ปฏิบัติการตำรวจไซเบอร์ประสานช่วยเหลือเยาวชนอายุ 17 ปี หลังถูกหลอกไปทำงานเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ประเทศกัมพูชานาน 2 สัปดาห์ เป็นอีกตัวอย่างที่เห็นภาพชัดเจน และคงมีไม่กี่คนที่โชคดี จากการใช้ไหวพริบส่งเบาะแส-พิกัดขอความช่วยเหลือจนสำเร็จ

ทีมข่าวอาชญากรรม” พูดคุยเบื้องหลังปฏิบัติการแกะรอย เป็นอุทธาหรณ์ก่อนตัดสินไปเป็นทำงานต่างแดนตามคำเชิญชวนในโลกออนไลน์ว่างานง่าย-รายได้ทะลุฟ้า

พล...ภูมิพัฒน์ ภัทรศรีวงษ์ชัย ผบก.สอท.5 เปิดเส้นทางช่วยเหลือเคสนี้เริ่มจากช่วงวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา แม่ของเยาวชนรายดังกล่าวได้เข้าแจ้งความสภ.นางรอง ว่าลูกชายหายตัวออกไปจากบ้าน ต่อมาทราบจากครูประจำชั้นว่าลูกชายถูกหลอกไปทำงานในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ประเทศกัมพูชา จึงยิ่งเป็นห่วงและพยายามหาทางช่วยเหลือเพราะเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย

เบื้องต้น ถือเป็นโชคดีที่เยาวชนรายนี้แอบส่งภาพและพิกัดที่ถูกกักขังให้ทำงาน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าอยู่ที่ประเทศกัมพูชาจริง และจุดที่อยู่คือกรุงพนมเปญ ระหว่างนี้จะมีการหาจังหวะส่งข้อมูลออกมาเรื่อยๆ แต่ต้องใช้ความระมัดระวังมากเพราะอาจไม่ปลอดภัยหากถูกจับได้

อย่างไก็ตาม ยอมรับว่าจุดที่ถูกกักตัวไว้ทำงานมีระบบการป้องกันความปลอดภัยระดับสูง มีลักษณะเป็นตึกสูง การเข้าออกประตูใช้ระบบไฟฟ้า มียามรักษาความปลอดภัย การเข้าไปร่วมช่วยเหลือของตำรวจไซเบอร์ในเคสนี้ ถือเป็นจังหวะดีที่ตนเคยทำงานอยู่สภ.นางรอง เมื่อได้รับการประสานขอความช่วยเหลือจึงได้ติดต่อไปยังตำรวจเครือข่ายที่รู้จักเพื่อประสานต่อไปยังสถานทูตของกัมพูชา เพื่อหาทางช่วยเหลือ

ทั้งนี้ หลังการช่วยเหลือได้มีโอกาสเข้าพบและสอบถามข้อมูลพบว่าไม่ได้ถูกทำร้ายร่างกาย แต่ในส่วนสภาพจิตใจยังมีความวิตกกังวล หวาดกลัว และอยากกลับบ้าน ซึ่งในวันนั้นได้ต่อสายให้พูดคุยกับครอบครัวเพื่อให้กำลังใจ

จากการสอบถามที่มาที่ไปการข้ามแดนมาและการทำงานในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ก็เล่าว่า เริ่มจากส่วนตัวมีความชำนาญด้านคอมพิวเตอร์จึงอยากใช้ความรู้ความสามารถหารายได้พิเศษ จนไปพบการชักชวนรับสมัครทำงานผ่านช่องทาง Facebook โดยอ้างว่าต้องการผู้เชี่ยวชาญ IT จะได้เงินที่สูง

แรกเริ่มคิดว่าจะให้ไปทำที่เมืองปอยเปต ซึ่งสามารถไปเช้าเย็นกลับได้ แต่ปรากฏว่าคนที่รับทำงานแจ้งว่าคนงานเต็มหมดแล้ว จึงให้ไปทำงานที่พนมเปญ เด็กยังไม่ทันได้ตัดสินใจก็ถูกบังคับขึ้นรถ ก่อนขับพาไปรังแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และยึดโทรศัพท์พร้อมบัตรประชาชนกับกระเป๋าตังค์”

นอกจากนี้ เล่าด้วยว่า เมื่อไปถึงแหล่งกบดานก็พบว่ามีคนที่ทำงานอยู่หลายคน มีชาวต่างชาติหลายประเทศ แต่ไม่พบคนไทย โดยเด็กถูกมอบหมายให้รับหน้าที่เป็นคนส่งลิงก์ไปยังบุคคลเป้าหมายที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์นำมาให้ และมีแผนกหลอกตามลำดับถัดไปเพื่อโน้มน้าว หรือข่มขู่

มีการแจ้งเรื่องรายได้ว่าจะให้ค่าตอบแทนเดือนละ 20,000 บาท แต่ต้มีเงื่อนไขต้องหาลูกค้าให้ได้ทุกวัน ภายใน 1 สัปดาห์ต้องหารายได้ให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์อย่างน้อย 50,000 บาท หากทำไม่ได้จะถูกตัดเงินสัปดาห์ละ 5,000 บาท หาก 1 เดือนยังไม่สามารถหาเงินได้ก็จะโดนตัดเงินเดือนทั้งหมด

เด็กไปทำงานอยู่ที่นั่นกว่า 10 วัน ยังไม่ได้รับเงินใดๆ และจากการสอบถามทราบว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ดังกล่าวมีนายทุนเป็นคนจีน แต่สื่อสารภาษาไทยได้ เรื่องการกินอยู่ดูแลให้หมดแต่ไม่ได้สะดวกสบาย ต้องนอนแออัดรวมกันหลายคน หลายคนที่ถูกหลอกมาทำงานก็มีความคิดที่หลบหนี แต่ยากเพราะระบบป้องกันแน่นหนา”

ผบก.สอท.5 ยอมรับมีแนวโน้มที่เยาวชนจะถูกหลอกไปทำงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะแก๊งคอลเซ็นเตอร์เหล่านี้ไม่ใช้คนในพื้นที่ จากข้อสังเกตที่ไม่มีคนกัมพูชาเข้าทำงานหรือร่วมขบวนการ ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติที่โดนหลอก พร้อมฝากเยาวชนที่กำลังหางาน หรือหารายได้พิเศษตรวจสอบข้อมูล สื่อสารให้ชัดเจน และปรึกษาคนรอบข้างก่อน เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

การไปทำงานอย่างผิดกฎหมายและไม่ถูกต้อง หากถูกจับมาดำเนินคดีจะทำให้เสียอนาคต แม้ได้รายได้สูงก็ไม่คุ้ม หากจะทำงานอะไรขอให้ตรวจสอบก่อน ให้ผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่ช่วยตรวจตรา และสื่อสารให้ชัดเจน หรือสอบถามข้อมูลกับหน่วยงานรัฐว่าบริษัทมีความน่าเชื่อถือหรือมีประวัติหลอกลวง หรือกระผิดกฎหมายหรือไม่” ผบก.สอท.5 ทิ้งท้าย.

เป็นภัยร้ายมากขึ้นทุกวัน นอกจากระวังตกเป็นเหยื่อ“โอนเงิน”ยังต้อง“เพิ่ม”การระวังตกเป็นเหยื่อ“ร่วมขบวนการ”ด้วย.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]