ถือเป็นจุดเริ่มต้น“ความหวัง”กระบวนการยุติธรรมเมื่อศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า“มีมูล” รับฟ้องจำเลย 7 คน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 และมาตรา 290 นัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐาน12 ก.ย.นี้
กระบวนการทางศาลจากนี้จะเป็นอย่างไร “ทีมข่าวอาชญากรรม” สอบถามเส้นทางต่อสู้ที่ผ่านมาเกือบ 20 ปี กับหนึ่งหน่วยงานที่มีบทบาทเคียงข้างผู้เสียหายอย่างสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยนายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เปิดเผยว่า การดำเนินคดีครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของสภาทนายความ และคณะทนายความ ทำหน้าที่ฟ้องคดี
ความสำคัญในนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐาน เป็นวันที่นัดจำเลยมาให้การและตรวจพยานหลักฐาน จำเลยทั้งหมดต้องปรากฏตัวที่ศาลและเข้าสู่กระบวนการ จากนั้นจึงขอปล่อยตัวชั่วคราว ภาษากฎหมายคือ“ได้ตัวจำเลย”กรณีนี้“อายุความ”ถึงจะ“หยุด”นับ
แต่หากจำเลยไม่มาแสดงตัว ศาลจะออก“หมายจับ”ทันที ไม่มีเลื่อนนัด และเวลาอายุความยังเดินต่อ จนกว่าจะมีตัวจำเลยมาแสดงที่ศาล จากนั้นเป็นหน้าที่ตำรวจ เจ้าพนักงานตำรวจศาล ฝ่ายปกครอง ในการตามจับตัวจำเลยมาให้ได้
ความแตกต่างของการฟ้องคดีโดย“พนักงานอัยการ” และ“ประชาชน”ฟ้องเองคือ อัยการต้องมีตัวจำเลยมาส่งฟ้องพร้อมสำนวน ศาลจะประทับรับฟ้องทันที เพราะผ่านการทำสำนวนของพนักงานสอบสวนแล้ว เวลานับอายุความจะ“หยุดลง” แต่หากอัยการยังไม่ได้ตัวมาส่งฟ้อง เวลาอายุความก็ยังเดินต่อไป
ส่วนกรณีประชาชนฟ้องคดีเอง อันดับแรกศาลต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อน หากในคำฟ้องศาลเห็นว่าคดีมีมูลจึงรับเป็นคดี จากนั้นจึงนัดสอบคำให้การจำเลย หากจำเลยไม่มาปรากฏตัวที่ศาล…อายุความก็จะไม่หยุด
“และเมื่อเป็นการฟ้องเอง หลักการต่อสู้คดีนี้ไม่มีความยากง่าย หรือต่างกันมาก หมายความว่าในกรณีที่ฝ่ายโจทก์จะนําสืบพยานหลักฐานต่างๆ คดีตากใบมีประจักษ์พยานที่จะมายืนยันอยู่แล้ว ขณะเดียวกันในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ทีมทนายความมีการนําเอกสารสําคัญที่เกี่ยวข้องเข้าสู่กระบวนการ จนศาลพิเคราะห์แล้วจึงรับฟ้อง”
ดังนั้น ในชั้นสืบพยาน นอกจากเอกสารที่ปรากฏอยู่ในสํานวนขณะนี้ มีบางส่วนที่ต้องมี“หมายเรียก”พยานเอกสารเพิ่มเติม อาศัยอํานาจของศาลในการเรียกพยานเอกสาร หลักฐาน ที่อาจจะค้างคาในชั้นใดก็ตาม ทางคู่ความมีสิทธิ์ที่จะใช้อํานาจศาลเรียกพยานบุคคลมาเบิกความต่อศาลได้ด้วย
“คดีตากใบ สภาทนายความได้รับคำร้องขอความช่วยเหลือตั้งแต่ช่วงปี 2547 หลังเกิดเหตุใหม่ๆ แต่ขณะนั้นทีมพนักงานสอบสวนและอัยการได้พิจารณาสำนวนคดี ในตอนนั้นเข้าใจว่าอัยการจะต้องสั่งฟ้องคดีดังกล่าวแน่นอน สภาทนายความก็รออยู่ จนกระทั่งทราบว่าในคดีอาญาทางอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง”
ทั้งนี้ ระหว่างนั้นญาติผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บได้รับค่าสินไหมทดแทนจากรัฐบาล และมีเหตุการณ์หลายอย่างทั้งน้ำท่วม ช่วงโควิด-19 ซึ่งไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่ยังพิจารณาให้การช่วยเหลือร่วมมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม กระทั่งเห็นว่าใกล้ครบอายุความ จึงไปสอบถามญาติผู้เสียชีวิตกับผู้บาดเจ็บ และได้เร่งฟ้องคดีครั้งนี้เมื่อ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยสภาทนายความช่วยว่าความแบบไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะเข้าหลักเกณฑ์ยากไร้ ไม่ได้รับความเป็นธรรม รวมถึงเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ
“เหตุผลการไม่สั่งฟ้องของอัยการก็เป็นอำนาจการพิจารณาของท่าน ว่าจะสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องก็ได้ แต่ทุกคดีที่มีการสั่งไม่ฟ้อง ไม่ได้จำกัดผู้เสียหายในการฟ้องคดีเอง อันนี้คือจุดสําคัญ”
พร้อมย้ำความมั่นใจในการสู้คดี เพราะมีพยานหลักฐานตั้งแต่เกิดเหตุช่วงแรกทั้งเอกสารและบุคคล ส่วนจำเลยที่“ยกฟ้อง”ก็ไม่ได้กระทบต่อรูปคดี ส่วนตัวมองว่าหากคดีความหมดอายุไปกรณีที่ไม่ได้ฟ้อง หรือดำเนินคดี จะเป็นสิ่งที่ติดตาติดใจผู้เสียหาย และญาติไปตลอดชีวิต
“คนที่ต้องสูญเสียญาติ คนที่ยังมีชีวิตอยู่แต่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์นั้น คงจะมีความรู้สึกที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ตนเชื่อว่าน่าคิดลักษณะแบบนี้ไม่มากก็น้อย”นายกสภาทนายความ สะท้อนมุมมองทิ้งท้าย.
ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน