นายเดิร์ก วีส รองประธานพรรคสังคมประชาธิปไตย (เอสพีดี) ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ของนายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ ผู้นำเยอรมนี กล่าวว่า หน่วยงานความมั่นคงของประเทศต้องมีอำนาจมากขึ้น ในการค้นหาตัวผู้ก่อเหตุตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ดิจิทัล และรัฐบาลจำเป็นต้องมีความคืบหน้าในการแบนอาวุธมีดด้วย

ด้านนางแนนซี เฟเซอร์ รมว.มหาดไทยของเยอรมนี เรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมาย โดยอนุญาตให้ประชาชนสามารถพกมีดในที่สาธารณะ ขนาด 6 เซนติเมตรเท่านั้น จากเดิมที่ 12 เซนติเมตร ยกเว้นมีดทำครัวที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์เดิม และห้ามไม่ให้พกพามีดพกสปริงโดยเด็ดขาด

ทั้งนี้ การประกาศของรัฐบาลเบอร์ลิน มีขึ้นหลังสถิติของตำรวจเยอรมนี บันทึกคดีการทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับมีด เพิ่มขึ้น 9.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่ตำรวจสหพันธ์เยอรมนี หรือบีพีโอแอล ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบความปลอดภัยที่สนามบินและสถานีรถไฟหลักของประเทศ รายงานว่า การก่อเหตุด้วยอาวุธมีดบริเวณพื้นที่ปฏิบัติหน้าที่ของพวกเขา ก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม นายเดิร์ก ไบเออร์ นักอาชญาวิทยาชาวเยอรมัน จากสถาบันการป้องกันอาชญากรรมและการกระทำผิด ในเมืองซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กล่าวว่า เยอรมนีไม่มีข้อมูลมากนัก เกี่ยวกับอาชญากรรมด้วยอาวุธมีด อีกทั้งตำรวจยังจัดให้การโจมตีด้วยอาวุธมีด และการข่มขู่ด้วยอาวุธมีด อยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน ส่งผลให้เกิดความคลุมเครือ และทำให้ตัวเลขหรือสถิติ ไม่น่าเชื่อถือเท่าที่ควร

แม้สื่อของเยอรมนี ให้ความสนใจกับอาชญากรรมด้วยอาวุธมีดมากขึ้น ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และพรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี (เอเอฟดี) ซึ่งเป็นพรรคขวาจัด กล่าวโทษ “นโยบายการอพยพ” ของรัฐบาลเบอร์ลิน แต่บรรดานักอาชญาวิทยาชี้ว่า อาชญากรรมรุนแรงไม่ได้เชื่อมโยงกับภูมิหลังของผู้อพยพเสมอไป

“เราไม่ควรพูดเรื่องที่ว่าพวกเขามาจากประเทศไหน แต่ชีวิตของพวกเขาอยู่ในสถานกาณ์แบบใดมากกว่า เช่น พวกเขาเติบโตมาในสภาพแวดล้อมแบบใด, มีเพื่อนคนไหนที่คิดว่าการพกมีดเป็นสิ่งสำคัญ, มีภูมิหลังทางการศึกษาเป็นอย่างไร ซึ่งพวกเราต้องพิจารณาสถานการณ์ทางสังคมของพวกเขา และไม่ยึดติดกับสัญชาติ” ไบเออร์ กล่าวเสริม

อนึ่ง ไบเออร์ตั้งข้อสงสัยว่า กฎหมายของรัฐบาลเบอร์ลิน จะสร้างความแตกต่างในระยะยาวหรือไม่ แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็มองว่าอย่างน้อยที่สุด กฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้น จะช่วยลดความซับซ้อนในกฎหมายของเยอรมนีได้ เนื่องจากในปัจจุบัน รัฐแต่ละรัฐในประเทศ ต่างมีกฎระเบียบเป็นของตนเอง ว่ามีดประเภทไหนที่สามารถพกพา หรือไม่สามารถพกพาได้

“มันถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่ถ้าคุณกำลังมองหาประโยชน์ในแง่ของการป้องกันอาชญากรรมด้วยอาวุธมีด ผมคิดว่ามันจะไม่เกิดขึ้นแต่อย่างใด เพราะผู้คนที่พกมีดอันตราย จะทำเช่นนั้นต่อไป ไม่ว่ามันจะถูกกฎหมายหรือไม่ก็ตาม” ไบเออร์ กล่าวทิ้งท้าย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES