ทั้งนี้ แผนการของรัฐบาลลาวมุ่งมั่นไปที่ การยกระดับการผลิตภายในประเทศ และการลดการพึ่งพิงการนำเข้าสินค้าหลายชนิดจากต่างประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้กับสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ผลิตภายในประเทศ อันจะนำไปสู่การลดอัตราเงินเฟ้อของลาว ให้ต่ำกว่า 20% ภายในเดือนธ.ค.นี้

ขณะเดียวกัน รัฐบาลลาวต้องการรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน และควบคุมปริมาณเงิน “เอ็ม 2” ที่รวมถึงเงินสด บัญชีเงินฝากกระแสรายวัน และกองทุนเพื่อการเข้าถึงรูปแบบอื่น

นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีลาว

นอกจากนี้ รัฐบาลลาวมีแผน “โน้มน้าวและจูงใจ” ให้ประชาชนในประเทศ หันมาใช้สินค้าที่ผลิตเองภายในประเทศมากกว่านี้ โดยวิธีการลดความสนใจของประชาชนที่มีต่อผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ จะรวมถึง การขึ้นภาษีการบริโภค และการลดโควตาการนำเข้าสินค้าบางประเภท หรือการจำกัดโควตาการนำเข้าผลิตภัณฑ์บางรายการ ที่รัฐบาลลาวมองว่า เป็นสินค้าที่สามารถผลิตได้เองในท้องถิ่น

ด้านธนาคารกลางลาวเตรียมปรับแนวทางการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในเวลาเดียวกัน จะเพิ่มการจับตาความเคลื่อนไหวของอัตราเงินฝากและอัตราเงินกู้ พร้อมทั้งดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อควบคุมปริมาณเงิน ซึ่งจะช่วยจัดการความคลาดเคลื่อนและความผันผวนของฐานเงิน

เมื่อปีที่แล้ว ธนาคารกลางลาวตั้งหน่วยงานแห่งใหม่ในสังกัด มีชื่อว่า “กรมควบคุมเงินตราต่างประเทศ” เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายเศรษฐกิจและการค้า ณ ปัจจุบัน ซึ่งลาวต้องอาศัยการลงทุนจากต่างประเทศ และแนวโน้มความต้องการใช้สกุลเงินต่างประเทศเพื่อการนำเข้าสินค้าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

บทบาทสำคัญของกรมควบคุมเงินตราต่างประเทศ คือ การควบคุมกระแสเงินตราต่างประเทศให้แข็งแกร่งและครอบคลุม และ “การรณรงค์” ให้มีการใช้เงินกีบมากขึ้นภายในลาว การประกาศดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินบาทของไทยและค่าเงินหยวนของจีนในตลาดของลาว พุ่งทะยานขึ้นทันที เท่ากับว่า ค่าเงินกีบยิ่งทรุด

บริษัทมูดีส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ของสหรัฐ วิเคราะห์ว่า ลาวกำลังอยู่บนเส้นทางสู่การผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งเป็นผลจากการบริหารจัดการด้านธรรมาภิบาลที่อ่อนแอ ภาระหนี้สาธารณะที่พอกพูน แต่ทุนสำรองระหว่างประเทศกลับมีไม่เพียงพอ ที่จะใช้จัดการกับภาระหนี้ได้ ถือเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ซึ่งกุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จมาตั้งแต่ปี 2518

แม้เศรษฐกิจของลาวขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีค่าเฉลี่ยของอัตราการเติบโตเกือบถึง 8% ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่และโรงไฟฟ้าในประเทศ จนกระทั่งเผชิญกับการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 เมื่อปี 2563 ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ( จีดีพี ) ของลาวอยู่ในระดับติดลบนานระยะหนึ่ง ก่อนกระเตื้องกลับขึ้นมาเป็นตัวเลขบวกอีกครั้ง

ตลาดนัดช่วงเย็น ที่เมืองหลวงพระบาง

ด้านข้อมูลจากธนาคารโลก ( เวิลด์แบงก์ ) ระบุว่า ลาวจัดอยู่ใน “ระดับล่าง” ของการเป็น “ประเทศรายได้ปานกลาง” โดยราว 20% ของประชากร มีคุณภาพชีวิตอยู่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนของสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) สัดส่วนการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานของประชาชนยังอยู่ในระดับต่ำ ความเหลื่อมล้ำในเขตเมืองขยายวงกว้าง รัฐบาลลาวแทบไม่เคยเปิดเผยสถิติการว่างงานของประชากร

นายอเล็กซ์ เครเมอร์ ผู้แทนเวิลด์แบงก์ประจำลาว กล่าวว่า วิกฤติเศรษฐกิจของลาวเป็นผลพวงชัดเจนของการบริหารจัดการหนี้ และการสร้างรายได้เข้าประเทศที่ไม่มีประสิทธิภาพ รัฐบาลลาวควรทบทวนแนวทางเพิ่มรายได้สาธารณะ ที่รวมถึงการปรับแก้มาตรการยกเว้นภาษี

เวิลด์แบงด์คาดการณ์ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ( จีดีพี ) ของลาว จะขยายตัวสูงสุด 4% ในปี 2567 เนื่องจากยังคงมีข้อจำกัดจากความท้าทายหลายประการ อย่างไรก็ดี ในส่วนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะได้รับอานิงส์จากการท่องเที่ยว การคมนาคม และการขนส่งหรือโลจิสติกส์ที่ฟื้นตัว ตลอดจนการลงทุนด้านพลังงาน และรายได้จากการขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษ

อนุสรณ์สถานปะตูไซ ที่นครหลวงเวียงจันทน์

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการเติบโตนั้นยังคงต่ำกว่าก่อนยุคการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อยู่มาก เนื่องจากความไม่มีเสถียรภาพในทางเศรษฐศาสตร์มหภาค และข้อจำกัดทางโครงสร้างอื่น เช่น การบริหารจัดการทุนมนุษย์ที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ การขาดแคลนแรงงาน และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ยังเต็มไปด้วยความเสี่ยง

หนึ่งในปัญหาชัดเจนที่สุด ณ เวลานี้ คือ ตลาดแรงงานของลาว จากการที่แรงงานในท้องถิ่นเลือกเดินทางออกไปทำงานในต่างประเทศมากขึ้น โดยสถิติแรงงานลาวซึ่งเดินทางไปทำงานอย่างถูกกฎหมายที่ไทย เพิ่มขึ้นมากถึง 15% ระหว่างเดือนมิ.ย. 2566 ถึงเดือนก.พ. 2567

ขณะที่สถานการณ์ของตลาดแรงงานภายในลาว มีการปรับเปลี่ยนอย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน จากการที่แรงงานในภาคบริการเปลี่ยนไปเป็นแรงงานเกษตรและการผลิตมากขึ้น ในเวลาเดียวกัน แรงงานซึ่งเคยได้รับค่าตอบแทนตามระบบ เปลี่ยนไปลงทุนทำกิจการของตัวเอง หรือรับช่วงต่อจากธุรกิจของครอบครัวมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ลาวประสบกับภาวะขาดแคลนแรงงานในหลายภาคส่วน

ขบวนรถไฟของเส้นทางรถไฟจีน-ลาว แล่นเข้าสู่สถานี ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อเต็น ในเมืองบ่อเต็น ของแขวงหลวงน้ำทา ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งติดกับมณฑลยูนนานของจีน

อนึ่ง หนึ่งในสินค้าส่งออกที่สำคัญของลาว และเป็นที่ทราบกันดีสำหรับทุกประเทศในภูมิภาค นั่นคือ “กระแสไฟฟ้า” ในฐานะ “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” อย่างไรก็ตาม การที่กระแสไฟฟ้าที่ส่งออกมาแทบทั้งหมด มีไทย กัมพูชาและเวียดนามเป็นลูกค้าหลัก ยังไม่ถือว่าเพียงพอในระยะยาว ส่วนโครงการรถไฟกับจีน ยังคงเป็นความร่วมือที่ต้องจับตาอีกนาน เนื่องจากเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน มีการพัฒนาตลอดเวลา และการแบ่งสรรผลประโยชน์ร่วมระหว่างทั้งสองประเทศ จากโครงการดังกล่าว ซึ่งจนถึงตอนนี้ยังคงคลุมเครือ

จริงอยู่ที่รัฐบาลลาวของนายสอนไซแสดงความมุ่งมั่นอย่างชัดเจน ในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ และผลักดันให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้ามากที่สุด อย่างไรก็ตาม ชาวลาวจำนานไม่น้อยยังคงมองว่า หากผู้มีอำนาจที่อยู่บนยอดพีระมิด “ยังไม่คิดสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ถึงฐานรากอย่างแท้จริง” สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ “ยังยากที่จะพ้นขีดอันตราย”.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : AFP