สัปดาห์ที่ผ่านมามีโอกาสไปดูงานที่ญี่ปุ่นภายใต้การนำของ ดร.เอ้ คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกก.ผจก.ใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้ 4 เดือนเศษ พร้อมผู้บริหารกลุ่ม ปตท. อาทิ นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ซีอีโอ ไทยออยล์, ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ปธ.จนท.กลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน, นายวุฒิกร สติรัฐ ปธ.จนท.กลุ่มธุรกิจขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ รวมทั้ง นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานบอร์ด ปตท. และอีก 2 บอร์ด จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. กับ นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธ์ ปลัดยุติธรรม ร่วมกับ ทีมสื่อสารปตท. ครั้งนี้ ปตท.ใช้บริการ เอื้องหลัง ที่ถือว่า สอบผ่าน มืออาชีพ

ดร.เอ้ คงกระพัน ฉายภาพรวมแนวทางการนำ ปตท.กับบริษัทในเครือว่า “ปตท.ต้องแข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน” ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เพราะด้านหนึ่งปตท.เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่ต้องสร้างผลกำไรให้ผู้ลงทุน ต้องบริหารแบบมืออาชีพ รับผลกระทบจากทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน ภายนอก เช่น เศรษฐกิจโลกหดตัว การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ กฎระเบียบ ข้อบังคับที่เปลี่ยนไป ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีล้นตลาด ภายใน คือ สร้างผลประโยชน์ให้ผู้ถือหุ้น การลงทุนเฉพาะด้าน การเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน ทำให้กลุ่ม ปตท.ต้องปรับตัวรับมือทั้งธุรกิจต้นน้ำ (up stream) และปลายน้ำ (down stream)

เฉพาะ ปี 2024 ปตท. จะมองกลับไปธุรกิจพื้นฐาน (Back to basic) มุ่งเน้น ธุรกิจไฮโดรคาร์บอน ลดสินทรัพย์ที่ไม่สร้างผลกำไร ปี 2025 ผลักดันสร้างการเติบโตในธุรกิจหลักและธุรกิจที่ริเริ่มให้ยั่งยืน เช่น ธุุรกิจสถานี EV ธุรกิจขนส่งเฉพาะที่เกี่ยวกับไฮโดรคาร์บอน ธุรกิจด้านไลฟ์สไตล์ จะเป็นผู้ร่วมลงทุน เช่น โครงการมณีแดง เอาเงินกำไรส่วนหนึ่งทำ “โครงการเก็บคาร์บอน” แม้เป็นต้นทุนที่สูง แต่ก็เป็นโอกาสด้วย ต่อไปสินค้าส่งออกจะถูกเก็บภาษีจากปริมาณคาร์บอนในกระบวนการผลิต ปล่อยคาร์บอนมาก เก็บภาษีมาก ปล่อยคาร์บอนน้อย เก็บภาษีน้อย

อย่างที่รู้ ทั่วโลกต่างร่วมลดโลกร้อน เพราะไม่อยากตายผ่อนส่ง ที่ไทยฝุ่นมรณะ PM 2.5 เป็นมัจจุราชเงียบ ก่อมะเร็งปอด ทำคนตายแล้วหลายคน ปตท.หนึ่งในองค์กรหลัก จึงมี “พันธกิจสำคัญ” ต้องช่วยลดมลพิษด้วย ตามโรดแม็ป ปตท.ประกาศแผน “คาร์บอนเป็นศูนย์” หรือ net zero ในปี 2050 หรือ พ.. 2593 ขณะญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการลดคาร์บอนมากสุดชาติหนึ่ง ก้าวไปไกลถึงรถยนต์ไฮโดรเจน และมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลายโรง ดูงานที่ญี่ปุ่น จึงมาถูกที่

3 แห่งที่น่าทึ่ง 1.ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีการจัดเก็บพลังงานไฟฟ้า โคมิคูระยามา (Komekurayama) 2.โรงเผาขยะเมกุโระ ( Meguro ) 3. โครงการนำร่องการดักจับและนำคาร์บอนไดออกไซด์กลับมาใช้ใหม่ (Carbon Capture and Utilization-CCU) ที่ ไฮโดรเจน เป็นเทรนด์โลก เพราะเชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด

ศูนย์วิจัย “โคมิคูระยามา” เป็นศูนย์กลางวิจัยและพัฒนาการผลิต ไฮโดรเจนสีเขียว โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์และเทคโนโลยีแยกน้ำ ด้วยไฟฟ้าแบบ PEM ที่ใหญ่ในญี่ปุ่น (1.5 MW) นำสู่การใช้งานในภาคอุตสาหกรรมและการขนส่งในอนาคต โดย ปตท. เองก็มีการทดลองใช้รถยนต์ไฮโดรเจน (ชนิดบลู ) ที่ศูนย์ระยอง รับส่งผู้โดยสารไปสนามบิน ส่วนโรงเผาขยะ “เมกุโระ” ลงทุนเป็นหมื่นล้าน เป็น 1 ใน 20 โรงเผาขยะของญี่ปุ่นที่ใหม่สุด มีการจัดการที่เป็นระบบมาก มีรถขยะวิ่งเข้าออกวันละ 500 คัน (ญี่ปุ่นมีวินัยแยกขยะจากบ้านมาแล้ว) ผลิตไฟฟ้าขายยูนิตละ 25-26 เยน หรือ 5-6บาท บอกเลย ไม่แพง ปริญญาตรีญี่ปุ่นเริ่ม 6 หมื่น ไทย 1.5 หมื่นบาท เทียบกันไม่ได้ แล้วขยะไทยใช้ฝังกลบเป็นหลัก ญี่ปุ่นใช้นิวเคลียร์แล้ว ไทยเลยมีปัญหาสิ่งแวดล้อมมาก

ที่สุดท้าย โครงการ CCU ของบริษัท มิตซูบิชิ ที่โยโกฮาม่า มีความสามารถดักจับคาร์บอนได้มากกว่า90% เอาไปผลิตเป็นก๊าซมีเทน ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมและอัดใส่ถังก๊าซใช้ในรถยนต์ โดย ปตท.เองก็มีการทดลองที่แหล่งอาทิตย์ มาบตาพุด โดยแยกคาร์บอน แล้วไปเก็บใต้ทะเลเลย หวังจะให้เป็นโมเดลต้นแบบ

จบการดูงานที่เปิดสมอง เปิดโลก เหมือน ดูหนัง ดูละคร แล้วย้อนดูตัว อีกครั้งหนึ่ง.

……………………………………
ดาวประกายพรึก

อ่านบทความทั้งหมดที่นี่…