แม้ตอนนี้ นายกฯ อิ๊งค์แพทองธาร ชินวัตร จะได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็น นายกรัฐมนตรีคนที่ 31ของประเทศ ไทย นายกฯอายุน้อยที่สุด ของไทย (เพิ่งอายุครบ 38 ปีเต็มสัปดาห์ที่แล้ว) เป็นผู้นำหญิง คนที่ 2ต่อจาก ..ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกฯหญิงไทยคนแรก) คนที่ 3 “ตระกูลชินวัตร“ ที่ได้ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

แต่ก็ยังไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างเป็นทางการ เพราะเหลืออีกขั้นตอนสำคัญ คือ การแต่งตั้งและรอโปรดเกล้าฯ “คณะรัฐมนตรีแพทองธาร1” เพื่อเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ฯ จากนั้นนายกฯ ต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาจึงจะสามารถบริหารราชการแผ่นดินได้ คาดการณ์เอาไว้ประมาณ 15 .. 67!!

อย่างไรก็ดีหลากหลายปัญหาเฉพาะหน้าของประเทศที่เกิดขึ้นรอช้าไม่ได้ ทำให้เห็นบทบาท ผู้นำหญิง ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย รีบบินขึ้นเหนือลงไปยังพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ จ.น่าน แพร่ และสุโขทัย ขณะที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี นำคณะแยกไปลงพื้นที่เช่นกันที่ จ.เชียงราย พะเยา พร้อมประสาน กรมชลประทาน และกรมการปกครอง บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่กำลังประสบอุทกภัย

จังหวัดที่ประสบอุทกภัยแล้ว กรมชลประทาน รายงานไว้ประกอบด้วย เชียงราย, เชียงใหม่, ลำพูน, พะเยา, น่าน, แพร่, สุโขทัย , เพชรบูรณ์, นครพนม, อุดรธานี, สระบุรี และสุพรรณบุรี พอจะทำให้มองเห็นถึง มวลน้ำก้อนใหญ่ จากทางภาคเหนือกำลังรวมตัวอยู่ตามลำน้ำปิง วัง ยม น่าน กำลังเล่นงานอ่วมเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน และสุโขทัย

ทุก ๆ ปี มวลน้ำเหนือ ต้องไหลหลากลงมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยา ใน จ.นครสวรรค์ ผ่านมายังเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริม 2 ฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ไล่ตั้งแต่ จ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ปทุมธานี นนทบุรี เมื่อเห็นสัญญาณน้ำท่วมจังหวัดภาคเหนือเร็วแบบนี้ ต่างต้องติดตามสถานการณ์รายวัน

หากย้อนกลับไป 13 ปีที่ผ่านมา ฝันร้ายน้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 มหาอุทกภัยครั้งประวัติศาสตร์ ทั้งในแง่ของปริมาณน้ำและจำนวนผู้ได้รับผลกระทบ เชื่อว่าหลายคนยังจดจำไม่ลืม ภายใต้การนำรัฐนาวาของ ..ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้นำหญิงคนแรกของประเทศไทย (นายกฯ คนที่ 28) เข้ารับตำแหน่งนายกฯ วันที่ 5 ส.ค. 2554 จากนั้นจัดตั้งคณะรัฐมนตรีและแถลงนโยบายต่อรัฐสภา วันที่ 23 ส.ค. 2554 ถัดจากแถลงนโยบายเพียง 1 เดือนเศษ ๆ เริ่มเกิดอุทกภัยจากภาคเหนือไล่ลงมาภาคกลาง กระทั่ง มวลน้ำก้อนใหญ่ ไหลหลากลงมาจ่อประชิดเข้ากรุงเทพ มหานคร ทั้งนนทบุรีและปทุมธานี

ทำให้วันที่ 7 ต.ค. 2554 ต้องประกาศจัดตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) หรือ วอร์รูมน้ำ บัญชาการแก้ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ ที่สนามบินดอนเมือง ระดมทุกสรรพกำลังลงมาแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเร่งด่วน แต่เอาไม่อยู่กลายเป็นมหาอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพมหานคร แม้กระทั่งวอร์รูมน้ำ สนามบินดอนเมืองก็ไม่รอดถูกน้ำท่วมด้วย

ตอนนี้ ปี 67 เหลืออีก 2 เดือนกันยายนตุลาคม ถึงจะหมดฤดูฝน เขื่อนภูมิพล จ.ตาก, เขื่อนกิ่วลม จ.ลำปาง และเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ที่รองรับน้ำในพื้นที่ภาคเหนือ ปริมาณน้ำ 3 เขื่อนหลักเป็นเช่นไรบ้าง? เส้นทางมวลน้ำเหนือยังคงเดิม น้ำจาก 3 เขื่อนไหลลงมารวมกันที่เขื่อนเจ้าพระยา เพราะยังไม่หมดฤดูฝน ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะเจอพายุอีกกี่ลูก?

นายกฯ แพทองธาร และทีมงาน อย่าลืมย้อนกลับไปดูบทเรียนในอดีต แล้วนำกลับมาทบทวนถึงข้อบกพร่องต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้น ได้อุดช่องโหว่ปัญหาหรือยัง? หากคิดเชื่อมั่นเดิม ๆ “เอาอยู่” ไม่เตรียมความพร้อมไว้บ้าง ระวังฝันร้ายจะมาเยือน!!.

……………………………….
เชิงผา

อ่านบทความทั้งหมดที่นี่…