ฟุตบอลกับธุรกิจกลายเป็น 2 สิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้มานานพักใหญ่ และต่างต้องพึ่งพาอาศัยกันเพื่อความอยู่รอด
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้ากลับกลายเป็นว่า ฟุตบอลกำลังถูกกลืนกิน และกำลังจะกลาย หรือ กลายเป็นธุรกิจอย่างเต็มตัวไปแล้ว
ตลอดหลายปีที่ผ่านมาเราได้เห็นนักลงทุนจากฝั่งอเมริกาข้ามมาลงทุนในวงการลูกหนังยุโรปเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
นับเฉพาะในลีกเบอร์ 1 ของโลกอย่าง พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ก็มีเจ้าของเป็นชาวอเมริกันถึง 9 จาก 20 สโมสรเข้าให้แล้ว
แน่นอนว่า ขึ้นชื่อว่านักลงทุนเป้าหมายอันดับ 1 ของพวกเขาย่อมต้องเป็น “ผลกำไร” ส่วนผลงานในสนามเป็นเรื่องรอง
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นกรณีของ ตระกูลเกลเซอร์ กับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่เจ้าของทีมชาวอเมริกัน เจตนาเข้ามากอบโกยเพียงอย่างเดียวจนทำให้ ผีแดง กลายสภาพเป็นยักษ์ลำบากมานานนับทศวรรษ
ขณะที่ 2 องค์กรลูกหนังระดับบิ๊กของโลกอย่าง ฟีฟ่า และ ยูฟ่า ก็เอากับเขาด้วย เมื่อพยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบการแข่งขัน หรือ ผุดทัวร์นาเมนต์ใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อแสวงหาผลกำไรจากโปรแกรมที่เพิ่มขึ้น และทำให้นักเตะต้องลงสนามอย่างต่อเนื่องจนแทบไม่ได้หยุดพักหายใจ
สหพันธ์นักฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟิฟโปร เชื่อว่า ปีนี้จะเป็นปีที่เลวร้ายที่สุดในแง่สวัสดิภาพนักเตะ เนื่องจากมีฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก หรือ ฟีฟ่า คลับ เวิลด์ คัพ 2025 ที่สหรัฐ ซึ่งจะเป็นการแข่งขันรูปแบบใหม่ โดยมีทีมเข้าร่วมโม่แข้งเพิ่มขึ้นเป็น 32 ทีม และจะกินเวลายาวนานเกือบ 1 เดือน มายืนรออยู่หลังจบซีซั่น 2024/25
ขณะที่ โรดรี เอร์นานเดซ ห้องเครื่องตัวเก่งของ แมนเชสเตอร์ ซิตี มองว่า ในหนึ่งฤดูกาลนักเตะควรลงเล่นสูงสุดไม่เกิน 40-50 นัดเพื่อให้สามารถโชว์ฟอร์มได้ในระดับสูงสุด
ทว่าเมื่อมองจากโปรแกรมการแข่งขันที่อัดแน่นแล้ว ปีนี้เราอาจจะได้เห็นนักเตะบางคนลงเล่นระหว่าง 70-80 นัด ซึ่ง โรดรี มองว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่นักเตะจะยังเล่นได้ดีอย่างต่อเนื่องเพราะมันหนักหนาสาหัสเกินกว่าที่ร่างกายของพวกเขาจะรับไหว
สิ่งที่ โรดรี พูดไม่ใช่เรื่องเกินจริงแต่อย่างใด เมื่อตัวเขาเองที่ลงเล่นให้ แมนฯ ซิตี ไป 4,327 นาทีจากการลงสนาม 50 นัดในฤดูกาลที่แล้ว ก่อนเดินทางไปช่วย ทีมชาติสเปน ในศึกยูโร 2024 เพิ่งได้รับบาดเจ็บหัวเข่าอย่างรุนแรง และน่าจะต้องพักยาวไปตลอดช่วงที่เหลือของฤดูกาลเรียบร้อย
งานนี้หากไม่มีใครกระโจนลงมาดูแลเรื่องสวัสดิภาพนักเตะ และแก้ไขปัญหาเรื่องโปรแกรมการแข่งขันที่อัดแน่นจนเกินงาม “อย่างจริงจัง” เราก็คงจะได้เห็นนักเตะฝีเท้าดีหลายคนต้องแขวนสตั๊ดก่อนวัยอันควรเหมือนที่ มานูเอล อคานจี พูดแบบทีเล่นทีจริงเอาไว้ว่า พาอายุเข้าสู่วัย 30 ตัวเขาเองก็อาจจะต้องเลิกเล่นฟุตบอลแล้ว
ทีนี้เมื่อไม่มีนักเตะเก่ง ๆ ซึ่งเปรียบได้เหมือนนักแสดงนำมาเป็นตัวชูโรง ฟุตบอลก็จะขาดเสน่ห์ ความนิยมก็จะลดน้อยลง และมันก็ย่อมส่งผลต่อการทำธุรกิจของบรรดานายทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน.
แท ยอน