หลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี ส่งผลให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)พ้นไปทั้งคณะเช่นเดียวกัน แต่พรรคเพื่อไทยยังได้สิทธิ เป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาล  แต่ดันมีเหตุการณ์ปรากฏภาพ “ทักษิณ ชินวัตร” เรียกบรรดาพรรคร่วมเข้าไปพูดคุยในเย็นวันที่ 14 สิงหาคม 2657 ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ ชี้ “เศรษฐา”ไร้จริยธรรม ที่ไปแต่งตั้งคนมีตำหนิ

ส่งผลให้..แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวคนเล็กของ “ทักษิณ” เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ที่อายุน้อยที่สุด  แต่การจัดทัพก็ไม่ง่าย จากรอยร้าวกลายเป็นแตกหักกับก๊วน “พล..ประวิตร วงษ์สุวรรณ” สถานการณ์ของรัฐบาลใหม่จากสูตรพิสดาร โดยเฉพาะตัว “นายกฯ แพทองธาร” ที่เรียกว่า ยังอยู่ภายใต้คมหอก คมดาบทางการเมือง  บรรดาเซียนการเมืองทั้งหลายต่างวิเคราะห์ว่า “องค์กรอิสระ” จะถูกใช้เป็นเครื่อง จุดไฟนิติสงครามเป็นเหตุเกิดความขัดแย้งรอบใหม่เกิดวงจรอุบาทว์ขึ้นได้อีก หรือไม่

งานนี้ “คอลัมน์ตรวจการบ้าน” จึงต้องมาสำรวจแนวรบ ในองค์กรอิสระโดยเพราะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่หนึ่งในการคุมกติกาการบ้านเมืองในการเลือกตั้ง ให้ประชาชนใช้สิทธิ์ลงคะแนนเลือกสส.เข้ามาทำหน้าที่ในสภา และบริหารประเทศ จึงต้องมาสอบถามกับพ่อบ้านกกต.อย่าง “แสวง บุญมี”เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าได้มีการตั้งรับกับสถานการณ์การเมืองในช่วงนี้อย่างไร ที่มีการห้ำหั่นแฉกันไปมานี้อย่างไร

 โดย “เลขาฯกกต.” เปิดประเดว่า สภาพการเมืองในปัจจุบัน มองเห็นไม่แตกต่างจากคนไทยทั่วไป “คงจะบอกว่ามันดีแล้วไม่ได้” แต่ส่วนตัวเชื่อว่าคนไทยทุกคนก็อยากเห็นการเมืองดีกว่าที่เป็นอยู่ในวันนี้ เพราะการเมืองมีส่วนในการพัฒนาประเทศ ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี สร้างโอกาสให้แก่คนไทย ทั้งในทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน นั่นหมายความว่า ถ้าการเมืองดี การบริหารจัดการบ้านเมืองก็จะดี และจะยังส่งผลให้บ้านเมืองดีในท้ายที่สุด

                การเมืองจะดีเป็นเรื่องของคนไทยทุกคน ไม่มีใครหรือองค์กรใดจะทำให้การเมืองให้ดีได้เพียงลำพัง การจะทำให้การเมืองดีจึงเป็นโจทก์ร่วมกันของคนไทยทุกคน

                ในสภาพปัจจุบันถือว่าเรามีต้นทุนทางการเมืองที่ดีอยู่ประการหนึ่ง คือ การที่ประชาชนสนใจ และเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเข็มข้นและกว้างขวาง แต่การที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะทำให้การเมืองดีได้ หรืออาจจะทำให้การเมืองไม่ได้ดีขึ้นเลยก็ได้ หากการเข้ามามีส่วนร่วมนั้นไม่เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อันเป็นประมุข ดังนั้น การเมืองจึงเป็นเรื่องของคนไทยทุกคน และทุกคนสามารถทำให้การเมืองดีได้

                สุดท้ายการเมืองของบ้านเราจะเป็นอย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่า ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็มีทางออกที่ดีเสมอ และมันคงจะดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะคงไม่มีใครต้องการให้มันแย่ลง อย่างไรก็ตามก็ยังคาดเดาอะไรไม่ได้แต่เราก็ได้มีการดำเนินการตามกฎกติกาที่มีอยู่ในมือ

@ กกต.จะรับมืออย่างไรต่อสถานการณ์การเมืองในช่วงเวลานี้ในฐานะมีส่วนเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

            เรื่องนี้จะไม่ยากเลย ถ้าทุกฝ่ายรับผิดชอบต่อบ้านเมืองตามหน้าที่ของตน แต่จริงๆ พูดอาจจะง่ายแต่ก็คงปฏิบัติยากอยู่ เพราะเรื่องการได้มา ซึ่งอำนาจทางการเมืองบ้างครั้งก็มีความสลับซับซ้อนพอสมควร  ส่วนที่ว่าจะรับมือกับสถานการณ์ขณะนี้อย่างไรนั้น ที่จริงแล้วเรื่องลักษณะนี้ ผ่านเข้ามาให้เห็นเป็นประจำ สำหรับเรามันคือเรื่องปกติ เพราะเป็นหน้าที่ เรื่องแล้วเรื่องเล่าที่ผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านออกไป เรื่องใหม่ก็เข้ามาแทนตัวละครก็วนอยู่กับคนกลุ่มเดิมๆ แต่สำหรับประชาชนอาจให้ความสำคัญ หรือให้ความสนใจ ด้วยเหตุบริบทการเมืองขณะนั้นซึ่งอาจมองว่าเป็นความขัดแย้งเรื่องอำนาจ หรือผู้ถูกร้องเป็นคนสำคัญ อาทิ เป็นหัวหน้าพรรค เป็นนายกรัฐมนตรี หรือเป็นรัฐมนตรี หรือเป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่มีบทบาทสำคัญต่อความเป็นไปของบ้านเมือง เป็นต้น

แต่เรื่องที่ร้องเรียนเข้ามาในบางเรื่องก็อาจเป็นแค่เรื่องเล็กน้อย หรือไม่มีสาระสำคัญแต่อย่างใด ดังนั้น สำหรับเรา กกต. มันคือหน้าที่ เพราะฉะนั้น ไม่ได้วิตกกังวล หรือหนักใจแต่อย่างใ”

@ จะทำอย่างไม่ให้ กกต.ถูกใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายใด

                 ประการที่ 1 อยากสื่อออกไปว่า เราไม่เป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างแน่นอน ส่วน                 ประการที่ 2 ทุกฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งกันจะได้รับความเป็นธรรมต่อหน้ากฎหมาย ซึ่งจะขยายความต่อไปว่า เรื่องนั้นๆ กฎหมายกำหนดเป็นความผิดหรือไม่ ถ้ากำหนดเป็นความผิด แล้วมีองค์ประกอบความผิดเป็นอย่างไรบ้าง และเรื่องนั้นมีข้อเท็จจริงฟังเป็นที่เป็นที่ยุติว่าอย่างไรบ้าง  ประการที่ 3 เราจะทำหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรม เที่ยงตรง บังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคและถูกต้องตามข้อเท็จจริง  

                 เราเชื่อว่าการบังคับใช้กฎหมายอย่างถูกต้อง เที่ยงตรง เที่ยงธรรม ดังกล่าวข้างต้น ทุกฝ่ายจะยอมรับ และสุดท้ายจะร่วมกันหาทางออกให้แก่ชาติบ้านเมืองได้

@ ขณะนี้ มีเรื่องร้องเรียนเข้ามายัง กกต.กี่เรื่อง

เท่าที่ได้รับรายงานเบื้องต้นมีเรื่องร้องเรียนเข้ามายังกกต.ประมาณ 10 หรือ 11 คำร้อง โดยเป็นเรื่องร้องเรียนให้ยุบพรรคการเมือง การร้องเรียนให้พ้นจากความเป็นนายกรัฐมนตรี ความเป็นรัฐมนตรี หรือเรื่องจริยธรรมของนักการเมือง เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ แต่ละเรื่องร้องเรียนจะกระจายอยู่ในแต่ละขั้นตอน  บางเรื่องยังอยู่สำนักงานหรือนายทะเบียนพรรคการเมืองแล้วแต่กรณีอยู่ระหว่างการตรวจสอบเบื้องต้นว่ามีข้อมูลพอที่จะรับไว้ดำเนินการหรือไม่ หรือบางเรื่องก็เสนอไม่รับไว้ดำเนินการไปแล้วก็มี  

                 โดยหลักการแล้วเรื่องที่จะไม่รับดำเนินการ คือ เรื่องที่ไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของ กกต. หรือนายทะเบียนพรรคการเมือง หรือเรื่องที่ไม่มีลักษณะเป็นคำร้อง อาทิ ตั้งเป็นข้อสังเกต ตั้งเป็นคำถาม คำปรึกษา โดยไม่ได้กล่าวหาหรือไม่ทราบว่าผู้ร้องมีเจตนาต้องการอะไร รวมทั้งบางเรื่องไม่มีข้อเท็จจริงใดๆ มายืนยันคำร้องแต่อย่างใด ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือนายทะเบียนพรรคการเมืองแล้วแต่กรณีจึงไม่รับเรื่องไว้ดำเนินการ

@ มีเรื่องที่สำคัญอะไร ที่พอจะทำให้เกิดเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอะไรบ้างหรือไม่  

                   ขณะนี้ทุกเรื่องอยู่ระหว่างการดำเนินการ คงยังบอกอะไรไม่ได้ ขึ้นอยู่กับข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงเป็นเรื่องๆ ไป  แต่ขอยืนยันอีกครั้งว่า ทุกคนจะได้รับความยุติธรรมต่อหน้ากฎหมาย และเราจะทำหน้าที่ด้วยความถูกต้อง เที่ยงตรง เที่ยงธรรม.