“…กลุ่มบัณฑิตจบการศึกษาระดับปริญญาตรีมีอัตราการว่างงานสูงที่สุดถึง 1.67% ซึ่งสะท้อนถึงความไม่สมดุลระหว่างทักษะที่ตลาดแรงงานต้องการ…กับทักษะที่บัณฑิตมีอยู่”…นี่เป็นการวิเคราะห์ถึงผลสำรวจจาก รายงานสถานการณ์ตลาดแรงงานไทย ไตรมาสแรก ปี 2567 ที่ทาง สำนักงานสถิติแห่งชาติ จัดทำ ที่ฉายภาพสถานการณ์ของตลาดแรงงานไทยปัจจุบัน ซึ่ง “ต้นทุนการศึกษาสูงขึ้น” แต่ “โอกาสมีงานทำกลับลดลง” นี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไข…
“บัณฑิตจบใหม่” เตะฝุ่น “ไม่มีงานทำ”
นี่ไม่เพียงเป็น “ปัญหาตลาดแรงงาน”
แต่ “อาจลุกลามกระทบในหลายมิติ”
ทั้งนี้ วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลเกี่ยวกับ “สถานการณ์บัณฑิตไทยตกงาน” อันมีที่มาจากหลายสาเหตุ-หลายปัจจัย เป็นข้อมูลจากบทความของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่เผยแพร่การวิเคราะห์จากผลสำรวจ “ตลาดสมัครงานออนไลน์” จาก 23 เว็บไซต์รับสมัครงาน ระหว่าง 1 เม.ย.-30 มิ.ย. 2567 (ไตรมาส 2) โดยพบประกาศรับสมัครงาน 238,129 ตำแหน่งงาน ซึ่งการรวบรวมข้อมูลนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการพัฒนาระบบวิเคราะห์ข้อมูลด้วย Large Language Models (LLMs) เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง” ที่สนับสนุนโดย บพค.
ใช้เป็น “ข้อมูลแก้สถานการณ์เตะฝุ่น”
ทางทีมวิจัยของโครงการฯ ได้วิเคราะห์ “สถานะความต้องการแรงงาน” และ “ทักษะแรงงานที่นายจ้างต้องการ” โดย ใช้ Big Data จากประกาศรับสมัครงานของนายจ้าง นำมาวิเคราะห์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยคาดหวังว่าผลวิเคราะห์ที่ได้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน ตลอดจนมหาวิทยาลัย สถาบันอาชีวศึกษา และสถาบันฝึกอบรมต่าง ๆ ที่ผลิตบุคลากรป้อนตลาดแรงงาน เพื่อให้ทันต่อเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาวะทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ซึ่งเมื่อวิเคราะห์จากประกาศ กับ “งานที่ต้องการทักษะด้าน AI” พบว่า… มีถึง 4,276 ตำแหน่งงาน (1.8%) ที่ต้องการทักษะ AI
อุตสาหกรรม 3 อันดับแรก ที่ต้องการทักษะ AI ที่สุด ประกอบด้วย… อันดับ 1 อุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร อันดับ 2 อุตสาหกรรมการเงินและการประกันภัย อันดับ 3 อุตสาหกรรมกิจกรรม การบริหาร และบริการสนับสนุน ขณะที่ “กลุ่มอาชีพ 3 อันดับแรก” อย่างงานด้านคอมพิวเตอร์-คณิตศาสตร์ งานด้านการจัดการ งานธุรกิจ-การเงิน ถือเป็นกลุ่มอาชีพที่ “ต้องการทักษะ AI มากที่สุด”…นี่เป็นข้อมูลที่วิเคราะห์ด้วย AI จากการประกาศรับสมัครงานออนไลน์
อย่างไรก็ตาม สำหรับ “10 กลุ่มอาชีพที่ตลาดแรงงานต้องการสูงที่สุด” นั้น เมื่อวิเคราะห์จากประกาศรับสมัครงาน อ้างอิงตามการจำแนกฐานข้อมูลอาชีพของสหรัฐ พบว่า…10 กลุ่มอาชีพที่มีประกาศรับสมัครงานมากที่สุดคือ การขาย 44,425 ตำแหน่ง การจัดการ 36,202 ตำแหน่ง ธุรการ 32,440 ตำแหน่ง ธุรกิจ–การเงิน 30,943 ตำแหน่ง คอมพิวเตอร์–คณิตศาสตร์ 15,961 ตำแหน่ง สถาปัตยกรรม–วิศวกรรม 13,471 ตำแหน่ง งานศิลปะ ออกแบบ บันเทิง กีฬา สื่อ 11,365 ตำแหน่ง อาหาร–บริการ 9,691 ตำแหน่ง การติดตั้งบำรุงรักษา–ซ่อมแซม 9,321 ตำแหน่ง ขนส่ง 6,407 ตำแหน่ง
นี่เป็นอาชีพที่รับสมัครสูงลำดับต้น ๆ
นอกจากจำแนกอุตสาหกรรมกับกลุ่มอาชีพที่มีการลงประกาศรับสมัครงานทางออนไลน์แล้ว ในบทความโดย ทีดีอาร์ไอ ยังมีการระบุไว้ถึงการสำรวจลงลึก “เช็กลิสต์ทักษะที่นายจ้างต้องการ” โดยพบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้คือ… “ทักษะหลักที่นายจ้างต้องการ 5 อันดับแรก” ได้แก่ 1.ทักษะสมรรถภาพทางกาย เช่น การคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา ความคิดริเริ่ม ความเป็นผู้นำ รวมถึงทักษะทางสังคม 2.ทักษะธุรกิจ เช่น การบริหารจัดการโครงการ ธุรกิจ บุคลากร 3.ทักษะสื่อสาร เช่น การสื่อสาร ความสามารถทางภาษา การเขียนและการแก้งานเขียน 4.ทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น คอมพิวเตอร์ ภาษา Scripting การพัฒนาซอฟต์แวร์ วิทยาศาสตร์ และ 5.ทักษะด้านการเงิน เช่น บัญชีทั่วไป การบริหารงบประมาณ
เมื่อโฟกัส “ทักษะทั่วไป” ที่ต้องการ ได้แก่… 1.บริการลูกค้า 2.ภาษาอังกฤษ 3.การแก้ปัญหา 4.การขาย 5.การทำงานเป็นทีม 6.การจัดการเวลา 7.ภาวะผู้นำ 8.การเจรจาต่อรอง 9.การบริหารจัดการ 10.การควบคุมคุณภาพ ส่วน “ทักษะเจาะจง” ก็มี… 1.การจัดการโครงการ 2.จัดการสินค้าคงคลัง 3.บัญชี 4.โซเชียลมีเดีย 5.การจัดการเอกสาร 6.จัดการความสัมพันธ์ลูกค้า 7.การป้อนข้อมูล 8.การจัดการสต๊อก 9.ความรู้ห่วงโซ่อุปทาน 10.การเงิน …นี่เป็น “ทักษะที่ตลาดงานมีความต้องการ”
ในบทความดังกล่าวข้างต้นยังได้ระบุไว้ในช่วงท้ายด้วยว่า… เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานออนไลน์ตามที่ตั้งสถานประกอบการ พบว่า… ตำแหน่งงานกระจุกตัวในกรุงเทพฯ ปริมณฑล สูงกว่าในต่างจังหวัด โดยพบกว่า 1 แสนตำแหน่งที่เปิดรับสมัครงาน ทั้งนี้ กรุงเทพฯ ปริมณฑล มีจำนวนการว่าจ้างงานมากที่สุด รองลงมาคือภาคใต้ ตามด้วยภาคตะวันออก ส่วนที่มีการว่าจ้างงานน้อยที่สุดคือภาคตะวันตก ที่พบประกาศรับสมัครงานออนไลน์แค่ 3,124 ตำแหน่งงานเท่านั้น …เหล่านี้คือผลสำรวจ และผลวิเคราะห์ “ความต้องการแรงงาน-ทักษะแรงงานที่มีความต้องการ” โดยทีมนักวิจัยทีดีอาร์ไอ
เป็น “ข้อมูลเพื่อเร่งปรับตัว-อัปทักษะ”
ให้สอดรับ “ให้ตรงกับความต้องการ”
ใช้ “หยุดสถานการณ์บัณฑิตเตะฝุ่น”.