“ไม่อยากให้เหมารวม” …นี่เป็นทัศนะผู้นิยมชมชอบ’สุราดอง“ หรือที่ศัพท์ชาวบ้านเรียกว่า ’ยาดองเหล้า“หรือ ’ยาดอง“ หลังเกิดกรณีมีผู้ดื่มยาดองที่ใช้ สุราปลอม (เมทานอล) ทำ จนทำให้ เสียชีวิต!! และ ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล นับสิบราย!!… โดยหลังเกิดกรณีนี้ก็มีหน่วยงานเตือนให้เลี่ยงการดื่ม ซึ่งแน่นอนว่ากรณีนี้ “ซุ้มยาดองสั่นสะเทือนแน่!!”…
’ยาดอง“ ล่าสุดก็ ’ถูกมองในแง่ลบ“
’ถูกมองเป็นผู้ร้าย“ เป็น ’อันตราย“
แม้จะเป็น ’หนึ่งในมรดกภูมิปัญญา“
อนึ่ง กับการตรวจสอบเอาผิดต้นตอยาดองใส่เหล้าปลอมที่สร้างอันตรายนั่นก็ว่ากันไป… อย่างไรก็ตาม ถ้าหากจะพิจารณา ’สุราดอง–ยาดอง“ในมุม ’ภูมิปัญญาพื้นบ้าน“ ก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจ ที่วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูล จากที่ได้มีการนำเสนอไว้ใน วารสารมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์และนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ปีที่ 1 ฉบับ 1 ม.ค.-มิ.ย. 2565ผ่านบทความวิชาการชื่อ “ยาดองเหล้าสมุนไพรไทย : Yadong – Thai Herbal Liquor” เขียนโดย ผศ.ณัฏฐิรา กาญจนศิลป์ อาจารย์ และ พงษ์บริพัตร พันธางกูร นักศึกษา สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ซึ่งบทความนี้ฉายภาพที่มา-เรื่องราว ’ยาดองเหล้าสมุนไพรไทย“
ในบทความดังกล่าวได้มีการระบุไว้ว่า… “ยาดอง” ตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายไว้ว่า… ยาที่ใช้เครื่องสมุนไพรห่อแช่เหล้า เพื่อกินบำรุงร่างกายหรือแก้โรค…นี่เป็นความหมายที่มีการระบุไว้ในช่วงเกริ่นนำของบทความเรื่องนี้ โดยผู้เขียนมีการขยายความถึง “ยาดอง” เพิ่มเติมไว้ว่า… การใช้สมุนไพรดองในเหล้ามีมาแต่โบราณ ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน และปรากฏการบริโภคลักษณะนี้ในหลาย ๆ วัฒนธรรม
สำหรับ ประเทศไทย…การบริโภคยาดองก็ได้รับความนิยม เนื่องจากกรรมวิธีทำไม่ยุ่งยาก อีกทั้งยังสามารถหาวัตถุดิบการทำได้ง่ายและราคาไม่แพง จึงเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่นิยมบริโภคเพื่อหวังบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และช่วยบำรุงกำลัง อย่างไรก็ตาม เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน มีการทำยาดองเหล้าจำหน่ายโดยมีการดัดแปลง เช่น นำสัตว์มีพิษต่าง ๆ มาใส่เป็นส่วนผสมเพิ่มเติม ตามความเชื่อว่ามีสรรพคุณ ซึ่งกรณีนี้ก็ทำให้ เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคจากยาดองบางสูตร!!
ทั้งนี้ “ภูมิหลังยาดอง” นั้น ในบทความได้ระบุไว้ว่า… ยาดองแต่เดิมถือเป็นหนึ่งในปัจจัย คือในอดีตเคยมีฐานะเป็นยารักษาโรค ที่กับพระภิกษุสงฆ์ทางญาติโยมก็สามารถนำไปถวายได้ ซึ่งในบริบทนี้ไม่ถือเป็นเครื่องดื่มประเภทสุรา โดยสมัยโบราณยาดองจะทำจากสมุนไพรตากแห้งที่บดเป็นผงและนำมาใส่ลงในเหล้าขาว แต่กรรมวิธีนี้ค่อย ๆ เลือนหายไป โดยปัจจุบันนิยมนำส่วนประกอบสดของต้นไม้ เช่น ราก ก้าน ใบ มาห่อในผ้าขาวและแช่ลงในเหล้า ทิ้งไว้ 30 วันหรือมากกว่า ซึ่งการ ’ดองด้วยเหล้า“เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการ ’สกัดตัวยาจากสมุนไพร“ เหมาะกับสมุนไพรที่มีสารออกฤทธิ์ที่ละลายน้ำได้น้อย
’ตัวเหล้าที่ใช้ในการดองนั้นนอกจากการสกัดตัวยาออกจากสมุนไพรแล้วยังทำหน้าที่กันบูด ยาดองจึงสามารถเก็บได้นานหลายปี ซึ่งตามตำรับของไทยเหล้าที่ใช้มักจะเป็นเหล้าขาว 28-40 ดีกรี หรือถ้าเป็นในต่างประเทศก็มักใช้วอดก้า หรือเอทิลแอลกอฮอล์ หรือบางแห่งอาจใช้น้ำหมักผลไม้ หรือน้ำส้มสายชูก็ได้ แต่จะสกัดตัวยาได้ไม่ดีเท่าเหล้า และอายุการเก็บก็สั้นกว่า“ …นี่เป็นคำอธิบายว่าทำไมต้อง “ดองเหล้า” จนเป็นคำว่า “ยาดองเหล้า”
ขณะที่ “ชื่อชนิดของยาดอง” เรื่องนี้ก็มีแง่มุมน่าสนใจ โดยในบทความดังกล่าวข้างต้นระบุไว้ว่า… ยาดองมักจะตั้งชื่อตามชื่อของสมุนไพรที่นำมาใช้เป็นส่วนผสม ซึ่งจะสอดคล้องกับสรรพคุณบางอย่างที่ได้จากสมุนไพรชนิดนั้น จึงเกิดเป็น “ชื่อชนิดยาดอง” โดยชื่อที่คนคุ้นหูกันถึงทุกวันนี้ ก็มีอาทิ… ’กำลังเสือโคร่ง“ หรือ “พญาเสือโคร่ง” ที่เป็นชื่อจากสมุนไพรชนิดไม้เลื้อยที่คนไทยรู้จักกันว่า…ช่วยบำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย ช่วยให้เจริญอาหาร ขับลมในลำไส้ บำรุงเส้นเอ็น แก้ปวดเมื่อย, “ม้ากระทืบโรง” ที่เป็นสมุนไพรที่รู้จักกันว่า…ช่วยบำรุงกำลังกับกำหนัด แก้ปวดเมื่อย และทำให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์
’โด่ไม่รู้ล้ม“ นี่เป็นชื่อยาดองที่เมื่อได้ยินก็จะนำไปโยงกับเรื่องเพศ เพราะคือหนึ่งในสรรพคุณ ซึ่งนอกจากช่วยเสริมสมรรถภาพทางเพศแล้ว ยังช่วยบำรุงเส้นเอ็นกับกล้ามเนื้อ และช่วยให้รู้สึกกระชุ่ม กระชวย โดยที่มาของ “โด่ไม่รู้ล้ม” มาจากชื่อพืชชนิดหนึ่งที่เมื่อถูกเหยียบหรือทับ ต้นก็จะกลับมาตั้งใหม่ได้เอง, ’กำลังช้างสาร“ มาจากชื่อสมุนไพรชนิดหนึ่งซึ่งมีสรรพคุณช่วยเสริมสมรรถภาพทางเพศ ชะลอความแก่ เพิ่มความแข็งแรงหลอดเลือด และกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนเพศชาย, ’สาวร้อยผัว“ หรือ “รากสามสิบ” เป็นสมุนไพรบำรุงสำหรับสตรี เพราะช่วยกระตุ้นฮอร์โมนเพศหญิง ทำให้คึกคักกระปรี้กระเปร่า
เหล่านี้เป็นข้อมูลโดยสังเขปเกี่ยวกับ ’ยาดองเหล้าสมุนไพร“ ที่มีการศึกษาไว้ในฐานะที่ “เป็นภูมิปัญญาโบราณ” ที่ก็ควรอนุรักษ์โดยสร้างมาตรฐานความปลอดภัย โดยมีตัวบทกฎหมายที่ชัดเจนและบังคับใช้จริงจัง ส่วนผู้จะบริโภคก็ต้องศึกษา ทำความเข้าใจ ใส่ใจความปลอดภัย ที่สำคัญควรรู้ ’ข้อห้าม“ ด้วยว่า ผู้มีโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคตับ สตรีมีครรภ์’ห้ามบริโภคเด็ดขาด!!“ขณะที่ผู้จะทำยาดองก็ยิ่ง ต้องใส่ใจทั้งความถูกต้อง–ความปลอดภัยไม่เช่นนั้นจะซวยได้!!
’ยาดอง“ แม้เป็น “ภูมิปัญญาโบราณ”
แต่ ’ทำเพี้ยน-ทำผิด“ ก็จึง ’อันตราย“
อย่างล่าสุดนั้นก็ ’กลายเป็นผู้ร้าย!!“.