กรณีบริษัทฯ มีการทำสัญญาบริการดูแลเครื่องจักรเป็นรายปี ไว้แล้ว ต่อมาเครื่องจักรมีปัญหา บริษัทที่ทำสัญญาไว้เข้ามาทำการซ่อมเครื่องจักร และออกบิลเป็นขายอะไหล่ให้ เนื่องจากมีสัญญาบริการเป็นรายปีแล้ว เช่นนี้ บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับค่าอะไหล่ เนื่องจากถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างทำของ หรือสัญญาบริการดูแลเครื่องจักรเป็นรายปี อันเป็นสัญญาประธาน ที่มุ่งผลสำเร็จของงาน (บริษัทที่ออกบิลบอกว่าหัก ณ ที่จ่ายไม่ได้ จึงเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง)

กรณีบริษัทฯ ซื้ออะไหล่เครื่องจักร โดยบริษัทผู้ขายอะไหล่ได้มาทำการเปลี่ยนอะไหล่ให้ด้วยนั้น

กรณีที่ 1 บริษัทผู้ขายอะไหล่ไม่ใช่ผู้ทำการตรวจเช็กข้อบกพร่องของเครื่องจักร ไม่ว่าประการใด ๆ เป็นแต่เพียงผู้ขายอะไหล่ฯ ในลักษณะที่เป็นการขายสินค้าอะไหล่พร้อมบริการติดตั้งที่มุ่งโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าเป็นสำคัญ โดยบริษัทผู้ขายอะไหล่ได้ออกใบกำกับภาษีหรือใบแจ้งหนี้ค่าสินค้าพร้อมบริการติดตั้งรวมเป็นยอดเดียวกัน หรือขายสินค้าโดยมิได้ให้บริการติดตั้งหรือซ่อมแซมบำรุงรักษา ถือเป็นการขายสินค้า บริษัทฯ ในฐานะผู้จ่ายเงินได้ ไม่อยู่ในบังคับต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 แต่อย่างใด

กรณีที่ 2 บริษัทผู้ขายอะไหล่ได้ทำการตรวจเช็กจะทราบโดยชัดแจ้งว่า ต้องเปลี่ยนอะไหล่รายการใดบ้างนั้น เช่นนี้ เมื่อมีการเปลี่ยนอะไหล่เรียบร้อยแล้วตามกรณีนี้ เข้าลักษณะเป็นการจ้างทำของ ที่มุ่งผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าแรงด้วย บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ของยอดเงินที่จ่ายทั้งหมด ตามข้อ 8 (2) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 4/2528 ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ทั้งนี้ ตามแนวทางปฏิบัติของกรมสรรพากร ตามคำตอบข้อหารือเลขที่ กค 0811/7660 ลงวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2544.