“ในตอนนั้น อีเลียสมีอายุ 20 หรือ 21 ปี ส่วนโทมัสมีอายุ 19 ปี และเบอร์ฮานมีอายุ 18 ปี” เออร์เมียส กล่าว “แม้เวลาจะผ่านมาครึ่งศตวรรษแล้ว แต่ผมยังคงรู้สึกเศร้ามาก และผมยังจำเหตุการณ์นั้นได้ ราวกับว่ามันเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้” เออร์เมียส กล่าว

วันที่ 12 ก.ย. ที่ผ่านมา ถือเป็นวันครบรอบ 50 ปี นับตั้งแต่รัฐบาลทหารมาร์กซิสต์-เลนินิสต์ ที่รู้จักกันในชื่อ “เดิร์ก” (Derg) ยึดอำนาจในเอธิโอเปีย รวมถึงโค่นล้มจักรพรรดิไฮเล เซลัสซี และระบอบกษัตริย์ที่ปกครองประเทศมาเป็นเวลานานถึง 700 ปี

ชาวเอธิโอเปียหลายหมื่นคน เสียชีวิตจากน้ำมือของระบอบการปกครองแบบใหม่ ซึ่งปกครองประเทศด้วยความโหดร้าย จนกระทั่งรัฐบาลทหารถูกโค่นล้มเช่นกัน เมื่อปี 2534

ปัจจุบัน พ.อ.เมนกิสตู ไฮเล มาริยาม อดีตผู้นำรัฐบาลทหาร วัย 87 ปี ยังคงใช้ชีวิตอย่างสงบสุขในซิมบับเว แม้เขาถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และได้รับโทษประหารชีวิต เมื่อปี 2551 ก็ตาม ซึ่งสำหรับเออร์เมียส การลอยนวลพ้นผิดเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2517 กองทัพเอธิโอเปีย ทำการปฏิวัติและเข้ายึดอำนาจอย่างรวดเร็ว รวมถึงจัดตั้งคณะกรรมการบริหารโดยกองทัพชั่วคราว (พีเอ็มเอซี) ซึ่งเป็นชื่อทางการของเดิร์ก ขณะที่เหล่าพี่ชายของเออร์เมียส เป็นสมาชิกของกลุ่มกบฏคนรุ่นใหม่ ในพรรคปฏิวัติประชาชนเอธิโอเปีย (อีพีอาร์พี) ที่พยายามยึดอำนาจคืนจากกองทัพ

การปะทะระหว่างทั้งสองฝ่าย ทำให้พ.อ.เมนกิสตู ขึ้นเป็นผู้นำเอธิโอเปีย เมื่อปี 2520 และดำเนินการปราบปรามอย่างรุนแรงเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งในเวลาต่อมา มันเป็นเหตุการณ์ที่รู้จักกันในชื่อ “Red Terror” หรือ “แดงสยอง”

อีเลียส พี่ชายคนโตของเออร์เมียส ถูกจับกุมเมื่อเดือน พ.ย. 2519 ก่อนถูกจำคุกนานหลายเดือน และถูกทรมาน ซึ่งครอบครัวนำอาหารและเสื้อผ้าไปให้เขาเป็นประจำ จนกระทั่งวันหนึ่งในเดือน มี.ค. 2520 เจ้าหน้าที่เรือนจำบอกว่า พวกเขาไม่จำเป็นต้องมาเยี่ยมอีเลียสอีกต่อไป

ต่อมา โทมัส พี่ชายคนรองของเออร์เมียส ถูกประหารชีวิตที่โบสถ์แห่งหนึ่งในกรุงแอดดิสอาบาบา และศพของเขาถูกแสดงประจานต่อสาธาณะ เพื่อเป็นการเตือน ส่วนครอบครัวทราบถึงการเสียชีวิตของเบอร์ฮาน หลังการล่มสลายของเดิร์ด ในปี 2534 และสำหรับเออร์เมียส เขาเคยถูกจำคุกและถูกทรมาน หลังโดนจับได้ว่ามีใบปลิวสนับสนุนกลุ่มกบฏด้วย

อนึ่ง ทางการซิมบับเว ปฏิเสธที่จะส่งตัว พ.อ.เมนกิสตู กลับเอธิโอเปีย อีกทั้งในปี 2554 ผู้นำรัฐบาลทหารเดิร์กหลายคน ได้รับการลดโทษจากประหารชีวิต เป็นจำคุกตลอดชีวิต

แม้เออร์เมียนหวังว่า รัฐบาลเอธิโอเปียชุดปัจจุบัน จะทำตามแบบอย่างของรวันดา ซึ่งดำเนินการพิจารณาคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในปี 2537 อย่างไรก็ตาม เขาก็กังวลว่า บรรดาผู้นำเอธิโอเปีย ไม่มีความพยายามที่จริงจัง ในการช่วยเหลือเหยื่อให้ผ่านพ้นความเจ็บปวดทางจิตใจ หรือเสนอการชดเชยทางการเงินใด ๆ ซึ่งมันทำให้เอธิโอเปีย กลับสู่ภาวะสงคราม และเกิดความแตกแยกทางชาติพันธุ์อีกครั้ง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP