แรงดีไม่มีตกกับ “กระแสฟีเวอร์น้องหมีเนย” ที่ไม่ได้ฮิตแค่ชาวไทย แต่ดังไกลถึงจีน จนมีด้อมจีนบินข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อมาเจอน้องหมีตัวนี้ โดยนอกจากกระแสความชื่นชอบแล้ว ในแง่กลยุทธ์ธุรกิจก็น่าสนใจ ที่วันนี้คอลัมน์นี้มีแง่มุมมาให้พิจารณากัน…

เกี่ยวกับการวิเคราะห์นี้มาจาก  ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา ที่ได้ถอดรหัสเรื่องนี้ไว้ โดยได้สะท้อนเอาไว้ในบทวิเคราะห์ซึ่งเผยแพร่อยู่ใน เว็บไซต์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยกล่าวถึงกรณีนี้ว่า “น้องหมีเนย” หรือ “Butterbear” ที่คนไทยและชาวจีนคลั่งไคล้จนเกิดเป็น “แฟนด้อมน้องเนย” ขึ้นมานั้น เป็นมาสคอตที่ร้านขนมชื่อ Butter Bear Cafe ซึ่งเป็นแบรนด์ในเครือCoffee Beans by Dao จัดทำขึ้น เพื่อให้เป็นมาสคอตประจำร้าน แต่หลังมีคลิปไวรัลของมาสคอตตัวนี้มากมาย จนจำนวนแฟนด้อมเพิ่มขึ้นรวดเร็ว ก็ส่งผลทำให้ธุรกิจร้านขนมร้านนี้มีการขยายตัวทางธุรกิจเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเมื่อพิจารณาในแง่ของ “การตลาดผ่านมาสคอต” เช่น กรณีน้องหมีเนยนั้น  ดร.กุลนรี ระบุว่านับเป็นกลยุทธ์ที่น่าสนใจมาก เพราะทำให้แบรนด์ประสบความสำเร็จในหลาย ๆ ด้านจากการที่ธุรกิจเลือกใช้กลยุทธ์นี้ ทั้งที่แบรนด์เพิ่งจะมีอายุเพียง 1 ปีเท่านั้น

ดร.กุลนรี นุกิจรังสรรค์

              

ทั้งนี้ เมื่อนำเรื่องนี้มาถอดรหัสก็พบว่า  ความสำเร็จที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากการวางแผนทางการตลาดที่ถูกต้องและเหมาะสมของแบรนด์และกลุ่มเป้าหมาย โดยในช่วงเริ่มแรก ร้านได้เน้นขายผ่านออนไลน์อย่างเดียว แต่พอกระแสแรงขึ้น ทางร้านจึงเปิดเป็นร้านป๊อบอัพสโตร์ ก่อนจะมีหน้าร้านที่เป็นทางการในที่สุด ซึ่งการที่ร้านประสบความสำเร็จจากกลยุทธ์นี้ เพราะให้มาสคอตหมีสีน้ำตาล ตัวนี้ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งช่วยรสร้างภาพลักษณ์ สร้างคุณค่า รวมไปถึงทำให้แฟนด้อมมีความรู้สึกดี ๆ และรู้สึกร่วมกับน้องหมีตัวนี้ ส่งผลให้ชื่อของหมีเนยกับชื่อร้านถูกรีโพสต์และแชร์ส่งต่อกันมากมาย จนเป็นที่รู้จักวงกว้างในเวลารวดเร็ว ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้น เกิดจากการเลือกใช้ช่องทางการตลาดที่ถูกต้อง ที่เน้นใช้ช่องทางออนไลน์ในการโปรโมต เนื่องจากเหมาะกับพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยและจีน แถมเมื่อเป็นกระแสขึ้น ร้านยังนำความเห็นของลูกค้ามาปรับใช้ให้ตอบโจทย์ความต้องการของแฟนด้อมอีกด้วย ถือเป็นการทำการตลาดที่ยืดหยุ่นและได้ผล

นอกจากนั้น เมื่อพบว่าฐานลูกค้าของห้างที่ร้านขนมตั้งอยู่ส่วนหนึ่งเป็นชาวจีน ร้านก็ไม่รอช้าที่จะสร้างแพลตฟอร์มในโซเชียลที่คนจีนนิยมทันทีเพื่อทำการตลาด  แถมสร้างโอกาสให้ตัวเองเพิ่มขึ้น ด้วยการหาพันธมิตรในจีนเพื่อทำการตลาดสำหรับการเตรียมตัวเพื่อรุกไปสู่ตลาดจีน นี่ก็เป็นการวิเคราะห์จากทาง ดร.กุลนรี ศูนย์จีนศึกษา จุฬาฯ ที่นำกรณีน้องหมีเนยมาถอดรหัส “กลยุทธ์ธุรกิจ” ที่เอสเอ็มอีอื่น ๆ เองนั้น ก็สามารถนำไปปรับใช้ได้.

 ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ [email protected]