บรรดานักวิเคราะห์กล่าวว่า เวเนซุเอลามีทางเลือก 2 อย่าง นั่นคือ การยึดมั่นในระบอบอำนาจนิยม หรือการเปลี่ยนแปลงในระบอบประชาธิปไตย

นายเบนีโญ อลาร์คอน นักวิเคราะห์การเมือง จากมหาวิทยาลัยอันเดรส เบลโล คาทอลิก ของเวเนซุเอลา กล่าวว่า รัฐบาลการากัสไม่น่าจะเปลี่ยนท่าที นั่นทำให้ผลลัพธ์จึงขึ้นอยู่กับเส้นทางที่ฝ่ายค้านเลือก และระดับการสนับสนุนจากนานาชาติที่รวบรวมได้ เป็นส่วนใหญ่

ภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีเวเนซุเอลา เมื่อวันที่ 28 ก.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการการเลือกตั้งเวเนซุเอลา (ซีเอ็นอี) ประกาศให้มาดูโร เป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง ด้วยคะแนนเสียงสนับสนุน 52% แต่ไม่เปิดเผยรายละเอียดผลการเลือกตั้งแต่อย่างใด

ในทางตรงกันข้าม ฝ่ายค้านโต้แย้งว่า ผลการเลือกตั้งจากคูหาทั่วประเทศ แสดงให้เห็นว่า นายเอ็ดมุนโด กอนซาเลซ อูร์รูเตีย อดีตนักการทูตวัย 74 ปี ผู้สมัครอิสระ ซึ่งได้รับความสนับสนุนจากฝ่ายค้านของเวเนซุเอลา เอาชนะมาดูโรได้ด้วยคะแนนเสียงที่ห่างกันมาก

ผลการเลือกตั้งผู้นำเวเนซุเอลาครั้งนี้ เป็นชนวนให้เกิดการประท้วงต่อต้านมาดูโรอีกครั้ง จนถึงขณะนี้ มีรายงานผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 25 ราย, บาดเจ็บหลายสิบคน และถูกจับกุมมากกว่า 2,400 คน ด้านฝ่ายค้านให้คำมั่นว่า “จะไม่ออกจากถนน” และ “จะต่อสู้จนถึงที่สุด” เพื่อเป็นวิธีหนึ่งในการรักษาแรงกดดัน แม้จะไม่มีการประท้วงอย่างต่อเนื่องก็ตาม

นอกจากนี้ สถาบันหลายแห่งในเวเนซุเอลา ก็ไม่น่าจะช่วยเหลือฝ่ายค้านได้ เพราะซีเอ็นอี และศาลฎีกาเวเนซุเอลา (ทีเอสเจ) ต่างเข้าข้างมาดูโรเหมือนกัน ซึ่งเขาขอให้ทีเอสเจ รองรับผลการเลือกตั้งของซีเอ็นอี แม้ฝ่ายค้านระบุว่า คำตัดสินของศาลเป็นโมฆะ เนื่องจากสถาบันมีความลำเอียงก็ตาม

นายฟรานซิสโก โรดริเกซ นักวิชาการด้านกฎหมาย ที่ยอมรับคำกล่าวอ้างชัยชนะของมาดูโร กล่าวว่า ทีเอสเจ เป็นหน่วยงานที่เหมาะสมสำหรับฝ่ายค้าน ในการยื่นหลักฐานการฉ้อโกง ซึ่งศาลได้เชิญผู้นำฝ่ายค้านเข้าร่วมการพิจารณารับรองผลการเลือกตั้ง แต่กอนซาเลซ อูร์รูเตีย ปฏิเสธที่จะแสดงตัว

ขณะเดียวกัน สหรัฐ, สหภาพยุโรป (อียู), หลายประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกา และองค์กรพหุภาคีหลายแห่ง ต่างปฏิเสธที่จะยอมรับคำกล่าวอ้างชัยชนะของมาดูโร หากพวกเขาไม่เห็นผลการเลือกตั้งโดยละเอียด ซึ่งผู้สันทัดกรณีหลายคนกล่าวว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในเวเนซุเอลา ขึ้นอยู่กับว่าประชาคมระหว่างประเทศ สามารถกดดันมาดูโรได้มากพอหรือไม่

ทั้งนี้ โรดริเกซ กล่าวเสริมว่า มาดูโรต้องการทำให้เวเนซุเอลากลับสู่ “ภาวะปกติ” รวมถึงการยุติมาตรการคว่ำบาตรอุตสาหกรรมน้ำมันของประเทศ ซึ่งเขามีแนวโน้มที่จะใช้นโยบายที่คล้ายคลึงกับในปี 2562-2566 เพื่อลดกระแสต่อต้านการปกครอง และเขาอาจดำเนินนโยบายปราบปรามมากขึ้น เพื่อเสริมอำนาจของเขา ในการเจรจากับฝ่ายต่าง ๆ ที่ต้องการยุติเรื่องนี้.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP