สถานการณ์ “อุทกภัยภัยน้ำท่วม” ปี 2567 นี้ แม้มีการคาดว่าจะไม่ขยายวงถึงขั้นเป็น “มหาอุทกภัย” เหมือนเมื่อปี 2554 แต่กระนั้น “ประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมก็เดือดร้อนสาหัส!!” ทั้งนี้ กับการช่วยเหลือนั้นนอกจากฝ่ายรัฐแล้ว ฝ่ายอื่น ๆ ก็ร่วมด้วยช่วยกัน รวมถึง “เดลินิวส์” ที่ก็เข้าช่วยเหลือและเป็นสื่อกลางในการช่วยเหลือประชาชนคนไทยที่เดือดร้อนจากน้ำท่วม

อย่างไรก็ดี ณ ที่นี้ในวันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูล ’พิษภัยจากน้ำท่วม“ อีกกรณี ที่ทุก ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ ’จำเป็นต้องตระหนัก“ ทั้งกับการ ’ป้องกันแก้ไขฟื้นฟู“ นั่นคือกรณี ’ปัญหามลพิษจากน้ำท่วม“ ที่ทาง กรมควบคุมมลพิษ ก็ได้มีการจัดทำคู่มือให้ข้อมูลความรู้ความเข้าใจไว้ ซึ่งปัญหานี้มิใช่เพียงหน้าที่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง…

“ปัญหามลพิษจากน้ำท่วม” ก็น่าห่วง
โดย ’ทุกฝ่ายก็ต้องร่วมด้วยช่วยกัน“
จะ ’ต้องกัน ต้องแก้ และต้องฟื้นฟู“

เกี่ยวกับคู่มือให้ข้อมูลความรู้ความเข้าใจกรณีนี้ มีชื่อว่า… แผนป้องกันและลดมลพิษกรณีอุทกภัย” ที่ทาง กรมควบคุมมลพิษ จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็น แนวทางบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในสถานการณ์อุทกภัย เพื่อให้เกิดการเตรียมความพร้อม รองรับการป้องกันแก้ไข กับเพื่อการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมได้อย่างทันท่วงที โดยคู่มือดังกล่าวได้มีการแบ่งแหล่งกำเนิด ’มลพิษ“ ที่มักจะพบบ่อย ๆ ในช่วงที่เกิด ’อุทกภัย“ หรือ ’ภัยน้ำท่วม“ ไว้ดังนี้…

แหล่งกําเนิดมลพิษในพื้นที่ชุมชน” แหล่งดังกล่าวนี้เช่น… จากบ้านเรือน ตลาดสด สถานพยาบาล ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทางเคมี ชีววิทยา ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ และสถานประกอบกิจการต่าง ๆ อาทิ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง อู่ซ่อมรถยนต์ เป็นต้น ที่ มักจะพบปัญหามีมลพิษออกมาในช่วงที่เกิดน้ำท่วม หรือหลังจากน้ำท่วมลดลงแล้ว โดยสารมลพิษที่มักมีการรั่วไหลหลุดรอดออกมานั้น ได้แก่ สารอินทรีย์ในน้ำเสีย ขยะมูลฝอยจากการอุปโภคบริโภค เชื้อโรคและขยะติดเชื้อ จากสถานพยาบาล น้ำมัน ต่าง ๆ จากสถานีบริการน้ำมันและอู่ซ่อมรถยนต์ รวมถึง สารกําจัดศัตรูพืช ด้วย

แหล่งกําเนิดมลพิษในพื้นที่อุตสาหกรรม” เช่น โรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม ที่ก็มักพบปัญหามีมลพิษระบายออกมา ได้แก่ สารเคมีต่าง ๆ เช่น กรด ด่าง สารกัดกร่อน โลหะหนัก (ปรอท ตะกั่ว) ไซยาไนด์เป็นต้น

แหล่งกําเนิดมลพิษในพื้นที่เกษตรกรรม” ส่วนใหญ่มลพิษที่มีการระบายออกมาจะเป็น สารอินทรีย์ที่เกิดจากของเสีย การเน่าเสียของซากพืช ซากสัตว์ และเชื้อโรคจากมูลสัตว์ …นี่เป็นข้อมูลที่ระบุไว้ในคู่มือของกรมควบคุมมลพิษ

กับ “แหล่งกำเนิดมลพิษช่วงน้ำท่วม”

ที่การรั่วไหล “อาจมีทั้งตั้งใจ-ไม่ตั้งใจ”

ทั้งนี้ จะด้วยตั้งใจ? หรือไม่ตั้งใจ? จะอย่างไรก็ตามถ้าหากไม่มีแนวทางป้องกัน ไม่มีมาตรการรองรับ เมื่อมีมลพิษรั่วไหลหรือระบายออกมาจากแหล่งกำเนิดมลพิษต่าง ๆ แล้ว ก็ย่อมสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และต่อผู้คนอย่างปฏิเสธไม่ได้ โดยสำหรับ “ประเภทผลกระทบ” ที่เกิดขึ้น ในคู่มือก็ได้มีการให้ข้อมูลสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาไว้ดังต่อไปนี้…

สาร มลพิษกลุ่ม “สารอินทรีย์สารประกอบอินทรีย์” ทั้งที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตและการสังเคราะห์ จะ ทำให้คุณภาพน้ำเสื่อมโทรมจนเกิดการเน่าเสีย มีกลิ่นเหม็น หรือก่อเกิดสารต่าง ๆ เช่น ก๊าซไข่เน่า (ไฮโดรเจนซัลไฟด์) ก๊าซมีเทน

สาร มลพิษกลุ่ม “น้ำมัน” ได้แก่ น้ำมัน หรือไขมันประเภทต่าง ๆ เช่น น้ำมันรถยนต์ น้ำมันเครื่อง น้ำมันที่ผ่านการใช้งานแล้ว โดยน้ำมันที่รั่วไหลมากับน้ำท่วมจะลอยเป็นฟิล์มบนผิวน้ำ ขัดขวางการแลกเปลี่ยนถ่ายเทออกซิเจนระหว่างน้ำกับอากาศ ส่งผลต่อคุณภาพน้ำ เป็นพิษต่อสัตว์หรือพืชที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำ รวมทั้งส่งผลต่อระบบนิเวศทางน้ำด้วย

สาร มลพิษกลุ่ม “วัตถุอันตราย” ได้แก่ สารเคมีที่ใช้ในกิจกรรมและกระบวนการต่าง ๆ เช่น กรด ด่าง สารกัดกร่อน สารเคมีป้องกัน-กําจัดศัตรูพืช ไซยาไนด์ สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย หรือกัมมันตภาพรังสี ที่เมื่อรั่วไหลจะ ส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสัตว์ มีทั้งที่เป็นพิษเฉียบพลันและเรื้อรัง และยังเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศในน้ำ ด้วย

สำหรับ มลพิษกลุ่ม “เชื้อโรค” จากขยะติดเชื้อ ซากสัตว์ สิ่งปฏิกูลจากมนุษย์และสัตว์ ก็จะ ก่อให้เกิดการแพร่กระจายโรคต่าง ๆ สู่มนุษย์และสัตว์ เช่น โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร ระบบหายใจ ระบบผิวหนังเป็นต้น

นี่เป็น “ภัยมลพิษที่อาจมากับน้ำท่วม!!”

ส่วน “แนวทางรับมือปัญหามลพิษในสถานการณ์น้ำท่วม” นั้น ในคู่มือของทาง กรมควบคุมมลพิษ ก็ได้แนะนำไว้เช่นกัน โดยแบ่งเป็น 2 ช่วง ดังนี้คือ… ช่วงเกิดน้ำท่วม” ควรมีการจัดทำมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม และ เฝ้าระวังเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดมลพิษในพื้นที่เสี่ยงภัย รวมถึงควรมีระบบ แจ้งเตือนกรณีมีมลพิษรั่วไหลออกมา ในขณะที่ “ช่วงหลังน้ำท่วม” ก็ควรมีการ ติดตามตรวจสอบการตกค้างของมลพิษในสิ่งแวดล้อม สํารวจและประเมินความเสียหาย รวมถึงจัดทำแนวทาง ฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อน หรือมีแนวทาง บำบัดมลพิษให้ครอบคลุมและชัดเจน

’มลพิษจากน้ำท่วม“ เชื่อว่า ’จะมีแน่“
เมื่อ ’กันไม่ได้ก็ต้องแก้ไข-ต้องฟื้นฟู“
จะ ’ต้องรวมพลังหยุดทุกข์ซ้ำซ้อน“.