากที่ผ่านมาทั้งนายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่ง นายพิชิต ชื่นบาน ต้องลาออก และอีกหลายคนที่ถูกขึง ถ้าไม่เอาเรื่องนี้ออก หรือไม่ปรับแต่งจนกระทั่งรู้สึกว่า น่าจะทำอะไรได้คล่องขึ้น สบายใจในการรักษาอำนาจของตัวเองได้มากขึ้น เขาก็จะรู้สึกเหมือนมีไฟมาลน มีหอกดาบจ่ออยู่ตลอดเวลา

ถ้าเกิด..แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จับพลัดจับผลูหลุดไปเหมือนนายเศรษฐา เท่ากับว่า นายทักษิณ ชินวัตร ไม่มีรายชื่อใครเป็นนายกฯ อีกแล้ว เพราะนายชัยเกษม ก็คงไม่ไหว อาจกลายเป็นชื่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล หรือใครก็ไม่รู้ ต้องจัดทัพ จัดโควตากันใหม่ และคิดว่าเขาคงไม่มั่นใจว่าตัวเอง หรือพวกเขามีจริยธรรมกันหรือไม่ เพราะรู้กันอยู่ว่าใครเป็นอย่างไร ถึงได้เห็นใครหลายคนถอนตัว

@ มีการยกเหตุผลว่าเพื่อไม่ให้เกิดการตีความที่เกินเลยจากกฎหมาย

เขาคงมองว่าถูก “กลั่นแกล้ง” แต่ตนเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญพูดชัดเจน ว่า “ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์” วิญญูชน ซึ่งเป็นคนธรรมดาทั่วไป รับรู้ผิดชอบชั่วดี นี่เป็นสิ่งที่คนทั่วไปควรรู้ เหมือนร้องเพลงตอนเด็กว่า ความซื่อสัตย์เป็นสมบัติของผู้ดี หากว่าใครไม่มี ชาตินี้เอาดีไม่ได้ มีความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอดถมไป คดโกงแล้วใครจะรับไว้ให้ร่วมงานเอย

ส่วนเรื่องจริยธรรม แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญอาจเขียนไว้กว้าง แต่ก็ได้ผูกไว้กับประมวลจริยธรรม ซึ่งแจกแจงเอาไว้หมดว่าอะไรบ้าง ที่อเมริกา อังกฤษ ยุโรป ญี่ปุ่น ก็มีประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้นบ้านอื่นเมืองอื่นเขาก็มี  

@ หากแก้เรื่องจริยธรรมสําเร็จประชาชนจะเสียอะไรบ้าง

เสียเป็นอย่างมาก 1. เสียการตรวจสอบแน่นอน หากเอาเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตออก หรือปรับแต่งจนเบาบางจะเป็นการอนุญาตให้ใครเข้ามาก็ได้ 2. เสียขนบธรรมเนียมที่ศาลรัฐธรรมนูญปรับให้เป็น “จารีตประเพณี” ทำให้การรับคนเข้าทำงานต่างๆ ที่ต้องการคนซื่อสัตย์ สุจริต มีจริยธรรม เข้ามาทำงาน และไม่สามารถคัดคนที่ไม่มีสิ่งเหล่านี้ออกไปได้ และ 3.ประชาชนเสียขวัญ เพราะจะมีบางคนชอบและเลือกใครบางคนเข้ามา แม้ว่าคนนั้นจะถูกตั้งคำถามมากว่าสมควรเข้ามาหรือไม่ อย่างที่คนบอกว่า ตกลง “นาฬิกา”เพื่อน หรือ “ค้ายา” ทำไมไม่เอาออก เป็นต้น ดังนั้นประชาชนจะเสียขวัญว่าทำไม่ได้ต้องมานั่งเลือกระหว่างคนเลวน้อย เลวมาก ทำไมจะเลือกคนที่ไม่มีความเลวเลยไม่ได้หรือ  

@ เรื่องนี้มีความเปราะบางไม่แพ้กับมาตราอื่นๆ ที่มีคนพยายามแก้ไข เช่น มาตรา 112 หรือไม่

มันเป็นการนำไปสู่ทิศหนึ่ง ทางใดที่ขนานกันอยู่ ถ้าคนบริหารราชการแผ่นดิน คนที่ทำงานสำคัญของบ้านเมือง “บกพร่อง” สิ่งเหล่านี้จะกระทบกับความเชื่อมั่นต่อองคาพยพทั้งหมด เกิดความคลางแคลงว่าทำไมปล่อยให้มีคนแบบนี้ อันนี้อาจไม่ได้เป็นเรื่องที่กระทบโดยตรง เช่น เอามาตรา 112 ออก ก็กลายเป็นว่าการคุ้มครองประมุขของรัฐหายไป และไม่ถึงขั้นเซาะกร่อนบ่อนทำลาย  แต่เป็นการสร้างความเสื่อม ทำให้ค่อยๆ ลดน้อยถอยลง ดังนั้นการกำหนดจริยธรรมไว้ และปฏิญาณตนไว้ ถึงจะทำให้ดูมีค่าขึ้น  

@ เรื่องจริยธรรมควรพักไปทำเรื่องเร่งด่วนให้ประชาชนก่อน หรือเลิกคิดที่จะแก้ไปเลย

ลองถามประชาชนทั้งหลาย โดยเฉพาะคนที่ยังเรียนหนังสืออยู่ หากเราทำคะแนนได้ไม่ค่อยดี เราควรขยันศึกษา อ่านหนังสือเพิ่มขึ้น หรือควรไปบอกอาจารย์ให้ออกข้อสอบง่ายๆ หรือให้คะแนนเลย ถ้าคิดว่า บทจริยธรรมเป็นปัญหาของชีวิต ก็ปรับปรุงตนเอง คนทั่วไปย่อมมีทั้งดี ไม่ดี เป็นธรรมชาติของคน แต่จะกลัวอะไร ต่อให้เขียนกว้าง ต่อให้บอกว่าซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ เมื่อคุณไม่ได้คดโกงใคร ไม่ได้โกงข้อสอบ ไม่ได้ค้าสิ่งผิดกฎหมาย การกำหนดเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตจะไปมีปัญหาอะไรกับคุณ

คุณไม่ได้แสดงออกว่าคุณไม่ได้รักษาสถาบันหลักของบ้านเมือง คุณพร้อมที่จะทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง คุณไม่ได้แสดงออกแบบนั้น และคุณก็ไม่ได้ทำ แล้วคุณจะกลัวอะไร เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญคือคุณปรับปรุงตัวเอง ไม่ใช่ไปแก้บทบัญญัติของกฎหมายที่มันดีอยู่แล้ว”

@ การแก้รัฐธรรมนูญเป็นนโยบายของรัฐบาล การแก้ควรเป็นอย่างไร

การแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ ในเรื่องที่ควรแก้ไข ปรับปรุง เพิ่มเติม ที่ทำให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้ “แต่ถ้าไม่ใช่ ก็ไม่ควรไปยุ่ง” คุณสามารถมีนโยบายแก้รัฐธรรมนูญได้ แต่ควรคำนึงถึงกาลเทศะด้วย ตอนนี้น้ำกำลังท่วม ประชาชนกำลังลำบาก การจะทำตามนโยบายแล้วเดินไปถามประชาชนที่กำลังน้ำท่วมว่าจะแก้รัฐธรรมนูญดีหรือไม่ แบบนี้ใช่กาลเทศะหรือไม่ ที่สำคัญเรื่องที่เสนอแก้ตอนนี้ สำหรับตนคือเรื่องที่ไม่ควรแก้

นอกจากกาลเทศะแล้ว “วิธีการ” ก็เป็นเรื่องที่อันตราย ซึ่งกฎหมาย “ประชามติ”ร่างที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วเป็นร่างที่ “อ่อนมาก” โดยการเอาเสียงข้างมากของคนที่ออกมาใช้สิทธิ แถมมีคำถามว่า ไม่ประสงค์ลงคะแนน และยังทำหลายรอบ

ส่วนตัวยังหวังว่า วุฒิสภาจะ “แก้ไข” หรือ “ไม่เห็นด้วย” ตนเห็นว่าการทำประชามติควรเป็น 2 ชั้น ชั้นแรกคนออกมาเกิน กึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 52 ล้านคน เกินกึ่งหนึ่งคือ 27 ล้านคน การที่จะถือเป็นคำตอบได้ก็ต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้ที่ต้องออกมาเกินกึ่งนั้น หรือ 14 ล้านคน

ดังนั้นหวังว่า สว. ต้องกลับไปที่ร่างซึ่งเสนอโดย “พรรคภูมิใจไทย” ไม่เช่นนั้น จะอันตรายมากกว่า เพราะจะใช้ประชามติตรงนี้เปิดช่อง ไปยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยเป็นความร่วมมือระหว่างพรรคคือ “เพื่อไทย”และ “พรรคประชาชน”

ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกแม้จะอยู่คนละฝ่าย เพราะถ้าพิจารณาจากคนที่เขาว่ากันว่าคุยกันอยู่ตลอด คือ “นายทักษิณ” กับ “นายธนาธร” ดังนั้นแม้ 2 พรรคดูเหมือนสู้กันอย่างไร แต่มีครรลองบางอย่างของการเป็นนักการเมืองที่คิดร่วมกันอยู่ ถ้าในแง่มาตรา 112 ..แพทองธารก็เคยพูดถึง แปลว่าก็มีอะไรที่คิดร่วมกันแต่ฝ่ายหนึ่งคิดดังและบานปลาย อีกคนคิดเบาๆ ไม่ใช่ว่า “ไม่” แต่ยังไม่ได้ลุกลาม ดังนั้นแม้กระทั่ง มาตรา 112 เขาก็ยังมีอะไรร่วมกัน

ดังนั้นในเรื่องจริยธรรม พรรคประชาชนอาจจะมั่นใจด้วยซ้ำว่าอาจพอมีจริยธรรมมากกว่า แต่สิ่งที่จะเอาด้วย คือ ไม่ให้ศาลมาตรวจสอบนักการเมือง ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า “ศัตรูของศัตรู ก็คือมิตร” ฉะนั้นมันเกื้อกูลกันอยู่แล้ว

และท้ายที่สุดคือเขารู้อยู่แล้วว่า พอถึงเวลายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือค่อยๆ แก้ไปเรื่อยๆ จะทำให้รู้สึกว่าก็แก้ได้ แล้วค่อยๆ คืบคลานไปแก้เรื่องต่างๆ แล้วมันจะกลายเป็นการปรับโครงสร้างของสถาบันหลักของบ้านเมือง ปรับเรื่องชาติ คือ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับประชาชน ปรับเรื่องศาสนา และจะปรับในเรื่องพระมหากษัตริย์ ซึ่งอันนี้แหละที่ลงตัวกัน

โดยดูจากพฤติกรรมของนายทักษิณ นายธนาธร หรืออาจจะรวมไปถึงดร.ปิยบุตร น..พรรณิการ์ หรือใครต่อใคร อย่าง นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ  ยังขอผสมเทียม ชักชวนกันแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่นายกฯ แถลงนโยบายดังนั้นชัดเจนอยู่แล้ว ผลประโยชน์ลงตัว การเมืองไม่ว่าจะคิดอะไร แบบไหน ตราบเท่าที่ยังพัฒนาไม่มากพอ ผลประโยชน์ลงตัวก็คุยกันได้ทุกอย่าง